งานเทศกาลเซ่นไหว้เทพป่าของชาวเผ่าเกอตู

Hoài Nam - Ngọc Anh
Chia sẻ

 (VOVWORLD) -งานเซ่นไหว้เทพป่าเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่ชนเผ่าเกอตูในอำเภอเตยยาง จังหวัดกว๋างนามได้สานต่อและปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปีใหม่ โดยตามความเลื่อมใสของชาวบ้าน นอกจากการขอพรและเปิดงานเอาฤกษ์ดีในต้นปีใหม่แล้ว การเซ่นไหว้เทพป่าก็ถือเป็นการแสดงความขอบคุณและการให้คำสัญญาของชาวบ้านในการดูแลปกป้องป่าให้อุดมสมบูรณ์และการเชื่อมโยงในชุมชน

งานเทศกาลเซ่นไหว้เทพป่าของชาวเผ่าเกอตู - ảnh 1ชาวเกอตูกับการฟ้อนท่ารำ ตูงตูงยาย้า ในงานเซ่นไหว้เทพป่า 

ในเขตป่าเขาอันกว้างใหญ่ไพศาล หนุ่มสาวในหมู่บ้านได้จับมือล้อมวงกันฟ้อนรำท่ามกลางเสียงดนตรีพื้นเมือง เสียงกลองเสียงฆ้องที่ดังกังวาลอันเปรียบเสมือนเป็นคำอธิฐานขอพรของชุมชนเผ่าเกอตูที่ส่งถึงบรรดาเทพและบรรพชน โดยชาวเผ่าเกอตูเชื่อว่า "หย่าง"หรือเทพเจ้าและเหล่าเทพทั้งหลายได้บันดาลพลังที่เข้มแข็งให้ชาวบ้านฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆและมีชีวิตที่ผูกพันกับป่าเขาเจื่องเซินอย่างมั่นคงและป่าคือเทพเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านเกอตู นาย Clâu Blao ผู้ใหญ่บ้านตำบล Tr’hy เผยว่า“ชาวเกอตูได้ตระหนักถึงหน้าที่การดูแลปกป้องป่า ซึ่งการปกป้องป่าก็เป็นการปกป้องบ้านเรือน ป่าเป็นแหล่งหาฟืนเพื่อหุงหาอาหาร ป่ายังเป็นที่ให้ร่มเงาแก่มนุษย์ ดังนั้นจึงไม่มีใครอยากตัดไม้ทำลายป่า"

