นาย Agustaviano Sofjan กงสุลใหญ่อินโดนีเซีย ณ นครโฮจิมินห์กล่าวปราศรัยในพิธี |
เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 30 ปีการก่อตั้งภาควิชาอินโดนีเซียศึกษา กลุ่มนักศึกษารุ่นที่ 20, 21 และ 22 ภาควิชาอินโดนีเซียศึกษา ได้ใส่ชุดแต่งกายแบบดั้งเดิมของชาวปาปัวในอินโดนีเซีย เพื่อแสดงการฟ้อนรำ “Mambri” เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา นาง เยืองถิงา ศิษย์เก่ารุ่นที่ 6 ที่กำลังนั่งในห้องโถงร่วมกับแขกรับเชิญราว 300 คน ได้เห็นภาพของตัวเองเมื่อหลายปีก่อนด้วยความซาบซึ้งใจ
“ฉันรู้สึกตื้นตันใจมากเมื่อได้เข้าร่วมงานในวันนี้ ช่วงแรกๆ มีนักศึกษาสมัครเรียนภาควิชาอินโดนีเซียเพียงแค่ประมาณ 10 คนต่อปี แต่ปัจจุบัน ตัวเลขนั้นได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้ฉันได้เห็นว่า ภาควิชานี้ได้มีการพัฒนาเป็นอย่างมากและนักศึกษารุ่นต่อๆ มาก็มีความกระตือรือร้นมากขึ้น ฉันรู้สึกมีความสุขที่ได้ร่วมกับอาจารย์ทุกๆ ท่านหลังจากที่ทุ่มเทพัฒนาภาควิชาอินโดนีเซียศึกษามานานแล้วหลายปี”
ภาควิชาอินโดนีเซียศึกษารับสมัครนักศึกษาเข้าเรียนประมาณ 25 คนต่อปี โดยนักศึกษาจะได้รับความรู้ทั่วไปและในเชิงลึกด้านภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศอินโดนีเซีย ด้วยหลักสูตรที่มีความหลากหลายพร้อมบรรยากาศการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์ จนถึงปัจจุบัน จำนวนผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากภาควิชาอินโดนีเซียศึกษาอยู่ที่กว่า 310 คน ซึ่งกำลังทำงานในหน่วยงานและองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับประเทศอินโดนีเซีย เช่น หน่วยงานด้านการต่างประเทศ สถานีวิทยุและโทรทัศน์ งานด้านบุคลากร งานด้านการประกอบธุรกิจและการตลาด ล่ามและนักแปล มัคคุเทศก์ เป็นต้น อาจารย์ เหงวียนแทงต๊วน หัวหน้าภาควิชาตะวันออกศึกษาและวิชาอินโดนีเซียศึกษา เผยว่า
“นักศึกษาสามารถสื่อสารภาษาอินโดนีเซียได้อย่างคล่องแคล่วภายหลังการเรียน 6 เทอม โดยนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาถึงร้อยละ 75 สามารถหางานทำที่เหมาะสมกับทักษะอาชีพของตน พร้อมตอบสนองความต้องการด้านบุคลากรและมีส่วนร่วมต่อการกระชับความสัมพันธ์มิตรภาพระหว่างเวียดนามกับอินโดนีเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภาควิชาอินโดนีเซียศึกษามีความสำคัญเป็นอย่างมากในด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์”
พิธีฉลองครบรอบ 30 ปีการก่อตั้งภาควิชาอินโดนีเซียศึกษา |
หนึ่งในจุดเด่นของภาควิชาอินโดนีเซียศึกษาคืองานด้านวิเทศสัมพันธ์ ซึ่งมุ่งเป้าไปยังการส่งเสริมกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศต่างๆ กับอินโดนีเซียและประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบัน ภาควิชามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหน่วยงานผู้แทนทางการทูตหลายหน่วยงาน รวมถึงมหาวิทยาลัย สถาบัน และศูนย์วิจัยนานาชาติหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัย Gadjah Mada มหาวิทยาลัย Diponegoro มหาวิทยาลัย Sebelas Maret มหาวิทยาลัยครุศาสตร์อินโดนีเซีย มหาวิทยาลัย Unnes สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาวอินโดนีเซีย สำนักงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติอินโดนีเซียหรือ BRIN โดยทุกๆ ปี มีนักเรียนของภาควิชาอินโดนีเซียศึกษาได้รับทุน Darmasiswa จากรัฐบาลอินโดนีเซีย เพื่อเดินทางไปเรียนภาษาและวัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัยอินโดนีเซียหลายแห่ง สำหรับงานฉลองครบรอบ 30 ปีครั้งนี้ มีแขกรับเชิญจำนวนมากที่เป็นผู้แทนคณะทูตประจำประเทศเวียดนามและผู้เข้าร่วมจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศอินโดนีเซียกว่า 60 คน นาง Maskota Delfi อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัย Andalas และเป็นอาจารย์รับเชิญของภาควิชาอินโดนีเซียศึกษามาแล้วหลายปี ได้แสดงความรู้สึกปลื้มปิติยินดี ว่า
“เนื่องด้วยความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างภาควิชามานุษยวิทยากับภาควิชาอินโดนีเซียศึกษา ทำให้พวกเรามีโอกาสมากมายในการพูดคุยกับคณาจารย์และนักศึกษาหลายคน ฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้ร่วมงานกับภาควิชาอินโดนีเซียศึกษาต่อไปในอนาคต ส่วนภาควิชาอินโดนีเซียศึกษาก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางเพราะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ในแนวทางการเข้าถึงการเรียนการสอน พร้อมคณาจารย์ที่มีคุณภาพและมีความหลงใหลต่อการพัฒนาด้านการศึกษา ฉันเชื่อว่า ภาควิชาอินโดนีเซียศึกษาจะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาทักษะด้านภาษาในนครโฮจิมินห์และภูมิภาค”
นอกจากนี้ การสนับสนุนและความร่วมมือของสถานกงสุลใหญ่อินโดนีเซีย ณ นครโฮจิมินห์ ก็เป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาที่แข็งแกร่งของภาควิชาอินโดนีเซียศึกษา ในการกล่าวปราศรัยในพิธีฉลองครบรอบ 30 ปีการก่อตั้งภาควิชาอินโดนีเซียศึกษา นาย Agustaviano Sofjan กงสุลใหญ่อินโดนีเซีย ณ นครโฮจิมินห์ ได้ย้ำว่า
“งานครั้งนี้ไม่เพียงแค่เป็นงานเฉลิมฉลองเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการอุทิศตนและความมุ่งมั่นของคณาจารย์และบรรดาเจ้าหน้าที่ภาควิชาอินโดนีเซียศึกษาและมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีอินโดนีเซีย-เวียดนามในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ด้วยความพยายามร่วมกันของอาจารย์ นักศึกษา และฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ภาควิชาอินโดนีเซียศึกษาได้สร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ พร้อมเป็นสถานที่เสริมสร้างความรู้และสัมพันธไมตรีอย่างลึกซึ้ง”
ปัจจุบัน ภาควิชาอินโดนีเซียศึกษามีเจ้าหน้าที่รวม 6 คน ประกอบด้วย อาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต 2 คนและอาจารย์สำเร็จการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา 4 คน พร้อมกลุ่มอาจารย์รับเชิญจากหน่วยงานและมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจากอินโดนีเซียหลายแห่ง ซึ่งการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งทั้งในด้านจำนวนนักศึกษา คุณภาพการเรียนการสอน และความสัมพันธ์อันดีงามต่างๆ นั้น ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของภาควิชาอินโดนีเซียศึกษาตามยุคสมัยในการเผยแพร่คุณค่าทางวัฒนธรรมและมีส่วนร่วมต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์มิตรภาพระหว่างทั้งสองประเทศ.