งานแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาเวียดนาม: ก้าวสำคัญใหม่ในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเวียดนาม-ไทย

ผู้สื่อข่าวของวีโอวีประจำประเทศไทย
Chia sẻ
(VOVWORLD) - การแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาเวียดนามในระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศของไทยรอบชิงชนะเลิศที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นเวทีที่มีคุณค่าสำหรับนักศึกษาทั่วประเทศไทยที่รักภาษาเวียดนาม ช่วยส่งเสริมการเผยแพร่ภาษาเวียดนามในประเทศไทย และกระชับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเวียดนาม-ไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

งานแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาเวียดนาม: ก้าวสำคัญใหม่ในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเวียดนาม-ไทย - ảnh 1การแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาเวียดนามในระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศของไทยรอบชิงชนะเลิศที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 
 
 

การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การส่งเสริมการเรียนรู้และการใช้ภาษา เป็นสิ่งที่เวียดนามและไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสรรและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางการทูตระดับประชาชน การแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาเวียดนามในระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศของไทยรอบชิงชนะเลิศที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่กรุงเทพ  เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น เป็นเวทีที่มีคุณค่าสำหรับนักศึกษาทั่วประเทศไทยที่รักภาษาเวียดนาม ช่วยส่งเสริมการเผยแพร่ภาษาเวียดนามในประเทศไทย และกระชับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเวียดนาม-ไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ท่านผู้ฟังกำลังรับฟังเสียงกล่าวสุนทรพจน์ภาษาเวียดนามของนักศึกษาที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ คลิปวิดีโอที่ผู้เข้าประกวดได้เผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ค ติ๊กต๊อก ได้แสดงถึงความสามารถด้านภาษาเวียดนามและความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ รวมถึงสถานที่สำคัญที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย เช่น อนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์ และถนนเวียดนามในจังหวัดอุดรธานี
ภายใต้การสนับสนุนจากสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย การแข่งขันครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมายในการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาเวียดนามในประเทศไทยในบริบทของความสัมพันธ์ที่ครอบคลุมทุกด้านระหว่างสองประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างสมบูรณ์ คุณ บุ่ยถิเหว่  อัครราชทูตที่ปรึกษาสถานทูตเวียดนามในประเทศไทย  ได้ชื่นชมความกระตือรือร้นและการเตรียมตัวเป็นอย่างดีของนักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขัน ตั้งแต่การคัดเลือกข้อมูล การทำสคริปต์ การจัดทำภาพและเสียงเพื่อนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและไทยกำลังพัฒนาเป็นอย่างดีในหลายด้านภายใต้ความสัมพันธ์ยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งมากขึ้น การเผยแพร่การเรียนภาษาเวียดนามในประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญต่อการเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างสองประเทศ และเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้นักศึกษาเหล่านี้ ฉันเชื่อว่าผ่านการแข่งขันนี้ นักศึกษาจะไม่เพียงแต่พัฒนาทักษะภาษาเวียดนามเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันอีกด้วย

งานแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาเวียดนาม: ก้าวสำคัญใหม่ในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเวียดนาม-ไทย - ảnh 2นาย ฝ่ามเวียตหุ่ง เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย มอบรางวัลอันดับ 1 ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ด้วยการแนะนำแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่ตลาดจตุจักรของประเทศไทย

ส่วนรองศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี จันทร์เสม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แสดงความยินดีที่มีการจัดการแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาเวียดนามเป็นครั้งแรกสำหรับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย
เราจัดการแข่งขันเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับความงดงามของภาษาเวียดนาม รวมถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยและเวียดนาม กิจกรรมนี้มอบโอกาสอันล้ำค่าให้นักศึกษาได้ฝึกฝนทักษะด้านภาษา เสริมสร้างความเข้าใจวัฒนธรรม และแสดงออกถึงการเคารพซึ่งกันและกัน
การแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาเวียดนามระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักศึกษาของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ เหงวียนถิเจียม อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการจัดการแข่งขัน เผยว่า
“แนวคิดในการจัดการแข่งขันมาจากความต้องการที่จะสร้างเวทีที่มีความหมายและแรงบันดาลใจให้นักศึกษาที่เรียนภาษาเวียดนามทั่วประเทศไทย มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเรียนภาษาเวียดนาม มีสถานที่แสดงผลการเรียนรู้และความสามารถในการพูดภาษาเวียดนามของตน กิจกรรมนี้จัดขึ้นตรงกับวันครูเวียดนาม 20 พฤศจิกายน ซึ่งสามารถใช้เป็นโอกาสแนะนำวัฒนธรรมการเคารพครูบาอาจารย์ของชาวเวียดนามให้กับเพื่อนๆ ชาวไทยและทั่วโลก”
เกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการเรียนภาษาเวียดนาม นางสาว กัญจ์ธิรา เผ่าสังข์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งได้รับรางวัลอันดับ 3 ในการแข่งขันเผยว่า
ฉันเพิ่งเรียนภาษาเวียดนามมา 1 ปี ฉันเรียนภาษาเวียดนามเพราะฉันชอบอาหารเวียดนามมาก และภาษาเวียดนามก็น่าสนใจมาก
ปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมหลายแห่งในประเทศไทยได้มีการแลกเปลี่ยนวิชาการกับเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีโรงเรียนมากกว่า 30 แห่งที่สอนภาษาเวียดนาม การสอนภาษาเวียดนามในระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยตอบสนองความต้องการด้านทรัพยากรบุคคลที่เชี่ยวชาญภาษาเวียดนาม เข้าใจวัฒนธรรมและสังคมเวียดนาม และเปิดโอกาสความร่วมมือระหว่างสองประเทศมากขึ้น และเสริมสร้างมิตรภาพผ่านภาษาเวียดนาม

คำติชม