ผู้ที่มีส่วนร่วมเชื่อมสายสัมพันธ์มิตรภาพไทย-เวียดนาม

Minh Nguyet-Nguyen Yen/VOV5
Chia sẻ
(VOVWORLD) - เรื่องประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวช่วงหนึ่งของลุงโฮในประเทศไทยเหมือนเป็นเรื่องที่ฟ้าได้ “ลิขิต” ให้คุณ สมพร เล็กอุทัยพานิช  ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลป่ามะคาบ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ได้รู้จักและมาผูกพันกับโครงการพิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ จังหวัดพิจิตรตั้งแต่แรกๆเมื่อโครงการนี้ยังเป็นแค่แนวคิดเท่านั้น ด้วยความปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาหาความรู้ พร้อมทั้งเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามในจังหวัด เขาได้ทุ่มเทให้กับงานนี้เป็นอย่างมากโดยร่วมกับทีมงานฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ศึกษาหาข้อมูลและรณรงค์หาแหล่งเงินทุนเพื่อสามารถเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้ภายหลังใช้เวลาดำเนินการมาเกือบ5ปี
ผู้ที่มีส่วนร่วมเชื่อมสายสัมพันธ์มิตรภาพไทย-เวียดนาม - ảnh 1ผู้สื่อข่าวของวีโอวี สัมภาษณ์คุณ สมพร เล็กอุทัยพานิช  ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลป่ามะคาบ ณ กรุงฮานอย

“สิ่งที่วันนั้นผมลืมไม่ได้ก็คือได้เข้าไปจุดธูปเคารพลุงโฮก็ตั้งใจ ตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากลุงโฮว่า ผมทำงานอยู่ที่พื้นที่ตำบลป่ามะคาบของบ้านดง จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ท่านเคยเดินทางไปทำกิจกรรมในพื้นที่ของบ้านดง ผมอยากที่จะนำเรื่องราวนี้เปิดเผยให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วไป ถ้าเป็นไปได้อยากจะสร้างอนุสรณ์สถาน จังหวัดพิจิตรโชคดีที่ลุงโฮได้เดินทางมา ทำให้จังหวัดพิจิตรมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผมก็พูดคุยกับหลายๆคนทั้งที่ผมไม่รู้จักมาก่อนจนได้รู้จักหลายๆฝ่ายและ หลายๆคนมาช่วยเหลืองาน ตอนแรกสิ่งที่ผมบอกว่า ลุงโฮให้มาพบให้มาเจอคนที่เห็นอกเห็นใจในแนวทางร่วมกันหลายๆเรื่อง ทุกคนมาก็พูดให้กำลังใจ ในการทำงานที่บ้านดง ผมได้ร่วมมือกับหลายๆฝ่ายหลายๆคนที่ผมคิดว่า ถ้าไม่ทำเรื่องนี้ ผมจะไม่มีโอกาสพบกับกลุ่มคนนี้.”

ผู้ที่มีส่วนร่วมเชื่อมสายสัมพันธ์มิตรภาพไทย-เวียดนาม - ảnh 2 คุณ สมพร เล็กอุทัยพานิช  ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลป่ามะคาบ

คุณสมพร เล็กอุทัยพานิช ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลป่ามะคาบปีนี้อายุเกือบ 60 รูปร่างสูง หน้ากลมหน้าผากกว้างดูเป็นคนใจบุญ เมื่อพูดคุยกับเราเกี่ยวกับโครงการนี้คุณสมพรได้เปิดใจเกี่ยวกับเรื่องราวตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นที่ลำบากเพื่อขออนุมัติจากทางการท้องถิ่นให้จัดทำโครงการนี้โดยเฉพาะความเข้าใจผิดและความเห็นที่แตกต่างจากหลายฝ่าย “การทำงานตรงนี้มีความยากลำบากมาก ที่จะผ่านพ้นขีดเส้นความคิดตรงนี้ ความคิดคนไทยเราในอดีตที่ผ่านมาคือมีความเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์มาก ขณะที่ผมทำงาน เขารู้ว่าลุงโฮคือคนสังคมนิยม เขาบอกว่า ไปทำทำไม มีช่วงหนึ่งอาจเกิดความไม่เข้าใจระหว่างพี่น้องในพื้นที่  ปี 2558 ถือว่าเป็นช่วงวิกฤตในชีวิตผมจนครั้งนั้น ถึงขนาดว่าตัดสินใจออกจากราชการหยุดพักเลย คิดว่า งานที่เราทำแล้วถูกมองอีกแบบหนึ่ง”