ด้วยความหมายที่สำคัญของป่าต่อชีวิตของมนุษย์ ชาวเกอตูในอ.เตยยาง จ.กว๋างนาม ได้จัดงานเซ่นไหว้ขอบคุณป่าเขา ขอบคุณพืชพันธุ์ธรรมชาติและขอบคุณ "หย่าง" มาแต่เนิ่นนานตามความเชื่อที่ว่า เมื่อมีป่ามีหย่างก็มีมนุษย์และสัตว์ต่างๆ ใครอยากเอาอะไรจากป่าจะต้องขออนุญาตจากเทพเจ้าป่า ต้องหารือกับชาวบ้านและต้องจัดพิธีเซ่นไหว้อย่างรอบคอบ และเพื่อการปกป้องป่าสงวนในท้องถิ่น ชาวบ้านอาร้อ ที่อ.เตยยางได้กำหนดกฎระเบียบของหมู่บ้านเพื่อปฏิบัติ เช่นหากใครอยากเอาไม้ในป่ามาสร้างบ้านจะต้องได้รับการอนุญาตจากชุมชน โดยสภาผู้ใหญ่บ้านจะพิจารณาให้ตัดไม้อย่างไร ตัดต้นไหนเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อการพัฒนาของป่า หากใครฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษอย่างเข้มงวดรวมถึงห้ามเข้าป่าอีกเป็นอันขาด นับตั้งแต่ปี๒๐๑๑มาจนถึงปัจจุบัน ในพื้นที่ป่าสงวนกว่า๔๕๐เฮกต้าที่อ.เตยยางยังสามารถรักษาต้นโลงเลงได้๗๒๕ต้นที่ได้รับการรับรองเป็นไม้มรดกเวียดนาม โดยยังมีการตั้งชื่อให้ต้นไม้แต่ละต้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์อีกด้วยเช่น ต้นดิ่งหล่างที่มีอายุร้อยๆปี มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ๔เมตร สูงกว่า๒๐เมตร ต้นโลงลางช้าง ต้นโลงลางหมี ต้นโลงลางมังกร เป็นต้น นาย Bhriu Liếc เลขาธิการพรรคสาขาอ.เตยยางเผยว่า เหล่าไม้มรดกที่มีค่านี้เป็นผลงานของกระบวนการอนุรักษ์ป่าของชาวเกอตูรุ่นแล้วรุ่นเล่า“หน้าที่การปกป้องป่าของชุมชนชาวเผ่าเกอตูเป็นความรับผิดชอบของทุกคนนี่คือวัฒนธรรมของหมู่บ้านเราซึ่งสืบสานคู่กับวัฒนธรรมการอนุรักษ์ป่า ดังนั้นถ้าเรายังสามารถรักษาวัฒนธรรมหมู่บ้านเอาไว้ได้ ป่าก็จะไม่ถูกทำลายแต่ถ้าไม่สงวนวัฒนธรรมหมู่บ้านได้อย่างมั่นคงถาวรเราก็ต้องเสียป่าแน่นอน"

ไม่เพียงแต่ตระหนักถึงการอนุรักษ์ป่าเท่านั้น แต่ชุมชนเผ่าเกอตูในท้องถิ่นยังรู้จักการส่งเสริมคุณค่าของป่าเพื่อสร้างฐานะและพัฒนาเศรษฐกิจอีกด้วย โดยได้มีการส่งเสริมรูปแบบการปลูกสมุนไพรในพื้นที่ป่า เช่นการปลูกมักขี้หนูหรือแอปเปิ้ลป่า ต้นตังเซียม ต้นปาจีเทียน ต้นกระวานแดงเป็นต้น ซึ่งทำให้หลายครอบครัวสร้างฐานะร่ำรวยได้จากการปลูกสมุนไพร นายเลจี้แทง ประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดกว๋างนามเผยว่า ทางการท้องถิ่นได้มีแผนมอบพื้นที่ป่าให้ชุมชนเป็นผู้ดูแลบริหารซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีเพื่อส่งเสริมการปกป้องและพัฒนาป่า“นอกจากการปกป้องพัฒนาป่าควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจของคนท้องถิ่นเรายังมุ่งส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมอื่นๆควบคู่กันไปเพื่อสร้างเป็นศักยภาพให้แก่การพัฒนาการท่องเที่ยว เป็นเงื่อนไขเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้มาเที่ยวเตยยางมากขึ้น"

ชีวิตของชาวเผ่าเกอตูในเขตป่าเขาเจื่องเซินนั้นมีความผูกพันกับการทำไร่ทำนาและใช้ประโยชน์จากของป่ามาหลายชั่วคนแต่พวกเขาก็ยังคงอนุรักษ์ป่าดงดิบ ป่าต้นน้ำได้อย่างสมบูรณ์เพราะในชีวิตของพวกเขาป่าคือทรัพยากรที่มีค่าต่อชีวิต ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตและช่วยให้ชุมชนของพวกเขาได้คงอยู่อย่างมั่นคงถาวร ดังนั้นงานเซ่นไหว้เทพป่าที่จัดขึ้นทุกปีจึงถือเป็นโอกาสให้ทุกคนแสดงความสำนึกในบุญคุณของป่า เป็นการแสดงความขอบคุณเทพป่าที่คอยปกป้องดูแลให้ชีวิตของชุมชนมีความอิ่มหนำผาสุก./.

Komentar