ภาษามือกับการเข้าถึงการศึกษาของคนหูหนวกในเวียดนาม

Minh Lý
Chia sẻ
(VOVWORLD) - ปัจจุบัน เวียดนามมีผู้บกพร่องทางการได้ยินเกือบ 9 แสนคน โดยพบในเด็กแรกคลอดจำนวน 2 ต่อ 1,000คน สำหรับคนหูหนวกนั้น ต้องใช้ภาษามือในการสื่อสาร ซึ่งการใช้ภาษามือและการเข้าถึงการศึกษาของคนหูหนวกในเวียดนามเป็นอย่างไร ในรายการสารคดีของเราวันนี้ ขอเชิญคุณผู้ฟังศึกษาเกี่ยวกับปัญหานี้ผ่านบทความเรื่องภาษามือกับการเข้าถึงการศึกษาของคนหูหนวกในเวียดนาม”
ภาษามือกับการเข้าถึงการศึกษาของคนหูหนวกในเวียดนาม - ảnh 1 คุณอานมี (กลาง) เข้าร่วมกิจกรรมของคนหูหนวก ณ กรุงฮานอย

“ตอนหนูเรียนชั้นอนุบาล คุณครูและเพื่อนๆมักจะพูดกับหนู หนูถูกเพื่อนล้อโดยเรียกว่า คนหูหนวก ตอนย้ายไปเรียนชั้นประถมศึกษา ครูก็บังคับให้หนูต้องหัดพูด แต่หนูไม่ได้ยิน มีแต่เขียนบทเรียนจากหนังสือตำราเรียนเท่านั้น  ต่อมา หนูถูกย้ายไปเรียนที่ศูนย์สงเคราะห์เด็กพิการ ซึ่งก็ไม่มีอะไรแตกต่าง ทุกคนใช้ภาษาพูดเป็นหลัก ไม่มีใครใช้ภาษามือเลย”

“หนูใช้ชีวิตวัยเด็กกับครอบครัว โดยสมาชิกในครอบครัวมักจะบอกกับหนูว่า อย่าใช้ภาษามือ คนเป็นใบ้ต้องหัดพูด ซึ่งหนูได้พยายามหัดพูดเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่เป็นผล จนทำให้หนูต้องประสบกับอุปสรรคในการสื่อสารกับคนอื่น”

“ตอนหนูไปเรียนในโรงเรียนธรรมดา หนูถูกเพื่อนล้อ ซึ่งหนูหวังว่า จะได้ไปโรงเรียนที่ใช้ภาษามือเพื่อสามารถสื่อสารกับเพื่อนๆได้และช่วยให้หนูมีผลการเรียนดีขึ้น”

นี่คือปัญหาที่คุณ อานมี เงินห่าและวันฮึงต้องเผชิญในวัยเป็นเด็ก เมื่อ 10 – 15 ปีก่อน เมื่อครอบครัว เพื่อนๆและคุณครูไม่เข้าใจความต้องการของพวกเขาและบังคับให้พวกเขาต้องหัดพูดในขณะที่ลักษณะการสื่อสารของพวกเขาจะเป็นการรับรู้ด้วยสายตาและพูดด้วยภาษามือ นาย เหงวียนซวนเฟือง รองประธานสมาคมเพื่อการศึกษาให้แก่ประชาชนเวียดนามทุกคนได้เผยว่า“ในสังคมปัจจุบัน  ยังมีผู้ปกครองจำนวนหนึ่งที่มีความคิดหัวโบราณว่า ต้องหาทางแก้ไขความบกพร่องทางการได้ยินให้แก่ลูกเพื่อให้สามารถพูดเหมือนคนธรรมดาได้ แต่วิธีการดังกล่าวต้องใช้เวลานานและขาดประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จากการวิจัยเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวันของคนหูหนวกในหลายปีมานี้ แสดงให้เห็นว่า สำหรับคนหูหนวกนั้น จำเป็นต้องใช้สายตารับรู้และใช้มือในการสื่อสาร ในการพบปะหรือเดินทางไปต่างประเทศกับคนหูหนวก เราก็เห็นว่า แม้จะอยู่ที่เวียดนาม ที่ฟิลิปปินส์ หรือ มองโกเลีย คนหูหนวกก็สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ผ่านภาษามือ”

ภาษามือกับการเข้าถึงการศึกษาของคนหูหนวกในเวียดนาม - ảnh 2ภาพนาย เหงวียนซวนเฟือง รองประธานสมาคมเพื่อการศึกษาให้แก่ประชาชนเวียดนามทุกคนในกิจกรรมของคนหูหนวก 

จากการตระหนักถึงความต้องการใช้ภาษามือเพื่อการสื่อสารของคนหูหนวกตั้งแต่ปี 2000  เวียดนามเริ่มปฏิบัติโครงการปรับปรุงและพัฒนารูปแบบสัญลักษณ์ภาษามือ ส่งเสริมการจัดตั้งสโมสรต่างๆเพื่อสอนภาษามือ อีกทั้งมีการพิมพ์จำหน่ายเอกสารต่างๆสำหรับคนหูหนวก เช่น “รูปแบบสัญลักษณ์ภาษามือเวียดนาม”และ “พจนานุกรมภาษามือเวียดนาม” นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์การใช้ภาษามือในชมรมคนหูหนวกก็ได้รับการผลักดัน จึงมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงแนวความคิดของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นคนหูหนวก เช่น คุณโต๊งถิงา อายุ 32 ปี สมาชิกสมาคมพ่อแม่ที่มีลูกหูหนวก โดยครอบครัวคุณงาได้ย้ายจากจังหวัดนามดิ่งมาอยู่ที่กรุงฮานอยเป็นเวลากว่า 4 ปีเพื่อให้บุตรชาย อายุ 7 ขวบได้ไปเรียนที่โรงเรียนประถมศึกษาเอกชนสำหรับเด็กหูหนวกเยินจิ๊ง

“ในครอบครัว ดิฉันกับลูกจะใช้ภาษามือเพื่อสื่อสารและสอนลูก ในต่างจังหวัด ไม่มีโรงเรียนสอนภาษามือ ซึ่งทำให้เด็กหูหนวกส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือเพราะถึงแม้ได้ไปโรงเรียน สามารถเขียนได้ แต่ก็ไม่เข้าใจอะไรเลย”

ภาษามือกับการเข้าถึงการศึกษาของคนหูหนวกในเวียดนาม - ảnh 3คุณงาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน 

คุณงาได้ลาออกจากการเป็นครูในโรงเรียนประถมศึกษาที่มีเงินเดือน 7 ล้านด่งในจังหวัดนามดิ่ง เพื่อย้ายครอบครัวมาอยู่ที่กรุงฮานอย ซึ่งเธอต้องทำงานรับเย็บผ้าที่บ้านด้วยค่าจ้างประมาณ 5 ล้านด่งเพื่อดูแลครอบครัวและใช้เวลาเรียนภาษามือ

"การเรียนภาษามือต้องใช้เวลาหลายเดือนเพื่อสามารถทำการสื่อสารได้ แต่ถ้าต้องการสื่อสารกับคนหูหนวกได้ในเชิงลึก ก็ต้องใช้เวลาฝึกนานขึ้นไปอีก ดิฉันเรียนภาษามือมากว่า ๒ปีแล้วและใช้ภาษามือเพื่อสื่อสารและสอนให้ลูกรู้จักสิ่งต่างๆรอบตัวเหมือนการสอนเด็กธรรมดา"

ส่วนคุณเหงวียนวันเดี่ยว อยู่กรุงฮานอยมีลูกสาวอายุ ๔ ขวบที่เป็นคนหูหนวกได้กล่าวว่า"ในช่วงแรกๆที่รู้ว่า ลูกสาวมีความบกพร่องทางการได้ยิน เราก็รู้สึกเศร้าและตกใจมาก แต่หลังจากนั้น ได้หาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านการใช้ภาษามือ ซึ่งช่วยให้เราสามารถสื่อสารกับลูกและสามารถหลุดจากปัญหาทางจิตใจของตนเองได้"

ภาษามือกับการเข้าถึงการศึกษาของคนหูหนวกในเวียดนาม - ảnh 4คำขวัญของคนหูหนวก 

ปัจจุบัน ในกรุงฮานอย มีโรงเรียน ๕ แห่งทั้งของภาครัฐและเอกชนที่เปิดสอนหนังสือให้แก่คนหูหนวกตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย นาย ฝ่ามวันฮวาน 
ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นสาด่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนของรัฐที่เปิดสอนหนังสือให้แก่เด็กหูหนวกในกรุงฮานอยได้เผยว่า  "ทางโรงเรียนเปิดรับสมัครเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงม. 3 มีทั้งหมด ๒๗ ชั้นเรียนและมีการใช้ภาษามือในการเรียนการสอน ส่วนครูที่สอนเด็กหูหนวกนั้นล้วนเป็นครูที่สามารถใช้ภาษามือได้"
นอกเหนือจากกรุงฮานอย นครโฮจิมินห์และจังหวัดด่งนายก็ถือเป็นศูนย์กลางฝึกอมรมระดับอุดมศึกษาให้แก่คนหูหนวกในเวียดนาม ซึ่งปัจจุบัน เวียดนามมีนักศึกษาที่เป็นคนหูหนวก ๑๘ คนที่จบจากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยครุศาสตร์

แผนประสานงานระหว่างสมาคมเพื่อการศึกษาสำหรับประชาชนเวียดนามทุกคนกับสมาคมคนหูหนวกฮานอยในการส่งเสริมนโยบายช่วยเหลือด้านการศึกษาให้แก่คนหูหนวกระยะปี 2016-2018ระบุว่า ตั้งแต่บัดนี้จนถึงปลายปี 2018 ต้องจัดทำและยื่นข้อเสนอในการรับสมัครครูที่เป็นคนหูหนวก ผลักดันการใช้และพัฒนาภาษามือและจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารสำหรับคนหูหนวก.

Komentar