ผู้ที่มีส่วนร่วมเชื่อมสายสัมพันธ์มิตรภาพไทย-เวียดนาม - ảnh 3 คุณ สมพร เล็กอุทัยพานิช  ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลป่ามะคาบ (คนซ้ายมือ) กำลังคุยเกี่ยวกับโครงการฯ 

เมื่อปัญหาตรงนี้ได้รับการแก้ไข อุปสรรคขั้นต่อไปคือการค้นหาและรวบรวมข้อมูลเนื่องจากช่วงเวลาที่ประธานโฮจิมินห์ได้พำนักทำการเคลื่อนไหวที่พิจิตรนั้นไม่นานแล้วต้องอยู่อย่างเงียบๆเป็นความลับด้วยดังนั้นจึงไม่ค่อยมีข้อมูลระบุเรื่องนี้ที่ชัดเจนทำให้การหาหลักฐานและพยานมาพิสูจน์ก็ยาก ซึ่งนอกจากได้ไปค้นหาข้อมูลที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติแล้ว คุณสมพรกับทีมงานยังต้องไปพบปะพูดคุยกับผู้สูงอายุในท้องถิ่นรวมทั้งชาวไทยเชื้อสายเวียดนามรุ่นอาวุโสตลอดจนมีการติดต่อขอความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ในกรุงฮานอย “ผมสอบถามคนเป็นข้าราชการ ครูรับราชการ บางคนอยู่ตรงนั้นถึง 20-30 ปี ถามว่าพอทราบเรื่องราวของลุงโฮที่เดินทางมาจังหวัดพิจิตรบ้างหรือไม่ บางคนบอกไม่รู้เลย ในการประชุมครั้งแรกปี 2555 มีตัวแทนของพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์มายืนยันข้อมูลตรงนั้น ซึ่งถือว่าข้อมูลน่าเชื่อถือระดับหนึ่ง หลังจากนั้นก็มาพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ปี 2556 มาศึกษาดูงานที่พิพิธภัณฑ์ฯและพบเอกสารที่มีการจัดแสดงช่วงที่ประธานโฮจิมินห์มาประเทศไทย มีภาพที่อธิบายว่า มีการบันทึกของลุงโฮเกี่ยวกับช่วงปี 1928-1929 ก็มีคำที่กล่าวถึงพิจิตร อุดรฯ นครพนม แต่ว่าเอกสารที่ยืนยันถึงตรงนี้ในการประชุมคืออดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ ดร. จูดึ๊กติ่ง ได้มอบหนังสือตรงนี้ไว้ว่า จากการศึกษาค้นคว้าแล้ว คำว่า บ้านดงในพิจิตรที่ลุงโฮกล่าวถึงอยู่ที่ตำบลปามะคาบในปัจจุบัน.”

