( VOVworld )-ท่าเรือหญ่าโหร่งในนครโฮจิมินห์เป็นโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักเพราะมันผูกพันกับชีวิตการเคลื่อนไหวปฏิวัติของประธานโฮจิมินห์ ก่อนหน้านี้กว่า ๑๐๐ ปี ณ ท่าเรืองแห่งนี้ ประธานโฮจิมินห์ได้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อหาทางกอบกู้เอกราชมาให้แก่ประเทศ ภายหลังใช้ชีวิตในต่างประเทศมาหลายปี ท่านได้กลับประเทศเพื่อนำประชาชนทำการลุกฮือเพื่อปลดปล่อยประชาชาติและกอบกู้เอกราชมาให้แก่ประเทศ ทุกวันนี้ ท่าเรือหญ่าโหร่งได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ย่อยของพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ที่มีนักท่องเที่ยวชาวเวียดนามและชาวต่างชาติมาเที่ยวชมอย่างไม่ขาดสาย
ท่านเรือหญ่าโหร่งยามราตรี
หญ่าโหร่งเป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ฝรั่งเศสหนึ่งแห่งที่ยังหลงเหลือในนครโฮจิมินห์ หากยืนที่ท่าเรือแบกดั่งหรือท่าเรือข้ามฟากถู่เทียมมองไปทางฝั่งตรงข้ามจะมองเห็นอาคารโบราณสไตล์ยุโรปและเอเชียตั้งอยู่อย่างสง่างาม นั่นคืออาคารหญ่าโหร่ง คุณทูเหงวียต ไกด์นำเที่ยวและผู้บรรยายของเขตอนุสรณ์สถานท่าเรือหญ่าโหร่งเปิดเผยว่า “ ชาวฝรั่งเศสก่อสร้างหญ่าโหร่งตั้งแต่กลางปีค.ศ.๑๘๖๒และเสร็จในปลายปีค.ศ.๑๘๖๓ เนื่องจากถูกก่อสร้างโดยชาวฝรั่งเศสดังนั้นจึงมีสถาปัตยกรรมสไตล์ฝรั่งเศส และโดดเด่นโดยเฉพาะหลังคาได้รับการตบแต่งด้วยผลงานประติมากรรมนูนสูงคือ มังกรสองตัวหันหน้าเข้ากันที่ตรงกลางมีพระจันทร์ตามสไตล์เอเชียตะวันออกที่เรียกว่า มังกรชมพระจันทร์ ทั้งนี้เป็นที่มาของชื่อหญ่าโหร่งที่หมายถึงบ้านของมังกร ส่วนท่าเรือที่มีบ้านของมังกรเรียกว่า ท่าเรือหญ่าโหร่ง ”
อาคารหญ่าโหร่งเคยเป็นสำนักงานของเครือบริษัทขนส่งหว่างเด๊หรือจักรพรรดิ ปีค.ศ.๑๙๕๕ ฝรั่งเศสประสบความพ่ายแพ้ในเวียดนาม ท่าเรือพาณิชย์ไซ่ง่อนซึ่งมีหญ่าโหร่งรวมอยู่ด้วยถูกถ่ายโอนให้แก่รัฐบาลสาธารณรัฐเวียดนาม การคงอยู่ของท่าเรือหญ่าโหร่งมากว่า ๑๕๐ ปีผูกพันกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์คือเป็นสถานที่ประธานโฮจิมินห์เดินทางออกนอกประเทศเพื่อหาทางกู้ชาติ คุณหมีแหง ไกด์นำเที่ยวของนครโฮจิมินห์เปิดเผยว่า “ ท่าเรือหญ่าโหร่งเป็นท่าเรือพาณิชย์ใหญ่ของผืนดินไซ่ง่อน-ยาดิ่งในอดีต ณ ท่าเรือแห่งนี้ หนุ่มวันบาหรือประธานโฮจิมินห์ได้เริ่มการเดินทางไปหาเส้นทางกอบกู้เอกราชมาให้แก่ประเทศ ”
เอกสารต่างๆจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
วันที่ ๕ มิถุนายนปีค.ศ.๑๙๑๑ หนุ่มวันบาคือประธานโฮจิมินห์ได้ลงเรืออามีราล ลาตูช เตรวิลของฝรั่งเศสเพื่อเดินทางออกนอกประเทศหาทางกู้ชาติ ท่านได้เดินทางผ่านหลายประเทศในหลายทวีปเป็นเวลา ๓๐ ปี และในปีค.ศ.๑๙๔๑ ท่านได้กลับประเทศโดยใช้ชื่อว่า โฮจิมินห์เพื่อนำขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ วันที่ ๒ กันยายนปีค.ศ.๑๙๔๕ ประธานโฮจิมินห์ได้อ่านปฏิญญาเอกราช ณ จัตุรัสบาดิ่งห์ กรุงฮานอย อันเป็นการกำเนิดสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามและเปิดหน้าใหม่ให้แก่การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประชาชาติเวียดนามจากแอกปกครองของนักล่าเมืองขึ้น เมื่อประเทศได้รับอิสรภาพอย่างสมบูรณ์ในปีค.ศ.๑๙๗๕ อาคารหญ่าโหร่งได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นอนุสรณ์สถานเกี่ยวกับประธานโฮจิมินห์
มุมหนึ่งภายในพิพิธภัณฑ์
ปีค.ศ.๑๙๙๕ อนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์หญ่าโหร่งได้รับการยกสถานะเป็นพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์จากทั้งหมด ๑๑ แห่งทั่วประเทศ โดยมีพื้นที่ ๒๕๐ ตารางเมตรรวม ๓ ห้องจัดแสดงและปัจจุบันได้ขยายพื้นที่เป็น ๑๔๘ ตารางเมตรรวม ๙ ห้องจัดแสดงเอกสารและสิ่งของวัตถุกว่า ๑๑,๓๐๐ ชิ้น และสิ่งของจัดแสดงกลางแจ้งกว่า ๔๕๐ ชิ้น ซึ่งเป็นเอกสารและสิ่งของวัตถุที่หายากและทำให้ผู้เข้าชมเข้าใจชีวประวัติและภารกิจปฏิวัติของประธานโฮจิมินห์ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าแตะยางรถที่ติดตามท่านไปทั่วทุกแห่งหนใน ๕ ทวีปและก้อนอิฐที่เผาให้ความอบอุ่นแก่ท่านยามฤดูหนาวในต่างประเทศ ตลอดจนบันทึกของคณะผู้แทนพรรคประชาชนปฏิวัติลาวที่เขียนไว้ในสมุดเยี่ยมว่า “ ประธานโฮจิมินห์ไม่เพียงแต่เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของเวียดนามเท่านั้น หากยังเป็นผู้นำของพวกเราอีกด้วย ” ส่วนนักท่องเที่ยวจากบัลกาเรียได้เขียนว่า “ เพื่อนมิตรหลายล้านคนในโลกเคารพศรัทธาต่อบุคลลิกอันยิ่งใหญ่ของประธานโฮจิมินห์เพราะท่านเดินทางไปต่างประเทศหลายแห่งหนเพื่อหาทางปลดปล่อยประชาชาติ ชีวิตท่านคือความเสียสละทุกอย่าง ” ส่วนนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษได้เขียนว่า “ โฮจิมินห์คือบุคคลยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งในศตวรรษที่ ๒๐ ” ./.