ชนเผ่าลาฮา |
เช่นเดียวกับชาวเผ่าอื่นๆในเวียดนาม ชนเผ่าลาฮาก็ให้ความสำคัญต่องานบุญข้าวใหม่เป็นอย่างมากเพราะถือเป็นการแสดงความเคารพนับถือและความกตัญญูต่อผู้ใหญ่และบรรพชนรวมทั้งเทพอารักษ์ที่คอยปกป้องดูแลบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาเพื่อให้การเก็บเกี่ยวได้ผลและชีวิตอิ่มหนำผาสุก นายกว่างวันจูง ชาวลาฮาที่หมู่บ้าน หน่าไต ต.ปีตอง อำเภอเหมื่องลาเผยว่า “เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวและข้าวเต็มถังลูกหลานในบ้านก็จัดงานเซ่นไหว้เพื่อเชิญบรรพบุรุษมาร่วมฉลองและขอพรให้ปกป้องทุกคนให้มีสุขภาพแข็งแรงเพื่อให้ฤดูข้าวต่อไปได้ผลดี”
ส่วนนายหล่อวันโดย ชาวลาฮาที่ต.นัมแอ๊ต อ.กวิ่งยาย จังหวัดเซินลาเผยว่า เขาได้เข้าร่วมพิธีบุญข้าวใหม่ของครอบครัวตั้งแต่เด็กจึงจำได้ดีว่า เมื่อถึงเดือน9หรือ10จันทรคติ ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวสุกเหลืองอร่ามบนทุ่งนา เจ้าของบ้านจะเลือกวันที่มีฤกษ์ดีเพื่อจัดงานเซ่นไหว้ โดยคุณแม่หรือลูกสะไภ้คนโตจะเป็นคนไปตัดข้าวใหม่จากนามาทำข้าวเม่าหรือข้าวเหนียว แต่ก่อนจะไปตัดข้าวใหม่ที่นาจะต้องมีการรายงานขออนุญาตจากเจ้าที่ โดยต้องเตรียมไก่ เป็ด หมูอย่างละ1ตัว ไหเหล้าและเหล้าขาว2ขวด รวมทั้งอาหารเครื่องดื่มสำหรับคนในครอบครัวที่มาช่วยเก็บเกี่ยวข้าว ข้าวของทุกอย่างต้องทำสุกที่บ้านแล้วเอาไปตั้งโต๊ะบูชาที่ทุ่งนาและเชิญหมอผีมาทำพิธี “ตั้งแต่อดีต เมื่อข้าวสุกเหลืองอร่ามบนทุ่งนา เตรียมที่จะเก็บเกี่ยวได้ ทุกครอบครัวจะเตรียมไก่เป็ดมาไหว้เจ้าที่ที่ทุ่งนาเพื่อแสดงความขอบคุณเพราะเชื่อว่าถ้าไม่ทำฤดูใหม่จะไม่ได้ผลดี”
หลังจากเซ่นไหว้ที่นาเสร็จก็เตรียมข้าวของทำพิธีบุญข้าวใหม่โดยมีไก่ ปลา เหล้าไห เหล้าขาว หน่อไม้ ผลไม้ที่ปลูกเอง โดยเฉพาะต้องมี “หมะกอง” คือข้าวเหนียวตำแล้วไปตากแห้ง เมื่อครบทุกอย่างก็ตั้งถาดเซ่นไหว้กลางบ้านให้หมอผีทำพิธี ซึ่งตามความเชื่อของชาวบ้าน เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวใหม่เจ้าของบ้านต้องเป็นคนทานข้าวใหม่ก่อนมิฉะนั้นต้นข้าวจะไม่เจริญงอกงามและการเก็บเกี่ยวครั้งหน้าจะไม่ได้ผล นายหล่อวันโดย จากอำเภอ กวิ่งยาย จังหวัดเซินลาเผยว่า “ครอบครัวผมยังคงรักษาและปฏิบัติประเพณีการจัดงานบุญข้าวใหม่จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเมื่อข้าวสุกก็ให้สตรีในบ้านไปเก็บมาหุงข้าวเพื่อเชิญบรรพชนมาร่วมแสดงความยินดีและทานข้าวใหม่เพื่อรายงานให้บรรพชนรับทราบผลการทำงานและขอให้คุ้มครองเพื่อให้ฤดูข้าวใหม่ได้ผลดี”
ปัจจุบันเนื่องจากพื้นที่ไร่นาลดน้อยลง พี่น้องชนเผ่าลาฮาในจังหวัดเซินลาไม่ได้ปฏิบัติพิธีการเซ่นไหว้ที่ทุ่งนาแต่ก็ยังคงรักษาและปฏิบัติพิธีบุญข้าวใหม่ที่บ้าน โดยจะไม่จัดเฉพาะในครอบครัวเท่านั้นหากยังอาจจะมีการเชิญญาติพี่น้องหรือคนเพื่อนบ้านมาร่วมฉลองด้วยเพื่อกระชับความสามัคคีและร่วมสร้างบรรยากาศที่สุขสันต์ในชุมชน.