การประชุมระดับโลกเบอร์ลินแสวงหามาตรการเพื่อปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก

Quang Dung
Chia sẻ
(VOVWORLD) - การสนทนาระดับโลกเบอร์ลินหรือ Berlin Global Dialogue จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในระหว่างวันที่ 28-29 กันยายน ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี นี่เป็นเวทีใหม่เพื่อช่วยให้รัฐบาล กลุ่มเศรษฐกิจและองค์การพลเรือนได้หารือและร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การประชุมระดับโลกเบอร์ลินแสวงหามาตรการเพื่อปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก - ảnh 1นาย โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เป็นวิทยากรหลักในการประชุมปีนี้ (VNA)

การสนทนาระดับโลกเบอร์ลินเกิดจากแนวคิดของศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ Lars-Hendrik Roller จากโรงเรียนธุรกิจและเทคโนโลยียุโรปเบอร์ลิน (European School of Management and Technology) หรือ ESMT Berlin และหัวหน้าที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนาง อังเกลา แมร์เคิล อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนี นี่เป็นเวทีระหว่างประเทศใหม่ที่ช่วยสนับสนุนกลไกการสนทนาพหุภาคีในปัจจุบันในสภาวการณ์ที่ปัญหาระดับโลกต่าง ๆ ทำให้เกิดความแตกแยกอย่างหนัก

ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์

ในข้อความที่เปิดเผยก่อนการสนทนาระดับโลกเบอร์ลินครั้งแรก ศาสตราจารย์ Lars-Hendrik Roller  ย้ำว่า โลกกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณของการแตกร้าว ดังนั้น การสนทนาระดับโลกเบอร์ลินจึงเน้นความพยายามใน 3 ประเด็นที่ให้ความสนใจอันดับต้นๆ

หนึ่งคือ การสนทนาระดับโลกเบอร์ลินจะสร้างกรอบการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศในซีกโลกเหนือนซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศที่พัฒนากับประเทศในซีกโลกใต้ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย แอฟริกาและลาตินอเมริกา  อีกทั้งจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างตะวันตกกับตะวันออกตามหลักเกณฑ์ของการสนทนาระดับโลกเบอร์ลิน คือทุกการหารือดำเนินการบนเจตนารมณ์ของความเปิดเผย ความไว้วางใจและความตรงไปตรงมา  อันดับสองคือ การส่งเสริมการเจรจาที่มีความร่วมมือระหว่างผู้นำทางการเมืองกับผู้นำของสถานประกอบการเพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจให้มีความสอดคล้องกันมากขึ้น และประการสุดท้ายคือ การสนทนาระดับโลกเบอร์ลินให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์หุ้นส่วนใหม่ๆเพื่อบรรลุความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมและจริงจัง

นาย โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งเป็นวิทยากรหลักในการประชุมปีนี้ได้แสดงความเห็นว่า โลกหลายขั้วในปัจจุบันต้องมีวิสัยทัศน์ใหม่และมาตรการแก้ไขปัญหาพหุภาคีใหม่  และกรุงเบอร์ลินซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความปรองดองและความสามัคคี เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับเสนอแนวคิดที่สำคัญและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายในปัญหาระดับโลก ก่อนหน้านั้น ในการกล่าวปราศรัยในสัปดาห์ผู้นำของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติหรือ UNGA ครั้งที่ 78 ในระหว่างวันที่ 19-26 กันยนยน ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ นาย โอลาฟ ชอลซ์ ก็ได้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือนี้ โดยเฉพาะในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แน่นอนว่า ประเทศอุตสาหกรรมที่เก่าแก่ต้องมีความรับผิดชอบพิเศษในการรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ก็มีประเทศอื่นๆ ที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันเช่นกัน ดังนั้นแทนที่จะมัวแต่รอ เราทุกคนควรร่วมกันปฏิบัติก่อน”

มุ่งสู่ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่

ที่ประชุมสนทนาระดับโลกเบอร์ลินครั้งแรกนี้จะเน้นหารือถึง 3 ประเด็นหลัก ของ“การปรับเปลี่ยน” โดย 1 คือ การเปลี่ยนผ่านสู่ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่   ซึ่งบรรดาผู้นำทางการเมืองและเศรษฐกิจจะหารือและศึกษาวิธีการปรับเปลี่ยนสู่ระเบียบเศรษฐกิจใหม่ โดยไม่ก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างระบบเศรษฐกิจและระหว่างภูมิภาค ศาสตราจารย์ Lars-Hendrik Roller  แสดงความเห็นว่า เพื่อปฏิบัติเรื่องนี้ ผู้นำของรัฐบาลและสถานประกอบการต้องแสวงหาวิธีการเข้าถึงพร้อมกันเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ ตลอดจนนโยบายด้านต่างประเทศและความมั่นคง

ประเด็นที่ 2 คือ การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ควบคู่กับการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรือง ในประเด็นนี้จะมีการเน้นหารือ 2 ประเด็นที่ถือว่ายากที่สุดคือบทบาทของเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบเศรษฐกิจและการแบ่งปันภาระทางการเงินระหว่างรัฐบาลกับสถานประกอบการในการปรับเปลี่ยนสู่การพัฒนาแห่งสีเขียวและการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

ประเด็นหลักที่ 3 ของการสนทนาระดับโลกเบอร์ลินคือการปรับเปลี่ยนสู่สังคมที่ยุติธรรม  โดยจะมีการหารือถึงวิธีการลดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นในโลก  การสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการทางเศรษฐกิจกับความต้องการทางสังคมและระบบนิเวศ ตลอดจน บทบาทของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเนื่องจากผู้ก่อตั้งการสนทนาระดับโลกเบอร์ลินระบุว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกำลังทำให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับระยะต่างๆในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

การสนทนาระดับโลกเบอร์ลินปีนี้มีผู้ที่มีชื่อเสียงหลายคนเข้าร่วม โดยนอกจากนาย โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีของประเทศเจ้าภาพเยอรมนีแล้ว ผู้นำจากหลายประเทศและองค์กรระหว่างประเทศทั่วโลกยังเข้าร่วมและกล่าวปราศรัยในการประชุมด้วย เช่น นาย ชาร์ลส์ มิเชล ประธานสภายุโรป นาย คัสซิม-โจมาร์ต โตกาเยฟ ประธานาธิบดีคาซัคสถาน นาย รานิล วิกรมสิงเห ประธานาธิบดีศรีลังกา และนาย เอดี รามา นายกรัฐมนตรีแอลเบเนีย เป็นต้น รวมทั้งผู้นำของกลุ่มบริษัทใหญ่ๆหลายแห่งในด้านเทคโนโลยี การเงินและอุตสาหกรรม เช่น Google, BlackRock, Mercedes-Benz, Arcelor Mittal และ Booking ก็เข้าร่วมการประชุมด้วยเช่นกัน

ตามความเห็นของบรรดาผู้สังเกตการณ์ การสนทนาระดับโลกเบอร์ลินเป็นความพยายามก้าวต่อไปของบรรดาผู้นำผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองและเศรษฐกิจของเยอรมนีในการเพิ่มอิทธิพลให้แก่เยอรมนีในการดูแลระเบียบโลกผ่านฟอรั่มพหุภาคีและหลายมิติ ในหลายปีที่ผ่านมา เยอรมนียังเป็นเจ้าภาพจัดฟอรั่มระหว่างประเทศประจำปีที่มีชื่อเสียง เช่น การประชุมความมั่นคงมิวนิกหรือ MSC ที่อภิปรายเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงระดับโลก และการสนทนาการเปลี่ยนแปลงพลังงานเบอร์ลินหรือ BETD.

คำติชม