ลิ้นจี่ง 20 ตันของอำเภอเตินเอียน จังหวัดบั๊กยาง ส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม (qdnd) |
ใน 4 เดือนแรกของปี 2021 สำนักงานดูแลการนำเข้าและส่งออกทั่วประเทศได้ออกใบรับรองแหล่งที่มาของสินค้าประมาณ 400,000 ใบ รวมมูลค่า 2 หมื่น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่สินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดที่ได้รับสิทธิพิเศษจากข้อตกลงการค้าเสรีฉบับต่างๆ และเพื่อแก้ไขอุปสรรคและสนับสนุนการจำหน่ายสินค้าเกษตรของท้องถิ่นต่างๆ อธิบดีกรมนำเข้าและส่งออกสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ได้ลงนามเอกสารกำชับให้สำนักงานที่ดูแลการนำเข้าและส่งออกในท้องถิ่นต้องอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ในการออกใบ C/O ต่อสินค้าเกษตรส่งออกโดยเฉพาะในท้องถิ่นที่กำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 เช่น จังหวัดบั๊กยางและจังหวัดหายเยืองที่มีผลไม้กำลังเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวและต้องเก็บเกี่ยวในระยะสั้นเช่น ลิ้นจี่
ในขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ได้ประสานงานกับท้องถิ่นและสถานประกอบการในเชิงรุก มีความคิดสร้างสรรค์และมีการปฏิบัติอย่างคล่องตัว ปรับเปลี่ยนการผลิตและแนวทางการประกอบธุรกิจเพื่อผลักดันการจำหน่ายสินค้าเกษตรควบคู่กับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดหายเยือง กระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ได้ประสานงานกับคณะกรรมการประชาชนจังหวัดฯจัดทำแผนการที่เหมาะสมสำหรับการผลิต เก็บเกี่ยวและจำหน่ายสินค้าเกษตรควบคู่กับการรักษาความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ปฏิบัติกิจกรรมส่งเสริมการค้า ผลักดันการเชื่อมโยงและจำหน่ายลิ้นจี่แทงห่าและ สินค้าเกษตรเฉพาะถิ่นผ่านการตลาดอีคอมเมิร์ซ เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการประชาชนจังหวัดหายเยืองได้ประสานงานกับกระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบทและกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์จัดพิธีเปิดสวนเก็บลิ้นจี่ที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่น สหรัฐ ยุโรปและสิงคโปร์ นายเจิ่นยวีดง อธิบดีกรมตลาดภายในประเทศสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์กล่าวว่า “พวกเรากำลังผลักดันการจำหน่ายสินค้าเกษตร แนะนำและสนับสนุนท้องถิ่นและผู้จำหน่ายในการขนส่งสินค้า ซึ่งช่วยให้การขนส่งมีความสะดวกมากขึ้น แม้เกิดการแพร่ระบาดในท้องถิ่นเหล่านี้ก็ตาม ตามแนวทางควบคุมการแพร่ระบาด รักษาให้สินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรไม่ปนเปื้อนเชื้อโควิด -19 เพื่อช่วยให้การจำหน่ายสะดวกมากที่สุด”
ช่วงนี้คือฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรหลายประเภทในเวียดนาม โดยเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ลิ้นจี่งวดแรกรวม 20 ตันของอำเภอ เตินเอียนได้ถูกส่งออกไปยังญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของเวียดนามเพราะว่า การเจาะตลาดที่เข้มงวดเช่น ญี่ปุ่น สินค้าเกษตรต้องได้มาตรฐานที่เข้มงวดทั้งในด้านความปลอดภัยสุขอนามัยและไม่ปนเปื้อนเชื้อโควิด - 19 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม มะม่วงของอำเภอเหมื่องลา จังหวัดเซินลารวม 60 ตันได้ถูกส่งออกไปยังตลาดจีน ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่ายินดีและแสดงความตั้งใจของผู้บริหารกระทรวง หน่วยงาน ท้องถิ่นและเกษตรกร โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่กำลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19
ในการประชุมทางไกลกับผู้บริหารจังหวัดบั๊กย่างเกี่ยวกับมาตรการจำหน่ายลิ้นจี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เหงียนห่งเยียนได้ยืนยันว่า จะสนับสนุนและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ให้แก่เกษตรกรและสถานประกอบการในการจำหน่ายผลผลิตและเชื่อมโยงกันในสภาวการณ์ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 อย่างรุนแรง “เราได้หารือโดยตรงกับสถานทูตประเทศเพื่อนบ้านต่างๆและเจรจากับหุ้นส่วนในประเทศจีน ลาวและกัมพูชาเพื่อส่งออกลิ้นจี่ไปยังตลาดเหล่านี้ ปีนี้ การเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ได้ผลดี จึงต้องให้ความสนใจมากขึ้นต่อการส่งออกเพื่อรักษาความสนใจของลูกค้าเก่าภายในภูมิภาคและให้ความสนใจถึงตลาดภายในประเทศที่มีประชากรเกือบ 100 ล้านคนของเรา”
เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตร กระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบทได้วางแผนการจำหน่ายสินค้าโดยส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือท้องถิ่นในการดูแลการเก็บเกี่ยว การแปรรูปและการเก็บรักษา ซึ่งปัจจุบันนี้ ได้เตรียมความพร้อมในการส่งออกไปยังตลาดจีน สหรัฐ ญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว นาย เจิ่นแทงนาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบทได้เผยว่า “สำนักงานต่างๆ ได้ประสานงานกับกระทรวงฯ เพื่อส่งเสริมการออกใบรับรองความปลอดภัยของผลผลิตเกษตรเพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าเหล่านี้ เน้นชี้นำท้องถิ่น โดยเฉพาะท้องถิ่นที่ผลไม้กำลังเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยว เช่น ลิ้นจี่ ลำใยและแก้วมังกร อีกทั้งต้องประสานกับท้องถิ่นเพื่อหามาตรการผลักดันการจำหน่าย”
การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ได้สร้างความท้าทายต่างๆให้แก่การผลิต การประกอบธุรกิจและการจำหน่ายสินค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศแต่ก็เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและสถานประกอบการแสวงหาวิธีใหม่ๆเพื่อเข้าถึงลูกค้า ในระยะยาว แนวทางนี้จะสร้างคุณค่าและเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเกษตรเวียดนาม การร่วมมือของกระทรวง หน่วยงานและท้องถิ่นได้ช่วยให้สินค้าเกษตรเวียดนามถึงมือของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของแนวทางการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลเวียดนาม.