ดึงดูดการลงทุนและสร้างพลังขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง

Le Phuong - VOV5
Chia sẻ
(VOVWORLD) - บรรดาผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ในครึ่งปีที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจ การผลิตและการประกอบธุรกิจของสถานประกอบการในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงได้มีการเปลี่ยนแปลงที่น่ายินดี โดยสถานประกอบการส่วนใหญ่ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 9 ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวของประเทศ นี่เป็นผลจากความพยายามของจังหวัดต่างๆในการดึงดูดการลงทุนและสร้างพลังขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง
ดึงดูดการลงทุนและสร้างพลังขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง - ảnh 1นายกรัฐมนตรีเหงียนซวนฟุ๊กชื่นชมการปรับปรุงระเบียบราชการและบรรยากาศการลงทุนของทางการนครเกิ่นเทอ (Photo VGP)

 

ตามข้อมูลสถิติของกระทรวงวางแผนและการลงทุน ใน 6 เดือนแรกของปี 2018 เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงมีสถานประกอบการก่อตั้งใหม่ 4,600 แห่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2017 รวมยอดเงินทุนจดทะเบียนเกือบ 45 ล้านล้านด่ง เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 46 ควบคู่กันนั้น 7 จาก 13 จังหวัดและนครของเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง มีโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือเอฟดีไอใหม่ 47 โครงการ รวมยอดเงินทุนจดทะเบียนกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อข้อตกลงหุ้นส่วนในทุกด้านและก้าวหน้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกหรือซีพีทีพีพีมีผลบังคับใช้ก็จะช่วยให้จังหวัดต่างๆในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงดึงดูดนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการเกษตร อุตสาหกรรมแปรูป การผลิตและการท่องเที่ยว เป็นต้น นครเกิ่นเทอซึ่งอยู่ใจกลางของเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง กำลังเน้นพัฒนาด้านโลจิสติกส์ การเกษตรที่มีประสิทธิภาพสูงและเทคโนโลยีสารสนเทศ การเป็นฝ่ายรุกในการเชื่อมโยงและร่วมมือกับท้องถิ่น สถาบันและโรงเรียนในภูมิภาคเพื่อดึงดูดการลงทุนและฝึกอบรมแหล่งบุคลากรที่มีคุณภาพสูง เพื่อผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของนครเกิ่นเทอและเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง นายหวอแถ่งโท้ง ประธานคณะกรรมการนครเกิ่นเทอเผยว่า ปัจจุบันนี้ ทางนครกำลังปฏิบัติมาตรการต่างๆเพื่อปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนและประกอบธุรกิจ โดยเน้นส่งเสริมการค้า อำนวยความสะดวกให้สถานประกอบการประชาสัมพันธ์ เข้าถึงและขยายตลาด ผลักดันการส่งออกและเชื่อมโยงการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศ พร้อมทั้งร่วมมือกับจังหวัดอื่นๆในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อประชาสัมพันธ์ข้าว สัตว์น้ำและผลไม้ต่อสถานประกอบการทั้งภายในและต่างประเทศเพื่อมีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สร้างงานทำและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดเกิ่นเทอและจังหวัดต่างๆในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ในการประชุมส่งเสริมการลงทุนในนครเกิ่นเทอ นายกรัฐมนตรีเหงียนซวนฟุ๊กได้ชื่นชมการปรับปรุงระเบียบราชการและบรรยากาศการลงทุนของทางการนครเกิ่นเทอเพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนมากขึ้น โดยกำชับว่า “หากนักลงทุนไม่เข้ามาลงทุน จังหวัดเกิ่นเทอจะไม่สามารถประสบความสำเร็จเหมือนในวันนี้ได้ บทบาทของนักลงทุน สถานประกอบการ สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยและบรรยากาศการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้น นักลงทุนควรประสานงานกับทางการท้องถิ่นเพื่อพัฒนามากขึ้นและบรรลุวิสัยทัศน์ในทศวรรษต่อๆไป”

อีกจังหวัดหนึ่งที่เป็นจุดเด่นที่น่ายินดีของเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงคือจังหวัดเตี่ยนยาง ซึ่งไม่เพียงแต่มีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์เท่านั้น หากยังเป็นระเบียงเศรษฐกิจระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันตกอีกด้วย โดยใน 6 เดือนแรกของปี 2018 จังหวัดเตี่ยนยางสามารถดึงดูดโครงการลงทุน 18 โครงการ โดยเป็นโครงการลงทุนของต่างชาติ 7 โครงการ

รวมเงินทุนจดทะเบียนกว่า 7 ล้านล้านด่ง จากผลงานที่ได้บรรลุ ขณะนี้ ทางการจังหวัดเตี่ยนยางกำลังปฏิบัติมาตรการต่างๆเพื่อสร้างสรรค์บรรยากาศการลงทุนให้นับวันโปร่งใสและดึงดูดใจมากขึ้น รวมทั้งจัดทำโครงการส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนตามแนวทางให้สิทธิพิเศษต่อสถานประกอบการและโครงการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสูง นายเจิ่นแทงดึ๊ก รองประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดเตี่ยนยางเผยว่า “ในไตรมาสที่ 3 นี้ ทางคณะกรรมการประชาชนจังหวัดจะประกาศแผนการยกระดับดัชนีการปฏิรูปราชการระยะปี 2018-2020 โดยระบุจุดแข็ง จุดอ่อนและวางมาตรการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้การปฏิรูประเบียบราชการถูกต้องตามแผนการและตรงเวลาที่กำหนด ลดขั้นตอนการทำระเบียบราชการให้น้อยลง ผลักดันการบริการออนไลน์และการส่งคำตอบผ่านระบบไปรษณีย์”

ส่วนนายกรัฐมนตรีเหงียนซวนฟุ๊กได้ชื่นชมผลงานที่ได้บรรลุของจังหวัดเตี่ยนยางในเวลาที่ผ่านมา และกล่าวว่าจังหวัดเตี่ยนยางจะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงและเขตตะวันตกภาคใต้ พร้อมทั้งกำชับว่า “เศรษฐกิจของจังหวัดเตี่ยนยางต้องพัฒนาใน 5 เสาหลัก คือการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ผลไม้ปลอดสารพิษ อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสว่ายหราบให้กลายเป็นท่าเรือโลจิสติกส์ของภูมิภาค”

จากความพยายามดึงดูดการลงทุนของจังหวัดและนครต่างๆในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง พร้อมกับการขยายการเชื่อมโยงเพื่อใช้ศักยภาพที่มีอยู่ นี่จะเป็นพลังขับเคลื่อนใหม่ที่ดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้พัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น.

Komentar