นาย เจิ่นแทงหาย รองอธิบดีกรมนำเข้าและส่งออกสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ (VNA) |
นับตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิกของซีพีทีพีพี เวียดนามได้เป็นฝ่ายรุกในการปรับเปลี่ยนอย่างเข้มแข็ง พยายามยกระดับทั้งในด้านคุณภาพของกลไกและสินค้าเพื่อตอบสนองมาตรฐานที่เข้มงวดของข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งช่วยให้สินค้าเวียดนามนับวันตอบสนองความต้องการของข้อตกลงฉบับนี้มากขึ้น โดยสามารถเห็นได้ชัดผ่านเรื่องที่มูลค่าการส่งออกในปีถัดไปมักจะสูงกว่าปีก่อน
ตามข้อมูลสถิติของสมาคมแปรรูปและส่งออกสัตว์น้ำเวียดนามหรือ VASEP เศรษฐกิจสมาชิกของซีพีทีพีพีหลายแห่งกำลังเป็นตลาดนำเข้าสัตว์น้ำรายใหญ่ของเวียดนาม เช่น ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย ชิลีและเปรู ซึ่งได้สร้างก้าวกระโดดใน 3 ปีที่ผ่านมา นาง เลหั่ง รองผู้อำนวยการศูนย์ VASEP.PRO สังกัด VASEP ประเมินว่า “เวียดนามได้ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 3 ในจำนวนประเทศส่งออกสัตว์น้ำชั้นนำของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สถานประกอบการเวียดนามได้ใช้โอกาสด้านภาษีศุลกากรในการส่งออกเพื่อสร้างงานทำและเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงาน เราพยากรณ์ว่า การส่งออกสัตว์น้ำของเวียดนามจะเพิ่มขึ้นในปีต่อๆไปเพราะว่า อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำภายในประเทศนับวันพัฒนามากขึ้น โดยมีการใช้เทคโนโลยีแปรรูปที่ทันสมัย มีแรงงานฝีมือดีและใช้โอกาสด้านภาษีศุลกากรได้อย่างเต็มที่หลังจากที่เวียดนามเข้าร่วมข้อตกลงอีวีเอฟทีเอ ซีพีทีพีพีและข้อตกลงฉบับอื่นๆ”
ส่วนตามรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์เวียดนาม ในสภาวการณ์ความยากลำบากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 การปฏิบัติข้อตกลงการค้าเสรีฉบับต่างๆ รวมทั้งข้อตกลงเอฟทีเอรุ่นใหม่และมีมาตรฐานสูง เช่น ซีพีทีพีพี ได้มีส่วนร่วมช่วยให้มูลค่าการนำเข้าและส่งออกของเวียดนามในปี 2021 ทำสถิติใหม่คือเกือบ 6 แสน 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นาย เจิ่นแทงหาย รองอธิบดีกรมนำเข้าและส่งออกสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ได้ให้ข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่ที่ข้อตกลงซีพีทีพีพีมีผลบังคับใช้ มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดที่เป็นสมาชิกของซีพีทีพีพีมีการขยายตัวเป็นอย่างดี ซึ่งหมายความว่า สถานประกอบการเวียดนามสามารถใช้โอกาสนี้ได้อย่างเต็มที่ “สำหรับภูมิภาคที่ใช้ข้อตกลงซีพีทีพีพี ในเวลาที่ผ่านมา การขยายตัวน่าประทับใจมาก ซึ่งแตกต่างกับอียูที่เป็นตลาดที่คุ้นเคยของเวียดนามแล้ว หลายประเทศในซีพีทีพีพี โดยเฉพาะบรรดาประเทศในทวีปอเมริกา เช่น แคนาดา เม็กซิโกและเปรูล้วนเป็นตลาดส่งออกใหม่หรือตลาดที่เราส่งออกไปไม่มากนักในอดีต แต่หลังจากที่มีข้อตกลงซีพีทีพีพี การส่งออกของเวียดนามไปยังตลาดเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ในปี 2021 การส่งออกไปยังตลาดแคนาดาได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 18 เม็กซิโกเพิ่มขึ้นร้อยละ 44 และเปรูเพิ่มขึ้นร้อยละ 79 ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า สถานประกอบการเวียดนามสามารถใช้โอกาสจากข้อตกลงการค้าเสรีรุ่นใหม่ โดยเฉพาะข้อตกลงซีพีทีพีพี”
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจหลายคนแสดงความคิดเห็นว่า ข้อตกลงการค้าเสรีรุ่นใหม่ เช่น อีวีเอฟทีเอและซีพีทีพีพีจะเอื้อประโยชน์ในด้านภาษีและดึงดูดการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ช่วยให้สถานประกอบการส่งออกมีความเป็นมืออาชีพในตลาดโลกมากขึ้น ดังนั้น การส่งออกยังได้รับการคาดหวังว่า จะเป็นจุดเด่นของเศรษฐกิจต่อไป ค้ำประกันงานทำให้แก่แรงงานและช่วยเวียดนามเข้าสู่ระบบห่วงโซอุปทานโลกมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อใช้โอกาสจากข้อตกลงซีพีทีพีพีได้อย่างเต็มที่ ทั้งสถานประกอบการและสำนักงานภาครัฐต้องพยายามมากขึ้น โดยเฉพาะในการปฏิรูประเบียบราชการและปรับปรุงระบบกฎหมายให้สอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติสากลตามขั้นตอนที่ซีพีทีพีพีกำหนด นาย เลแองเยือง หัวหน้าคณะกรรมการวิจัยทั่วไปสังกัดสถาบันวิจัยการควบคุมเศรษฐกิจส่วนกลางย้ำว่า “ซีพีทีพีพีดีกว่าข้อตกลงฉบับอื่นๆเพราะว่า มีคำมั่นอย่างเข้มแข็งทั้งในด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ ศุลกากรและกำแพงทางเทคนิก เป็นต้น ซึ่งการที่เวียดนามเข้าร่วมข้อตกลงซีพีทีพีพีก็ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดคือผลประโยชน์ในการปฏิรูประเบียบราชการ ดังนั้น เวียดนามจะทำการปฏิรูปตามข้อตกลงของซีพีทีพีพีแต่ความท้าทายอยู่ที่ การปฏิรูปนี้มักจะเป็นกระบวนการที่ยาวนานและเราไม่สามารถเห็นผลได้ทันที”
เชื่อว่า จากความตระหนักได้ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ สำนักงานภาครัฐและชุมชนสถานประกอบการจะมียุทธศาสตร์และก้าวเดินที่สอดคล้องและมีประสิทธิภาพเพื่อนับวันสามารถใช้โอกาสจากข้อตกลงซีพีทีพีพีและข้อตกลงการค้าเสรีรุ่นใหม่ได้อย่างเต็มที่.