สโมสรร้องเพลงทำนองกาจู่ “ท้ายห่า” มีส่วนร่วมอนุรักษ์ศิลปะการร้องเพลงทำนองพื้นเมือง

Le Phuong - Phuong Khanh
Chia sẻ
(VOVWORLD) - ในคลังวัฒนธรรมดนตรีเวียดนาม การร้องเพลงทำนองกาจู่ถือเป็นศิลปะพื้นบ้านที่เก่าแก่ จากความหลงไหลเพลงกาจู่ สโมสรร้องเพลงทำนองกาจู่ “ท้ายห่า” ของครอบครัวศิลปิน เหงียนวันหมุ่ย ผู้ล่วงลับ ได้พยายามฟื้นฟูเพลงกาจู่โบราณผ่านการแสดงและการสอนให้แก่คนรุ่นหลัง เพื่อมีส่วนร่วมอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าที่เป็นอัตลักษณ์ของผืนแผ่นดินทังลองหรือกรุงฮานอย
สโมสรร้องเพลงทำนองกาจู่ “ท้ายห่า” มีส่วนร่วมอนุรักษ์ศิลปะการร้องเพลงทำนองพื้นเมือง - ảnh 1นักร้องหญิง ทวี้ฮวาและศิลปินยอดเยี่ยม เหงียนวันเคว
 
 

 ภายในศูนย์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมพื้นเมืองของกรุงฮานอย เลขที่ 50 ถนนด่าวยวีตือ เขตหว่านเกี๊ยม กรุงฮานอยที่มีการตกแต่งบรรยากาศแนวคลาสสิก บรรดาศิลปินของสโมสรร้องเพลงทำนองกาจู่ “ท้ายห่า” ที่ใส่ชุดเสื้อยาวพื้นเมืองกำลังแสดงร้องเพลงกาจู่โบราณ ซึ่งเป็นศิลปะพื้นเมืองของภาคเหนือเวียดนาม ได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมวัยรุ่นหลายคนเป็นอย่างมาก

“ฉันเคยดูการร้องเพลงทำนองกาจู่ทางทีวีแล้ว แต่เมื่อได้ฟังสดก็รู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในบรรยากาศของเพลงกาจู่จริง ๆ ซึ่งแตกต่างจากการดูทางทีวี”

“ศิลปินทุกคนจะนั่งแสดงบนเสื่อ โดยใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองเท่านั้น ช่วยให้ผมรู้สึกเหมือนกำลังย้อนกลับไปสู่สมัยโบราณ”

สโมสรร้องเพลงทำนองกาจู่ “ท้ายห่า” ได้รับการก่อตั้งเมื่อปี 1993 โดยศิลปินเหงียนวันหมุ่ย (1930 - 2019) ซึ่งเป็นมือกลองฝีมือเยี่ยมของผืนแผ่นดินทังลองเป็นผู้ก่อตั้ง ปัจจุบัน สโมสรอยู่ภายใต้การดูแลของศิลปินยอดเยี่ยม เหงียนวันเคว ลูกชายของศิลปิน เหงียนวันหมุ่น จากความหลงไหลเพลงกาจู่ที่ได้รับการสืบทอดจากคนในครอบครัว นาย เคว ได้ทำอาชีพนี้มาตลอด 60 ปี โดยสร้างชื่อเสียงในการเล่นพิณ “ได๊” ซึ่งเป็นพิณ 3 สายโบราณที่ใช้ในการแสดงกาจู่ นอกจากนายเควแล้ว ในสโมสรยังมีนักร้องหญิง ทวี้ฮวาและมือกลอง แม่งเตียน โดยนักร้องหญิง ทวี้ฮวา สมาชิกเป็นรุ่นที่ 6 ของครอบครัว เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมจากการร้องเพลง “ด่าวโห่ง ด่าวเตวี๊ยด”

สโมสรร้องเพลงทำนองกาจู่ “ท้ายห่า” มีส่วนร่วมอนุรักษ์ศิลปะการร้องเพลงทำนองพื้นเมือง - ảnh 2สโมสรร้องเพลงทำนองกาจู่ “ท้ายห่า” แสดงในฝรั่งเศส

สโมสร “ท้ายห่า” มีความแตกต่างกับสโมสรร้องเพลงทำนองกาจู่อื่นๆ คือ เน้นการแสดงของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งตามประเพณีของสโมสรฯ มือกลองและผู้เล่นพิณจะเป็นพ่อหรือพี่ชาย ส่วนลูกสาวหรือน้องสาวจะเป็นนักร้อง เรื่องพิเศษนี้ได้ช่วยสร้างความผูกพันใกล้ชิดให้กับสมาชิกในวง นักร้องหญิง ทวี้ฮวา กล่าวว่า

“เราเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน จึงมีความเข้าใจกันมาก บางทีเราลืมเนื้อร้องแต่ก็นึกออกได้ทันทีเมื่อได้ยินเสียงพิณ เพราะเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน เราจึงสามารถฝึกได้บ่อยๆ ไม่ใช่แค่ฝึกในห้องฝึกของสโมสรเท่านั้น หากยังสามารถฝึกในมื้ออาหารได้ด้วย”

ในหลายปีที่ผ่านมา ทางสโมสรฯ ได้ทำการแสดงที่พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์เวียดนาม โรงละครใหญ่ฮานอยและสถานที่ต่างๆ ในย่านถนนโบราณ 36 สายในกรุงฮานอยเพื่อแนะนำศิลปะนี้ให้แก่สาธารณชน ซึ่งไม่เพียงแต่มีส่วนร่วมธำรงประเพณีของครอบครัวเท่านั้น หากยังช่วยอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะนี้อีกด้วย ศิลปินยอดเยี่ยม เหงียนวันเคว กล่าวว่า

“สโมสรฯ ได้ประสานงานกับสำนักงานวัฒนธรรมกรุงฮานอยและสถาบันดนตรีเวียดนามสอนการร้องเพลงกาจู่ให้แก่ผู้ชื่นชอบและทำการประชาสัมพันธ์ศิลปะนี้ ในแต่ละปี สำนักงานวัฒนธรรมกรุงฮานอยจะจัดเวลาให้ 30 วันแก่ทางสโมสรฯ เพื่อยกระดับทักษะความสามารถในการร้องเพลงทำนองกาจู่ให้แก่เพื่อนร่วมงานในกรุงฮานอย เช่น ในหมู่บ้าน ช้านทน หงายเก่าและเถืองโหม โดยเฉพาะช่วยให้เพื่อนร่วมงานสามารถร้องเพลงทำนองกาจู่โบราณที่เคยสูญหายไป”

ในท้องถิ่นแต่ละแห่ง ทางสโมสรมักจะจัดชั้นเรียน 2 ชั้น ตามระดับขั้นพื้นฐานและขั้นสูง ในแต่ละชั้น จะมีสมาชิก 10-12 คน อายุตั้งแต่ 12-70 ปี ควบคู่กับการสอนเล่นดนตรีและร้องเพลงทำนองกาจู่แล้ว ทางสโมสรฯ ยังสอนประวัติศาสตร์ของกาจู่ให้แก่ผู้เรียนอีกด้วย

นอกจากการแสดงภายในประเทศแล้ว สโมสร “ท้ายหา” ยังเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในต่างประเทศด้วย เช่น อิตาลี ญี่ปุ่น จีนและเข้าร่วมงานมหกรรมดนตรีนานาชาติที่ฝรั่งเศสเมื่อปี 2014 ปัจจุบันนี้ ทางสโมสรฯ กำลังอนุรักษ์เพลงทำนองกาจู่ได้กว่า 30 บทและมีคลังเก็บรักษาผลงานเพลงกาจู่โบราณที่ร้องโดยศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งในตระกูลและนอกตระกูล ซึ่งถือเป็นมรดกอันล้ำค่าของสโมสรฯ มีส่วนร่วมต่อการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะการร้องเพลงกาจู่ของเวียดนาม.

Komentar