ส่งเสริมมูลค่าของอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของเวียดนามในข้อตกลงการค้า RCEP

Nguyen Long - Vinh Phong - VOV
Chia sẻ
(VOVWORLD) -คาดว่า ข้อตกลงหุ้นส่วนในทุกด้านระดับภูมิภาคหรือ RCEP จะผลักดันการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าในภูมิภาคและโลกอย่างเข้มแข็ง พัฒนาเศรษฐกิจของบรรดาประเทศอาเซียนและประเทศหุ้นส่วน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สถานประกอบการเวียดนามผลักดันการส่งออกและเข้าร่วมห่วงโซ่มูลค่าใหม่ในภูมิภาคและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น
ส่งเสริมมูลค่าของอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของเวียดนามในข้อตกลงการค้า RCEP - ảnh 1

หลังจากที่ข้อตกลง RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติคำมั่นของตน รวมทั้งคำมั่นด้านภาษีศุลกากร โดยเวียดนามและบรรดาประเทศหุ้นส่วนจะยกเลิกภาษีต่อสินค้าประเภทต่างๆอย่างน้อยร้อยละ 64 ทันที หลังจากนั้น 15-20 ปี เวียดนามจะต้องยกเลิกภาษีร้อยละ 85.6-89.6 ส่วนประเทศหุ้นส่วนจะยกเลิกภาษีให้แก่เวียดนามตั้งแต่ร้อยละ 90.7-92 และบรรดาประเทศอาเซียนจะยกเลิกภาษีให้แก่เวียดนามตั้งแต่ร้อยละ 85.9-100 เปอร์เซ็นตì สินค้าบางรายการที่ถูกยกเลิกภาษีทันทีในขณะที่ RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการคือ สินค้าในกลุ่มโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ อุปกรณ์เครื่องจักรกล เครื่องจักร สารเคมีและผลิตภัณฑ์การเกษตร เป็นต้น นาย หวอชี้แถ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจแสดงความคิดเห็นว่า  "RCEP จะเปิดโอกาสในด้านต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว การศึกษา บันเทิง สาธารณสุขและการขายปลีก นี่คือภาคบริการที่มีศักยภาพสูงเนื่องจากชนชั้นกลางนับวันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงวิกฤตโควิด -19 เมื่อนักลงทุนเข้ามาลงทุนพร้อมกับเครื่อข่ายการผลิต ห่วงโซ่มูลค่าและโลจิสติกส์จะเปิดโอกาสให้แก่ทั้งอุตสาหกรรมประกอบและการบริการสนับสนุนเครือข่ายการผลิตและห่วงโซอุปทาน"

สำหรับการเกษตร สัตว์น้ำอาจเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันและอาจเจาะตลาดของหุ้นส่วน RCEP ได้อย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้ คำมั่นเกี่ยวกับการลดภาษีศุลกากรของจีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและบรรดาประเทศอาเซียนถึงร้อยละ 0 เมื่อข้อตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้และกระบวนการปฏิบัติคำมั่นการยกเลิกภาษีศุลกากรสำหรับสัตว์น้ำเวียดนามส่วนใหญ่ของสาธารณรัฐเกาหลีในอีก 10-15 ปีข้างหน้าจะเปิดโอกาสใหม่ให้แก่เวียดนามในการส่งออกไปยังตลาดของบรรดาประเทศสมาชิก RCEP ได้อย่างรวดเร็วและสะดวก จากการใช้หลักการเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างกลมเกลืนในข้อตกลง RCEP สินค้าเพื่อการส่งออกของเวียดนามสามารถตอบสนองเงื่อนไขต่างๆเพื่อรับสิทธิพิเศษในด้านภาษีศุลกากรเนื่องจากแหล่งกำเนิดของวัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากประเทศที่เป็นสมาชิกของ RCEP ซึ่งจะช่วยให้ปริมาณสินค้าเวียดนามที่ส่งไปยังภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น นาง เหงียนถิกวิ่งงา รองอธิบดีกรมการค้าพหุภาคีสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์เผยว่า            "ความแตกต่างของข้อตกลงฉบับนี้คือ แทนที่จะมีข้อตกลงการค้าเสรี 5 ฉบับของอาเซียนกับหุ้นส่วนต่างๆเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งเราต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดถึง 5 แบบเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้เพื่อได้รับสิทธิพิเศษในด้านภาษี แต่ข้อตกลง RCEP ช่วยให้เราทำตามข้อกำหนดเพียงแค่แบบเดียว หมายความว่า ขณะนี้ สถานประกอบการเวียดนามสามารถใช้วัตถุดิบจากทุกประเทศสมาชิกของ RCEP ซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและ 5 ประเทศหุ้นส่วนเพื่อผลิตสินค้าแล้วส่งออกไปยังทุกประเทศสมาชิกของ RCEP ก็จะได้รับสิทธิพิเศษในด้านภาษีศุลกากร"

