ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2024 มูลค่าการค้าต่างตอบแทนระหว่างกัมพูชากับกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP อยู่ที่กว่า 3 หมื่น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ |
ตั้งแต่ที่ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในทุกด้านในภูมิภาคหรือ RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022 นั้นได้สร้างแรงขับเคลื่อนในการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าในระดับภูมิภาค พร้อมนำผลประโยชน์มหาศาลมาให้แก่สมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและ 5 ประเทศหุ้นส่วน ท่ามกลางแนวโน้มการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้นและอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอลงเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับประเทศกัมพูชา ข้อตกลง RCEP ได้เอื้อประโยชน์ทางการค้าและช่วยดึงดูดการลงทุนอย่างมาก ซึ่งมีส่วนช่วยให้ประเทศก้าวสู่การพัฒนาขั้นต่อไปได้เร็วขึ้น และมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกมากขึ้น ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อเร็วๆ นี้ นาย Pen Sovicheat ปลัดกระทรวงและโฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ได้ย้ำว่า
“ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2024 มูลค่าการค้าต่างตอบแทนระหว่างกัมพูชากับกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP อยู่ที่กว่า 3 หมื่น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งผลงานดังกล่าวมาจากการที่กัมพูชาผลักดันการส่งออกสินค้าหลักรายการใหม่บางรายการมากขึ้น เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ยางรถ ผลิตภัณฑ์รองเท้า ไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP”
นาย Pen Sovicheat ปลัดกระทรวงและโฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา (VNA) |
สำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกหลักของกัมพูชา เม็ดมะม่วงหิมพานต์มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับสาม รองจากข้าวและมันสำปะหลัง โดยจนถึงปลายเดือนตุลาคม 2024 ปริมาณการผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของกัมพูชาอยู่ที่ 840,000 ตัน ซึ่งในนั้น 790,000 ตันได้ส่งออกมายังเวียดนาม สร้างรายได้มากกว่า 1 หมื่น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว นอกจากนี้ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ยังค่อยๆ สร้างชื่อเสียงในตลาดจีนอีกด้วย นาย Suy Kokthean รองประธานสมาคมเม็ดมะม่วงหิมพานต์กัมพูชา เผยว่า
“เวียดนามเป็นผู้ส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์รายใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นผู้นำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบอันดับหนึ่งจากกัมพูชา ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องด้วยผลผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบนำเข้าจากกลุ่มประเทศแอฟริกาลดลง ทำให้ผู้ประกอบการเวียดนามต้องสรรหาแหล่งผลิตจากตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะจากประเทศกัมพูชา ในขณะเดียวกัน การบริโภคเม็ดมะม่วงหิมพานต์กัมพูชาในตลาดจีนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเม็ดมะม่วงหิมพานต์บางชนิดของกัมพูชาได้รับความนิยมอย่างมากจากลูกค้าชาวจีน และเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ในตลาดแห่งนี้”
จากความเห็นของนาย Pen Sovicheat ปลัดกระทรวงและโฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ระบุว่า กระทรวงฯ ยังถือผลประโยชน์จากข้อตกลง RCEP เป็นกุญแจสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะนอกจากความสัมพันธ์ทางการค้าแล้ว ในข้อตกลงยังระบุถึงความร่วมมือในด้านอื่นๆ เช่น การสนับสนุนในด้านแรงงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการดึงดูดเงินลงทุน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2024 กัมพูชาได้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศประมาณ 1 หมื่น 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของยอดเงินลงทุนใหม่ทั้งหมด โดยบรรดานักลงทุนต่างชาติชั้นนำในกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นประเทศสมาชิก RCEP เช่น จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และสาธารณรัฐเกาหลี สำหรับโครงการ FDI นั้น ได้มีส่วนช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถของสถานประกอบการภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม พร้อมยกระดับคุณภาพแหล่งบุคลากร ด้วยเป้าหมายคือ เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจกัมพูชาจากที่พึ่งพาการส่งออกวัตถุดิบมาเป็นผู้ผลิตสินค้ากึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูป เพื่อการจำหน่ายสู่ตลาดภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ นาย Pen Sovicheat เผยว่า
“เป้าหมายของพวกเราคือ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติของกัมพูชา เช่น ข้าว มันสำปะหลัง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ รวมถึงสินค้าอื่นๆ ที่ผลิตในประเทศกัมพูชา สู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยลดการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในอนาคต และส่งเสริมการพัฒนาสินค้าที่ผลิตในประเทศกัมพูชามากขึ้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศเข้าใจถึงคุณภาพของสินค้า Made in Cambodia”
ทั้งนี้ ตามมุมมองของบรรดาผู้เชี่ยวชาญหลายคน ข้อตกลง RCEP ถือเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางการค้าของกัมพูชาในระยะยาวอย่างยั่งยืน ซึ่งคาดว่า ข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกฉบับนี้จะช่วยให้ประเทศกัมพูชาสามารถหลุดพ้นจากการเป็น 'ประเทศด้อยพัฒนา' ภายในปี 2028 เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2030 โดยเร็ว./.