ตลาดน้ำก๊ายรัง |
เวลา 6 โมงเช้า คุณ สัญชัย ปลื้มญาติ ช่างภาพของกรมประชาสัมพันธ์ไทยได้ใส่เสื้อชูชีพสีชมพูลงเรือยนต์ที่ท่าเรือ นิงเกี่ยวที่ใจกลางนครเกิ่นเทอเพื่อไปตลาดน้ำก๊ายรัง ดวงอาทิตย์ที่ค่อยๆสาดแสงยามเช้าทำให้บรรยากาศแจ่มใส คุณสัญชัยย้ายไปนั่งที่บริเวณหัวเรือเพื่อถ่ายภาพ ก็เหมือนตลาดน้ำทั่วไปในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ตลาดน้ำก๊ายรังเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการค้าขายของชาวท้องถิ่นตั้งแต่สมัยที่การขนส่งทางบกยังไม่สะดวก แม้ในปัจจุบัน การขนส่งทางบกจะพัฒนามากขึ้นแต่คนท้องถิ่นก็ยังคงนิยมค้าขายที่ตลาดน้ำจนทำให้ตลาดน้ำก๊ายรังนับวันคึกคักมากขึ้นและ สร้างศักยภาพด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้แก่จังหวัดเกิ่นเทอ คุณสัญชัย ปลื้มญาติ ให้ข้อสังเกตุว่า“ตลาดน้ำที่ไทยส่วนมากจะขายริมคลองครับ เป็นคลองเล็กๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้กับวัดครับ แล้วส่วนใหญ่จะขายเป็นขนมของกินหรือผลไม้ จอดนิ่งๆริมตลิ่งครับ ให้คนเดินเลือกซื้อได้บนตลิ่งก็จะมีเป็นที่นั่งให้กินอาหารได้ นั่งพักผ่อน จะไม่ใช่ตลาดที่ขายส่งสินค้าแบบจริงจังเหมือนที่เวียดนามครับ จะเน้นให้นักท่องเที่ยวมาพักผ่อน ตลาดที่นั่นมันพิเศษตรงที่เราได้เห็นความเป็นอยู่จริงๆของคนเกิ่นเทอครับ เป็นวัฒนะธรรมจริงๆที่ทำให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัสได้ แน่นอนว่าเพราะความต่างของตลาดน้ำไทยกับที่นั่นทำให้เห็นความแปลกใหม่ครับ”
ตลาดน้ำก๊ายรังเปิดตั้งแต่เช้าตรู่ถึงเวลาประมาณ 8-9 โมงเช้า สินค้าที่ขายก็มีหลากหลายเต็มลำเรือโดยเรือแต่ละลำจะขายสินค้าประเภทเดียว ซึ่งจะแขวนตัวอย่างสินค้าที่ขายไว้ที่เสาหัวเรือ “ผลไม้ที่พ่อค้าแม่ค้าเอามาขายผมคิดว่าเป็นผลไม้ที่สดดีเพราะนำมาจากสวนและขายให้ลูกค้าโดยตรง ขายไม่แพง และมีความหลากหลายครับ”
คุณสัญชัยย้ายไปนั่งที่บริเวณหัวเรือเพื่อถ่ายภาพ |
ปัจจุบัน มี 70 ครอบครัวที่ค้าขายประจำที่ตลาดน้ำก๊ายรัง ส่วนจำนวนเรือที่มาขายผลไม้และสินค้าที่ตลาดแห่งนี้ในแต่ละวันมีมากถึงนับร้อยลำ ซึ่งเมื่อขายสินค้าหมดก็กลับ นาง ลวาน แม่ค้าคนหนึ่งในตลาดเผยว่า “ดิฉันขายสับปะรดได้หลายร้อยลูกต่อวัน มีรายได้ประมาณ 1-2 ล้านด่ง กำไร 2 แสนด่งต่อวัน การขายผลไม้ที่ตลาดน้ำแบบนี้ยากที่สุดคือต้องรีบขายเพราะมีเวลาจำกัดและมีเรือเยอะ ส่วนลูกค้ามักต่อราคา ทำการค้าขายแบบนี้ลำบากแต่ได้เงินมากกว่าทำการเกษตร ในตอนแรกก็รู้สึกเหงาแต่ตอนนี้ก็คุ้นเคยเพราะเป็นชีวิตประจำวันของเรา”
เมื่อปีที่แล้ว ทางการนครเกิ่นเทอได้อนุมัติร่างโครงการอนุรักษ์และพัฒนาตลาดน้ำก๊ายรังให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของนครผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควบคุมราคาสินค้าให้มีเสถียรภาพ พัฒนาทักษะการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวและความปลอดภัยด้านอาหาร เป็นต้น คุณสัญชัย ปลื้มญาติ ประเมินว่า “การขายของแบบตลาดน้ำที่เวียดนามเป็นการรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนที่นั่นและสิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าได้ประโยชน์ก็มาจากวิถีชีวิตเดิมของตลาด ทำให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยี่ยมชม ซื้อของติดไม้ติดมือและก็ยังสามารถขายของได้แบบเสรีนักท่องเที่ยวที่มาซื้อก็จะได้ทั้งผลไม้ที่สดและปลอดสารพิษครับ”
หลัง 3 ชั่วโมงที่เที่ยวตลาดน้ำก๊ายรัง คุญสัญชัย ปลื้มญาติ ก็สามารถถ่ายภาพได้จำนวนมาก เขาบอกว่า จะเขียนสารคดีเกี่ยวกับตลาดน้ำก๊ายรัง ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนคนไทยที่รู้จักตลาดที่น่าสนใจนี้ของเวียดนามมากขึ้น.