มอบสร้อยลูกปัดให้แขกที่มาเยี่ยมบ้าน(VOV)
|
ตามความเชื่อของชาวเกอฮอลูกปัดหินโมราสะท้อนสถานะและอิทธิพลของครอบครัวในสังคม ยิ่งมีเยอะยิ่งเป็นคนมีฐานะ และไม่ว่าจะมีแค่ไม่กี่เม็ดหรือมีเป็นร้อยเป็นล้านเม็ด ทุกครอบครัวชนเผ่าเกอฮอจะต้องมีสร้อยลูกปัดเป็นสมบัติในบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน เลียง ฮอต ฮา บรึง ที่หมู่บ้าน ดาเดิ่น ตำบลเลียนฮา อำเภอเลิมฮา จังหวัดเลิมด่งเผยว่า ในสมัยก่อนชาวเผ่าจามได้นำลูกปัดโมราไปเเลกกับสินค้าของชาวบ้านในเขตเขา ดังนั้น ลูกปัดโมราจึงเปรียบเสมือนเป็นเงินตราเพื่อซื้อขายและดูจากจำนวนลูกปัดที่มีสีเดียวกันในสร้อยแต่ละเส้นก็จะรู้ฐานะของผู้ถือลูกปัด
ปัจจุบัน ลูกปัดที่ใช้ทั่วไปไม่ได้ทำจากหินโมราหากทำจากพลาสติกหรือแก้วกระจกแต่ยังคงมีสีเหมือนเดิมแบ่งเป็นห้าโทนสีหลักคือ สีขาวเป็นตัวแทนของน้ำ สีดำเป็นตัวแทนของดิน สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความปรารถนาและความใฝ่ฝัน สีเหลืองคือสีของแสงสว่างและสีฟ้าเป็นสีของท้องฟ้า ทั้งห้าสีนี้ผสมเข้ากันอย่างกลมกลืนเป็นสัญลักษณ์ของการที่มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ "ลูกปัดนั้นมีหลายขนาดและมีประมาณสี่ถึงห้าประเภท เช่น ลูกปัด Kĕ ลูกปัด Gur Mang ลูกปัด Pôp ลูกปัด Tăp Jơ Lang เป็นต้น โดยลูกปัด Gur Mang นั้นมีค่าที่สุดเพราะเป็นประเภทลูกปัดสร้อยคอที่เทียบคุณค่าเท่ากับ เจียงแม ซึ่งเป็นฆ้องใบใหญ่ที่สุดในฆ้องชุดของชุมชนผ่าเกอฮอ ดังนั้น ใครมีสร้อยคอลูกปัดแบบนี้ก็ถือว่าเป็นคนที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ"
ลูกหลานไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ก็จะมอบลูกปัดเพื่อแสดงความเคารพรัก |
นอกจากนั้น สร้อยลูกปัดก็เป็นเครื่องประดับทั่วไปของสตรีเผ่าเกอฮอที่ใช้ประกอบกับเครื่องประดับอื่นๆอย่างกำไล ต่างหู กระโปรง เป็นต้น เพื่อให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น โดยมีทั้งสร้อยคอและกำไลข้อมือ ผู้ใหญ่บ้าน เลียง ฮอต ฮา บรึง เผยว่า นอกจากเป็นเครื่องประดับที่ใช้ประจำวันแล้ว ลูกปัดยังถูกใช้เป็นสินสอดทองหมั้นในงานแต่งงานอีกด้วย โดยถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก ความซื่อสัตย์รักเดียวใจเดียวของหนุ่มสาวและของคู่สามีภรรยาเมื่อแต่งงานเป็นครอบครัว ลูกปัดก็เป็นสื่อกลางแทนคำบอกรักและเป็นหนึ่งในของหมั้นที่ขาดไม่ได้ ลูกปัดไม่เพียงแต่เป็นของขวัญที่มีค่าเท่านั้นหากยังมีความหมายทางจิตวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อสานความรักให้เหนี่ยวแน่นชั่วนิรันดร์ "ตามประเพณีดั้งเดิมของเผ่าเกอฮอ ลูกปัดเป็นสิ่งของจำเป็นในงานแต่งงาน เป็นของขวัญที่ผู้ใหญ่จะให้ลูกหลานเมื่อพวกเขามาเยี่ยม ส่วนลูกหลานไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ก็จะมอบลูกปัดเพื่อแสดงความเคารพรัก"
ผู้ใหญ่บ้าน เลียง ฮอต ฮา บรึง เผยว่า ลูกปัดสร้อยคอที่ใช้ทั่วไปเป็นลูกปัด ด๋ายห่าน และยังเป็นลูกปัดที่ใช้เป็นของขวัญมอบให้แก่แขกผู้มาเยือน ถ้าเป็นแขกผู้ชายจะมอบลูกปัด ด๋ายห่าน ถ้าเป็นแขกผู้หญิงจะให้ลูกปัดจ่าย ส่วนตามเรื่องที่นาย เลอมูฮาแทน ชาวตำบลต่าหนุ่ง เมืองดาลัดได้บอกเล่านั้น ลูกปัดมีหลายประเภทแต่ที่ใช้ทั่วไปคือด๋ายห่านและจ่าย "เผ่าเกอฮอดำรงชีวิตตามแบบสังคมที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ โดยผู้หญิงเป็นคนที่มีอำนาจในครอบครัว ดังนั้น จึงเป็นผู้ที่ได้รับความนับถือและได้รับลูกปัดจ่าย ส่วนผู้ชายมีบทบาทเป็นเหมือนผ้าห่มคลุมปกป้องครอบครัวจึงได้รับลูกปัดด๋ายห่าน"
ทั้งนี้ในประเพณีของชาวเกอฮอนอกจากใช้เป็นเครื่องประดับเพื่อความสวยงามแล้ว ลูกปัด ยังเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและเทศกาลต่างๆอีกด้วย เป็นของที่ระลึกเพื่อความผูกพัน และเป็นสัญลักษณ์ของความไว้วางใจและความซื่อสัตย์ ส่วนสำหรับชุมชน สร้อยลูกปัดถือเป็นสายใยเชื่อมใจผู้คนให้มีความเมตตาอารีและรักใครต่อกัน./.