ผู้ที่มีส่วนร่วมเชื่อมสายสัมพันธ์มิตรภาพไทย-เวียดนาม - ảnh 4 พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ 

คุณ สมพร ได้เล่าให้เราฟังว่า การหาข้อมูลและหลักฐานยืนยันนั้นยากอยู่แล้วแต่เรื่องการหาสถานที่เพื่อนำไปสร้างบ้านจำลองตามบ้านที่ท่านประธานโฮจิมินห์เคยอาศัยช่วงที่อยู่ในบ้านดง ต.ป่ามะคาบก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณสมพรบอกว่า “จุดหมายแรกก็ไปศึกษาที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติที่มีการบันทึกภาพเก่าเล่าเรื่องพิจิตร มีบ้านเรือนในยุคก่อนนั้น เห็นว่ามีภาพบันทึกอยู่ ก็นำภาพนั้นมาสอบถามผู้สูงอายุในบริเวณที่ใกล้เคียงบ้านดงว่า สมัยเด็กพอจำได้ไหมหรือว่าจดจำสภาพบ้านดงในสมัยนั้นเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ก็บอกว่า น่าจะเป็นสภาพแบบนี้ ก็เลยคิดว่าเราจะทำอย่างไร เราต้องใช้ไม้เก่าทำเป็นบ้านที่อยู่ในสภาพบ้านเรือนในอดีตที่ลุงโฮเข้าไปอยู่มีลักษณะเป็นแบบไหน”

ผู้ที่มีส่วนร่วมเชื่อมสายสัมพันธ์มิตรภาพไทย-เวียดนาม - ảnh 5 คุณ สมพร เล็กอุทัยพานิช กับทีมโอวีโอ

ภายหลัง5ปีดำเนินโครงการ พื้นที่กว่า6พันตารางเมตรได้รับการลงทุนเพื่อก่อสร้างอาคารห้องแสดงนิทรรศการและบ้านสวนลานหญ้าที่เขียวชอุมด้วยต้นไม้ด้วยงบประมาณเกือบ16ล้านบาท สำหรับคุณสมพร สิ่งที่ถือว่าเป็นความสุขและเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่สำหรับเขาคือแม้ยังไม่มีพิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการแต่ก็มีคนไทยที่รู้ข่าวแล้วเดินทางมาเยี่ยมชมและศึกษาเกี่ยวกับแหล่งประวัติศาสตร์นี้นับวันเพิ่มมากขึ้น “จุดตรงนี้ก็เป็นจุดที่น่าจะมีความสนใจ โดดเด่นในความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม สถานที่ที่มีความสำคัญส่วนหนึ่งของลุงโฮ เป็นเรื่องราวของบ้านดง ลุงโฮที่เขาทำกิจกรรมที่บ้านดง ทำไมลุงโฮทำกิจกรรมที่บ้านดง บ้านดงมีดีอย่างไร บ้านดงในอดีตทำไมชุมชนคนเวียดนามอยู่ตรงนี้ ลุงโฮมาที่นี่อย่างไร สร้างความเชื่อมโยง แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ บ้านดงโฮจิมินห์เข้าไปสู่ชุมชน ให้ชุมชนมีความรู้สึกว่า พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เท่าที่พอศึกษาข้อมูลประธานโฮจิมินห์เรายิ่งมีความศรัทธาท่านในความที่ท่านสมถะ ความเรียบง่าย ความที่มองเห็นประโยชน์ของบ้านเมืองมากกว่าความสุขของตัวเอง”

การดำเนินโครงการพิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ จังหวัดพิจิตร ได้ช่วยให้คุณสมพรมีโอกาสพบปะกับผู้คนหลายๆคนที่มีความคิดเดียวกันและให้การสนับสนุนเขาในการปฏิบัติภารกิจนี้ รวมทั้งได้ช่วยให้เขาปฏิบัติตามความปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมเพื่อเชื่อมสายสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ช่วยให้ชาวไทยและชาวเวียดนามมีความเข้าใจมากขึ้นถึงส่วนหนึ่งที่สำคัญของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างสองประเทศโดยประธานโฮจิมินห์คือหนึ่งในผู้ริเริ่มสร้างสะพานแห่งมิตรภาพนั้น ซึ่งเราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณสมพรและทีมงานจะประสบความสำเร็จดั่งความปรารถนาในภารกิจที่เปี่ยมด้วยความหมายนี้.

คำติชม