(VOVworld) - ในปี 2011 ปริมาณการผลิตปลาสวายของเวียดนามได้บรรลุ 1.2 ล้านตัน ซึ่งในนั้นมีการส่งออกกว่า 6 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในปี 2012 นี้ กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อ พยายามส่งออกปลาสวายให้ได้ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
|
ปลาสวายของเวียดนาม Photo Internet
|
ปัจจุบัน เวียดนามได้ส่งออกปลาสวายและปลาบาซาไปยัง 135 ตลาดทั่วโลก โดยมีสหรัฐและอียูเป็นตลาดใหญ่ที่สุดคิดเป็นประมาณร้อยละ 47 ในปี 2011 เวียดนามมีสถานประกอบการส่งออกปลาสวายกว่า 230 แห่ง ส่วนสมาพันธ์แปรรูปและส่งออกสัตว์น้ำเวียดนามหรือ VASEP ได้ประเมินว่า ถึงแม้ในปี 2012 เศรษฐกิจโลกจะประสบความลำบากต่อไปแต่หน่วยงานเพาะเลี้ยงปลาสวายจะยังคงเดินหน้าต่อไปได้เรื่อยๆเพราะว่าในปัจจุบัน ปลาสวายของเวียดนามมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีอาหารโลก รวมทั้งชื่อเสียงก็ได้รับการฟื้นฟูหลังจากที่องค์กร WWF หรือองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลได้รับรองว่า ปลาสวายเป็นสัตว์น้ำที่สามารถเพาะเลี้ยงได้อย่างยั่งยืนและเชิญชวนให้ผู้บริโภคทั่วโลกหันมารับประทานปลาสวายมากยิ่งขึ้น
ตามแผนที่วางไว้ ในปี 2012 นี้ เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงจะพยายามส่งออกปลาสวายได้ประมาณ1.2-1.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.85 – 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ในที่ประชุมของกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เสนอมาตรการต่างๆ เช่น การผลักดันการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนและช่องทางการทูตเพื่อยืนยันว่า ปลาสวายของเวียดนามได้มาตราฐานความปลอดภัยด้านอาหารและมีราคาที่ย่อมเยา นอกจากนี้ ทางสมาพันธ์แปรรูปและส่งออกสัตว์น้ำเวียดนามกำลังพิจารณากำหนดราคาขั้นต่ำในการส่งออกไปยังตลาดหลักๆ พร้อมทั้งจะเป็นฝ่ายรุกในการแก้ไขปัญหาด้านตลาด การกีดกันและการพิพาททางการค้า ยกตัวอย่างเช่น กรณีการฟ้องร้องต่อต้านการขายทุ่นตลาดในสหรัฐและการกำหนดความหมายของคำว่า Catfish ของกระทรวงการเกษตรสหรัฐ ทำการรักษาตลาดเดิมและขยายไปยังตลาดใหม่ ตลอดจนขยายรูปแบบการส่งออกและสินค้าการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกและพัฒนาตลาดภายในประเทศ นาย Nguyen Huu Dung อุปนายกสมาพันธ์แปรรูปและส่งออกสัตว์น้ำเวียดนามกล่าวว่า “ผมคิดว่า ต้องให้ความสนใจต่อความเชื่อมโยงระหว่างขั้นตอนต่างๆในการผลิตเพื่อจะให้การผลิตปลาสวายมีความพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตปลาพันธุ์ อาหาร การเพาะเลี้ยงและการแปรรูป”
|
การแปรรูปปลาสวาย Photo Internet |
แต่อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของตลาดโลก การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารปลาประมาณร้อยละ 5 พร้อมกับการปฏิบัตินโยบายที่รัดกุมในด้านสินเชื่อของรัฐและความผันผวนด้านอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจะส่งผลกระทบในทางลบต่อการประกอบธุรกิจของผู้เพาะเลี้ยงปลาสวายเวียดนาม จึงทำให้ยากที่จะบรรลุเป้าหมายการส่งออก 2 พันล้านเหรียญสหรัฐได้ ดังนั้นในการประชุมสรุปการผลิตและจำหน่ายปลาสวายปี 2011 และปฏิบัติแผนการในปี 2012 เกษตรกรเพาะเลี้ยงปลาสวายและสถานประกอบการได้เรียกร้องให้รัฐบาลควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ร้อนแรงต่างๆ นาย Vo Van Oc เกษตรกรเพาะเลี้ยงปลาสวายในเขต Thot Not นคร Can Tho ได้เผยว่า “
ผมขอเรียกร้องให้รัฐทำการตรวจสอบคัดเลือกสถานประกอบการที่มีความสามารถในการพัฒนา พร้อมทั้งช่วยหาตลาดเพื่อช่วยเหลือผู้เพาะเลี้ยงปลาสวาย ถ้าหากครอบครัวใดอยู่ในเขตเพาะเลี้ยงและมีวิธีการเพาะเลี้ยงที่ดี รัฐก็ควรให้เงินกู้ด้วยดอกเบี้ยพิเศษเพื่อให้พวกเขาสามารถพัฒนาการเพาะเลี้ยงให้ดีที่สุด”
นอกจากความลำบากต่างๆแล้ว ผู้เพาะเลี้ยงปลาสวายของเวียดนามยังต้องรับมือกับปัญหาการขาดแคลนเงินทุน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้เพาะเลี้ยงและสถานประกอบการหลายแห่งตกอยู่ในภาวะลำบากและมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกล้มละลาย ส่วนการให้เงินกู้ในปัจจุบันส่วนใหญ่ต้องขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันแต่ก็สามารถตอบสนองได้ครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการลงทุนเท่านั้น ดังนั้นถ้าหากแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้และธนาคารคิดดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ก็จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตปลาสวายลดลงและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะเอื้อให้แก่การบรรลุเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการส่งออกปลาสวายของเวียดนามเป็น 2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ได้./.