ส่วนนาง เหงียนถิทูจาง ผู้อำนวยการศุนย์ WTO และการผสมผสาน สังกัดหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนามหรือวีซีซีไอเผยว่า RCEP ไม่เพียงแต่มีความได้เปรียบเกี่ยวกับตลาดที่มีผู้บริโภคถึง 2.2 พันล้านคนเท่านั้น หากยังครอบคลุมห่วงโซ่การผลิตสินค้าส่งออกที่เป็นจุดแข็งส่วนใหญ่ของเวียดนามด้วย ปัจจุบันนี้ เวียดนามกำลังนำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนวัตถุดิบของหน่วยงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีนและสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อ RCEP มีผลบังคับใช้จะเอื้อประโยชน์ในด้านภาษีศุลกากรให้แก่สินค้าส่งออกของเวียดนามและประเทศอื่นๆในข้อตกลงฯ จากหลักการเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดวัตถุดิบภายในกลุ่ม นี่คือความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดระหว่าง RCEP กับข้อตกลงฉบับอื่นๆที่เวียดนามได้ลงนาม  "ประโยชน์ของ RCEP ส่วนใหญ่คือหลักปฏิบัติที่เป็นไปในทางเดียวกันในเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าและภาษีศุลกากร ดังนั้น เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดนี้ได้อย่างเต็มที่ สถานประกอบการต้องเป็นฝ่ายรุกศึกษาหาความรู้เพื่อตอบสนองหลักการนี้ให้ดีที่สุด นอกจากนี้ RCEP อาจช่วยสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งสถานประกอบการเวียดนามไม่เพียงแต่ต้องแข่งขันภายในประเทศเท่านั้น หากยังต้องแข่งขันในตลาดของ RCEP ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันนี้ จีนและญี่ปุ่นยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันแต่การเข้าร่วม RCEP จะช่วยให้ทั้งสองประเทศนี้มีการค้าเสรีร่วมกันและส่งผลให้การแข่งขันของสถานประกอบการเวียดนามในตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น โดยคู่แข่งคือสถานประกอบการจีน ดังนั้น สถานประกอบการเวียดนามต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อสามารถรับโอกาสที่ดีที่สุด"

RCEP จะสร้างแรงกดดันต่อสินค้าเวียดนามเพราะว่า หุ้นส่วนหลายประเทศมีสินค้าที่คล้ายคลึงกับเวียดนามแต่มีขีดความสามารถในการแข่งขันและมูลค่าสูงกว่าสินค้าของเวียดนาม ดังนั้น เพื่อสามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของสถานประกอบการจากประเทศที่มีความได้เปรียบในด้านราคาและความหลากหลาย สถานประกอบการเวียดนามต้องให้ความสนใจต่อการลงทุนด้านเทคโนโลยีและทักษะความสามารถในการบริหารเพื่อยกระดับผลผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน.

Komentar