(VOVworld)- สำหรับทุกชนเผ่า หนึ่งในเอกลักษณ์โดดเด่นของแต่ละเผ่าคือสถาปัตยกรรมบ้านเรือน ซึ่งสะท้อนให้เห็นทั้งบรรยากาศแห่งวัฒนธรรมและความเลื่อมไสในวิถีชีวิตของชุมชนที่จะไม่ซ้ำกับชนเผ่าอื่นๆ
บ้านไม้ยกพื้น(internet)
|
ชุมชนเผ่าหนุ่งนิยมอยู่ในบ้านไม้ยกพื้นหรือบ้านกึ่งไม้กึ่งดินและในบางท้องถิ่นชาวบ้านได้นิยมอาศัยในบ้านเตื่องจิ่งหรือบ้านก่อดินหลังคามุงหญ้า แต่โดยรวมแล้วบ้านไม้ยกพื้นคือสถาปัตยกรรมหลักของชุมชนเผ่าหนุ่ง โดยตามประสบการณ์ชาวบ้านจะเลือกสถานที่สร้างบ้านบนไหล่เขาที่มีต้นไม้เพราะจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยจากการที่จะเกิดปัญหาดินถล่ม ส่วนตามหลักฮวงจุ้ย บ้านต้องหันหน้าไปทางทิศใต้ในพื้นที่ที่โล่งโปร่ง ไม่ควรหันหน้าไปทางภูเขา แม่น้ำหรือพุ่มไม้ที่มีรูปทรงแปลกประหลาดโดยเชื่อว่า ถ้าหน้าบ้านหันไปทางยอดเขาแหลมเหมือนธนูจะสร้างอันตรายให้แก่คนในบ้าน ส่วนพุ่มไม้ที่มีรูปร่างแปลกๆเหมือนสัตว์ร้ายจะทำให้สัตว์เลี้ยงของครอบครัวเป็นโรคป่วยตาย เนื่องจากมีประเพณีวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติดังนั้นบ้านจะสร้างด้วยไม้ใผ่และไม้ ล้อมรอบด้วยสวนผักและมีรั้วรอบบ้าน นายเลือกวันเทียด นักวิจัยวัฒนธรรมชนเผ่าของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์เวียดนามเผยว่า“บ้านไม้ยกพื้นของชนเผ่าหนุ่งมีลักษณะกว้างใหญ่ โดยมีเสาหลัก6-8ต้น ภายในบ้านแบ่งเป็นห้องหลายขนาดและจำนวนห้องต้องเป็นเลขคี่แล้วแต่ขนาดของครอบครัว อาจจะแบ่งเป็น5ห้อง 7ห้องหรือ9ห้อง รวมทั้งขั้นบันไดขึ้นบ้านก็ต้องเป็นเลขคี่เพราะตามความเชื่อของชาวบ้าน เลขคี่ใช้สำหรับคนที่ยังมีชีวิตส่วนเลขคู่มักจะใช้สร้างสุสานให้แก่คนตาย”
บ้านจิ่งเตื่องผนังดินสองชั้นของชนเผ่าหนุ่งที่จ.ห่ายาง(xaluan.com)
|
สำหรับพื้นที่การใช้สอยในบ้านของชาวหนุ่งโดยทั่วไปจะเหมือนกันคือใต้ถุนเป็นที่เลี้ยงสัตว์ ที่ย้อมผ้าและซ่อมแซมเครื่องมือการเกษตร ส่วนตัวบ้านชั้นบนแต่ละห้องจะกั้นด้วยผนังไม้และแบ่งเป็นสองส่วนสำหรับชายและหญิง ด้านหน้าบ้านเป็นพื้นที่สำหรับผู้ชาย เป็นที่ตั้งหิ้งบูชาและที่รับแขก ส่วนด้านหลังบ้านเป็นที่สำหรับสตรีที่อยู่ติดกับส่วนครัว โดยในห้องครัวจะมีการตั้งศาลบูชาเจ้าหมุเพื่อขอให้ครอบครัวมีความเจริญด้านเผ่าพันธุ์และเด็กในบ้านแข็งแรงคลาดแคล้วจากโรคภัยไข้เจ็บ
เมื่อพูดถึงเอกลักษณ์บ้านเรือนของชนเผ่าหนุ่งในบางท้องถิ่นก็ต้องกล่าวถึงบ้านจิ่งเตื่องหรือบ้านดินของชุมชนเผ่าหนุ่งที่จังหวัดหลางเซิน ในเขตเขาทางเหนือของประเทศ โดยมีสองแบบคือบ้านดินที่ใช้ทั่วไปและบ้านที่เสมือนป้อมปราการ ซึ่งสำหรับบ้านดินแบบทั่วไปจะมีเสาไม้หลัก4ต้น โครงบ้านก็ทำจากไม้ ส่วนผนังใช้ดินเหนียวอัดเป็นแท่นใหญ่ที่วางทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ นายหว่างวันป๊าว เจ้าหน้าที่วัฒนธรรมของจังหวัดหลางเซินได้เผยว่า“บ้านจิ่งเตื่องได้ก่อสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติเช่นดินเหนียว หญ้า ฟางและกระเบื้อง โดยเฉพาะผนังบ้านจะทำด้วยดินล้วนๆหนาประมาณ50-70เซนติเมตร ซึ่งช่วยให้ตัวบ้านมีความมั่นคงแข็งแรงเป็นร้อยๆปี”
ผนังดินหนา50เซนติเมตร(xaluan.com)
|
สำหรับบ้านดินทรงป้อมปราการนั้นจะมีการผสมผสานระหว่างบ้านดินธรรมดาและบ้านไม้ยกพื้นจึงมีสองชั้น โดยในสมัยก่อนชาวบ้านนิยมสร้างบ้านแบบป้อมปราการเพื่อป้องกันสัตว์ร้าย และศัตรูโจมตีเพราะผนังดินที่หนา50เซนติเมตรสามารถป้องกันกระสูนปืนได้และบนผนังก็มีการเจาะรูเพื่อใช้ต่อสู้ในกรณีที่จำเป็น ภายในบ้านก็แบ่งเป็นหลายห้องและสามารถทะลุถึงกันได้ ชั้นสองของบ้านป้อมปราการเป็นที่บูชาบรรพบุรุษจึงมีประตูใหญ่รับแสงสว่างและเมื่อยืนอยู่ที่ประตูนี้จะสามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมโดยรอบบ้านได้ นอกจากนี้ด้านหน้าบ้านยังมีการสร้างรั้วที่ทำจากไม้และหินที่มั่นคงเป็นแนวป้องกัน
แม้กาลเวลาได้ผ่านไปหลายร้อยปี แต่บ้านจิ่งเตื่องของชาวหนุ่งในเขตเขาทางตอนเหนือของเวียดนามยังคงได้รับการรักษาให้ยืนยงคงอยู่ต่อไปและมีความเรียบง่ายดั้งเดิม จนได้กลายเป็นจุดหมายที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งช่างภาพที่เดินทางมาบันทึกความสวยงามอย่างโดดเด่นของวัฒนธรรมโบราณท่ามกลางกระแสการพัฒนาสังคมที่ทันสมัย.