สวนองุ่นดำไร้เมล็ดNH04-102ของครอบครัวนาย เหงวียนดิ่งจี๊ (baodantoc.vn) |
ช่วงนี้ สวนองุ่นดำไร้เมล็ด NH04-102 ของครอบครัวนาย เหงวียนดิ่งจี๊ ในหมู่บ้านดั๊กเยิน ตำบลเยินเซิน อำเภอนิงเซิน จังหวัดนิงถวน กำลังอยู่ในฤดูเก็บเกี่ยวหลังจากตัดแต่งกิ่งและรูดใบมาเป็นเวลา 4 เดือน นาย เหงวียนดิ่งจี๊ ได้เผยว่า
“สถาบันวิจัยฝ้ายและพัฒนาเกษตรยาโหได้ส่งเจ้าหน้าที่มาแนะนำวิธีการตัดแต่งกิ่งและรูดใบเพื่อให้เกษตรกรปฏิบัติตาม”
เมื่อปี 2022 สถาบันวิจัยฝ้ายและพัฒนาเกษตรยาโหสังกัดสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การเกษตรเวียดนามได้ประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์องุ่นดำไร้เมล็ด NH04-102 ซึ่งมีผลสีดําสนิททรงเรียวคล้ายนิ้วมือและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง การทดลองปลูกองุ่นดำไร้เมล็ด NH04-102 ที่อำเภอนิงเซิน นิงเฟือก นิงหายและเมืองฟานราง-ท้าปจ่ามได้ประสบผลที่น่ายินดี โดยสามารถปลูกได้ในดินหลากหลายประเภท ต้านทานแมลงศัตรูพืชหลายชนิดและได้ผลผลิตสูง องุ่นมีเปลือกผลหนา เนื้อแน่น กรอบ รสชาติหวานอร่อย ดร.ฟานกงเกียน รองหัวหน้าสถาบันวิจัยฝ้ายและพัฒนาเกษตรยาโห ได้เผยว่า
“องุ่นดำไร้เมล็ด NH04-102 มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยมีค่าดัชนีความหวานประมาณ 16-20 บริกส์”
สวนองุ่นดำไร้เมล็ด NH04-102 ในจังหวัดนิงถวนกำลังดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวและเกษตรกรที่อยากเรียนรู้ประสบการณ์ในการปลูกองุ่นพันธุ์นี้ คุณ เหงวียนถิเลียน นักท่องเที่ยวจากจังหวัดกว๋างจิ ได้เผยว่า
“ดิฉันชอบองุ่นดำไร้เมล็ด NH04-102 เพราะกินง่าย หวานและกรอบ ดิฉันรู้สึกดีใจมากที่นักวิทยาศาสตร์ได้ประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์องุ่นดำไร้เมล็ด NH04-102”
นักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมสวนองุ่นดำไร้เมล็ดNH04-102 (baodantoc.vn) |
องุ่นดำไร้เมล็ด NH04-102 ให้ผลปีละ 2 ครั้ง ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 18-25 ตันต่อเฮกตาร์ต่อครั้ง ราคาองุ่นที่สวนประมาณ 10-12 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ซึ่งสร้างรายได้กว่า 1 แสน 7 หมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อเฮกตาร์ต่อปี นาย เจิ่นก๊วกนาม ประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดนิงถวน ได้เผยว่า
“ทางจังหวัดนิงถวนพยายามพัฒนาพันธุ์องุ่นที่มีคุณภาพสูงและได้มาตรฐานการส่งออก อีกทั้งพัฒนาแบรนด์องุ่นนิงถวนต่อไปและประกาศนโยบายช่วยเหลือผู้ปลูกองุ่น”
ปัจจุบัน จังหวัดนิงถวนได้ประกาศนโยบายสนับสนุนการพัฒนาองุ่น เช่น มติที่ 37 เกี่ยวกับการช่วยเหลือเงิน 5-6 พันดอลลาร์สหรัฐต่อเฮกตาร์ให้แก่ครอบครัวที่ปลูกองุ่นและมติที่ 06 เกี่ยวกับการช่วยเหลือเงินกว่า 3 แสนดอลลาร์สหรัฐให้แก่โครงการปลูกองุ่นที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของสถานประกอบการและสหกรณ์ในท้องถิ่น อีกทั้งขยายเขตปลูกองุ่นตามมาตรฐาน VietGAP สนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างผู้ปลูกองุ่นกับสถานประกอบการ การถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิต การเก็บรักษา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายควบคู่กับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ.