ชีวิตชาวม้งต้องผ่านพิธีต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตราบสิ้นลมหายใจไร้ชีวัน รวมถึงพิธีตั้งชื่อให้เด็กทารกแรกเกิด |
พิธีนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อและประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน พร้อมเป็นบรรทัดฐานในการแยกแยะระหว่างคนสองคนและเพื่อใช้ในการทักทายสื่อสารในชีวิตข้างหน้า ดังนั้น จึงมีความหมายอันสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
โดยปกติ พิธีตั้งชื่อจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืดด้วยการเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือน ส่วนการเตรียมของเซ่นไหว้นั้นขึ้นอยู่กับฐานะของครอบครัวและเด็กคนนั้นเป็นคนแรกหรือคนหลัง ถ้าหากเป็นลูกคนแรกและครอบครัวมีฐานะที่ดี ก็จะเตรียมหมูหนึ่งตัวน้ำหนักประมาณ 30 ถึง 40 กิโล พร้อมไก่ และเชิญสมาชิกของครอบครัวฝ่ายภรรยามาเป็นสักขีพยาน นาย หย่าง แซว ก่า อดีตผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม กีฬา และการประชาสัมพันธ์เมืองซาปา จังหวัดลาวกาย เผยว่า“เมื่อทำพิธีตั้งชื่อให้เด็ก ต้องเตรียมหมู 1 ตัว และไก่ตัวผู้ตัวเมีย 1 คู่ เพื่อเรียกขวัญและรายงานต่อบรรพบุรุษเพื่อให้เป็นสักขีพยานในพิธี เผากระดาษไหว้เจ้าในห้องที่ทำคลอดเพื่อให้ดวงวิญญาณและบรรพบุรุษได้รับรู้ว่าเป็นเด็กเกิดใหม่และมีชื่อเรียก พร้อมให้พรเด็กให้แข็งแรงอีกด้วย”
พิธีตั้งชื่อเด็กที่พูดถึงนั้นถือเป็นพิธีกรรมทั่วไปในชุมชนชาวม้ง แต่ในระหว่างการปฏิบัติพิธีตั้งชื่อเด็กโดยเฉพาะลูกคนแรกของชุมชนชาวม้งบางกลุ่มอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อย เช่น ชาวม้งที่อาศัยอยู่ในเขต เวินโห่ จังหวัดเซินลา จะต้องเชิญหมอผีมาเรียกขวัญ นาย ช้าง อ๊า ลื้อ ที่หมู่บ้าน ฮัวตาด อำเภอ เวินโห่ จังหวัด เซินลา ได้เผยว่า “สำหรับพิธีตั้งชื่อให้ลูกคนแรก พ่อแม่ต้องตั้งชื่อให้เด็กก่อน หลังจากนั้นก็เชิญหมอผีมาทำพิธี โดยมีไก่ตัวเมีย 1 ตัวเพื่อรายงานต่อบรรพบุรุษว่ามีสมาชิกคนใหม่ในครอบครัว ส่วนไก่ตัวผู้ตัวเมีย 1 คู่ที่วางไว้หน้าบ้านเพื่อขอให้เทพเจ้าทั้งหลายอวยพรให้คุณแม่มีน้ำนมมากพอในการเลี้ยงเด็กที่ท่านได้ประทานให้ ซึ่งถึงตอนนั้นจะมีการตีกลองและฆ้องหน้าบ้านอีกด้วย หากเป็นครอบครัวที่ฐานะดี จะเอาหมูตัวหนึ่ง 20 กิโลมาทำพิธี แล้วจะมีการจัดพิธีแบบนี้เป็นประจำทุกปี”
การเซ่นไหว้ผีบ้าน |
หลังจากทำพิธีกับสัตว์ที่มีชีวิตแล้ว ก็จะนำไปเชือดเพื่อทำอาหารไปเซ่นไหว้บนหิ้งบูชาบรรพบุรุษอีกครั้ง นาย ก่า เล่าให้ฟังว่า“หลังจากที่ได้เซ่นไหว้อาหารสุกบนหิ้งบูชาบรรพบุรุษแล้ว ก็จะจัดวางอาหารเพื่อเชิญคนนอกมาเป็นพยานในพิธี ในสมัยก่อน ถ้าครอบครัวไหนมีลูกสาวไปแต่งงานและหลังจากที่ลูกสาวได้คลอดลูกน้อยออกมา ก็มักจะฝากให้ครอบครัวฝ่ายภรรยามาเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอน คุณอาจะให้เหรียญเงิน 2 เหรียญ คุณตาคุณยายก็ให้คนละ 2 เหรียญเช่นกัน คุณน้าก็อาจให้ 5 เหรียญ ฯลฯ ส่วนแขกรับเชิญเข้าร่วมพิธีจะถือเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย เป้อุ้มเด็กหรือผ้าอ้อมมาเป็นของขวัญให้เด็ก หรือไม่ก็สามารถนำอาหารและเครื่องดื่มมาสมทบก็ได้”
สำหรับชนเผ่าม้งนั้น พิธีตั้งชื่อเด็กถือเป็นก้าวแรกในชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง อีกทั้งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ชาวม้งได้อนุรักษ์และสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน./.