(VOVworld)- วันที่ 15กรกฎาคม ประธานรัฐสภาศรีลังกา จามาล ราชาปักษา ได้เริ่มการเยือนเวียดนามตามคำเชิญของประธานรัฐสภาเหงวียนซิงหุ่ง การเยือนนี้ไม่เพียงแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างรัฐสภาทั้งสองประเทศเท่านั้นหากยังเป็นการเปิดโอกาสแห่งความร่วมมือใหม่ในหลายด้านระหว่างเวียดนามกับศรีลังกาอีกด้วย
ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างเวียดนามกับศรีลังกามีจุดพิเศษหลายจุด ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่าประธานโฮจิมินห์เคยเดินทางไปศรีลังกาถึง3ครั้งคือเมื่อปี1911-1928-1946 และในกรุงโคลัมโบ ยังมีโรงแรมชื่อ นิว โคโลเนียล ซึ่งเป็นที่พักของท่านในระหว่างการเดินทางไปแสวงหาหนทางกู้ชาติในต่างประเทศ ส่วนประชาชนเวียดนามและศรีลังกาก็มีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจพร้อมทั้งสนับสนุนกระบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประชาชาติของแต่ละประเทศโดยเฉพาะบรรดาผู้นำศรีลังกาสมัยปัจจุบันหลายท่านก็เคยเข้าร่วมการเดินขบวนต่อต้านสงครามในเวียดนามและได้มีการจัดตั้งสมาคมสามัคคีศรีลังกา-เวียดนามเมื่อปี1966 ซึ่งสมาคมนี้ยังคงดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันเพื่อมีส่วนร่วมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ถึงแม้โลกได้ผ่านความผันผวนมามากมายแต่ความสามัคคีระหว่างสองประเทศก็ไม่มีความเปลี่ยนแปลงและสัมพันธไมตรี ความสามัคคีที่ซื่อสัตย์นั้นถือเป็นพื้นฐานที่มั่นคงให้แก่การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในตลอดเวลาที่ผ่านมา รวมไปถึงล่าสุดนี้ การที่เวียดนามได้เปิดสถานทูตประจำกรุงโคลัมโบอีกครั้งเมื่อเดือนเมษายนปี2011และการที่ประธานประเทศเจืองเตินซางได้เดินทางไปเยือนศรีลังกาในเดือนตุลาคมปีเดียวกันก็ได้สร้างพลังชีวิตใหม่ให้แก่การยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นสู่ขั้นสูงใหม่ ในหลายปีมานี้ความร่วมมือระหว่างสองประเทศได้มีก้าวพัฒนาในหลายด้านทั้งการเมืองเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นในขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและฟอรั่มระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งในฐานะเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกร่วมร่างอนุสัญญาเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเล ศรีลังกาให้การสนับสนุนระเบียบการต่างๆเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงและการเดินเรืออย่างเสรีในทะเล แก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธีบนพื้นฐานการให้ความเคารพกฎหมายสากล ศรีลังกาให้การสนับสนุนเวียดนามสมัครเข้าเป็นสมาชิกสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติวาระปี2014-2016
อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศกลับไม่คึกคักมากนักเนื่องจากเหตุปะทะในศรีลังกาที่ยืดเยื้อมาเกือบ30ปีที่เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อเดือนพฤษภาคมปี2009 ซึ่งได้ช่วยฟื้นฟูบรรยากาศที่สงบสุขและเปิดโอกาสที่ยิ่งใหญ่ให้แก่ความร่วมมือในทุกด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจระหว่างเวียดนามกับประเทศที่เต็มไปด้วยศักยภาพนี้ โดยหลังยุคสงครามเศรษฐกิจของศรีลังกาได้มีการขยายตัวร้อยละ8สองปีติดต่อกัน จีดีพีเพิ่มเป็น59พันล้านเหรียญสหรัฐ ศรีลังกามีประชากร20ล้านคนแต่มีตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรคิดเป็นเกือบ3พันเหรียญสหรัฐสะท้อนให้เห็นว่าศรีลังกาคือตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ นอกจากนี้อาจกล่าวได้ว่าศรีลังกาเป็นประตูสำคัญเพื่อช่วยให้สินค้าของเวียดนามเจาะตลาดเอเชียใต้ผ่านข้อตกลงการค้าเสรีที่ศรีลังกาได้ลงนามกับอินเดียและปากิสถาน ซึ่งเป็นตลาดที่มีประชากร1.5พันล้านคนโดยเป็นชนชั้นกลางกว่า500ล้านคน ในขณะเดียวกันประเทศศรีลังกากำลังดำเนินโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจหลังสงครามอย่างเข้มแข็งและในนโยบายพัฒนา ศรีลังกาก็ให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับเวียดนาม โดยมีความประสงค์ให้นักธุรกิจเวียดนามเข้าลงทุนในด้านปีโตรเลี่ยม โทรคมนาคม ผลิตเครื่องจักรและสัตว์น้ำ ควบคู่กับการขยายการลงทุนของตนในตลาดเวียดนามเพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดอาเซียน ตั้งแต่ปี2010มาจนถึงปัจจุบันได้มีคณะผู้ประกอบการใหญ่ของศรีลังกา2คณะเดินทางมาศึกษาตลาดเวียดนามและต่อจากนั้นได้มีการลงนามสัญญาร่วมมือร่วมทุนที่เป็นรูปธรรมในด้านสาธารณสุข สัตว์น้ำ ชา เครื่องจักรด้านการเกษตรและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ทั้งสองประเทศได้พยายามเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคีเป็น1พันล้านเหรียญสหรัฐในเร็วๆนี้ เพราะจากการลงนามข้อตกลงร่วมมือในด้านต่างๆเช่น ข้อตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน การปราบปรามอาชญากรรม วัฒนธรรม การเกษตร บันทึกช่วยจำเกี่ยวกับการทาบทามทางการเมืองระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ หรือบันทึกช่วยจำว่าด้วยความร่วมมือด้านการลงทุนและการศึกษา เป็นต้น เวียดนามและศรีลังกากำลังมีโอกาสที่ยิ่งใหญ่เพื่อขยายความร่วมมือในทุกด้านเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองประเทศ
ความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดีงาม สัมพันธไมตรีที่มีมาช้านานและประเทศศรีลังกาที่สันติภาพและพัฒนาก้าวหน้าหลังสงครามกำลังเป็นเงื่อนไขที่สะดวกเพื่อให้กระทรวง หน่วยงานและสถานประกอบการของทั้งสองประเทศได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งนี้การเยือนเวียดนามของประธานรัฐสภาศรีลังกาจะเปิดโอกาสแห่งความร่วมมือใหม่ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นและจากความตั้งใจของทั้งสองฝ่ายความสัมพันธ์เวียดนาม-ศรีลังกาจะมีพัฒนาการที่สำคัญอย่างแน่นอนในอนาคต./.