หมอผีทำพิธีเซ่นไหว้ในบ้าน |
เมื่อเข้าฤดูฝน น้ำขึ้นเต็มลำธาร พืชพันธุ์ผลิดอกออกยอดอย่างสดสวยก็เป็นช่วงที่ชุมชนเผ่าหมะในจังหวัดเลิมด่ง เขตที่ราบสูงเตยเงวียน จะจัดงานขอบคุณเทพเจ้าแห่งป่าเขา นายเหงวียนยวีกาว เจ้าหน้าที่ศูนย์วัฒนธรรมและการกีฬาอำเภอก๊าตเตียนจังหวัดเลิมด่งเผยว่า ในพิธีขอบคุณเทพเจ้าแห่งป่าเขานั้น จำเป็นต้องมีสัตว์เป็นเครื่องสังเวยและตีฆ้อง นี่เป็นเอกลักษณ์ที่ชนเผ่าหมะยังคงรักษามาจนถึงทุกวันนี้ โดยพิธีขอบคุณเทพแห่งป่าของเผ่าหมะสามารถจัดในขอบเขตครอบครัว วงตระกูลหรือเมื่อปีไหนเกิดภัยธรรมชาติ หรือมีคนตายในป่าก็จะจัดงานในขอบเขตทั้งหมู่บ้าน "การจัดงานจะใหญ่จะเล็กแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจในชุมชน เช่น ถ้าจัดทั้งหมู่บ้านก็สามารถใช้ควายทั้งตัวได้ ถ้าในครอบครัวที่มีฐานะดีและอยู่ร่วมกันหลายรุ่นก็อาจใช้ควายหนึ่งตัวเพื่อเซ่นไหว้ แต่ส่วนใหญ่มักจะใช้หมูหรือแพะ แต่ที่สำคัญคือเครื่องเซ่นไหว้ต้องมีสัตว์สองขาหรือสี่ขา"
ความหมายของพิธีเซ่นไหว้ขอบคุณเทพแห่งป่านี้ยังสะท้อนความปรารถนาของชาวบ้านที่จะได้มีชีวิตที่อิ่มหนำผาสุก นาย เดี๋ยวก๊ากคู ชาวบ้านงอ อำเภอเมืองก๊าตเตียน เผยว่า "การถวายเครื่องเซ่นไหว้บูชานี้ก็เพื่อขอพรให้คนทั้งหมู่บ้านไม่เจ็บไม่ป่วย เข้าป่า ขึ้นเขาแข็งแรงปลอดภัยไม่เจอปัญหา เราขอบคุณเทพเจ้าแห่งป่าเขา และขอพรให้หมู่บ้านของเรามิใช่ขอพรให้แค่ครอบครัวของเราอย่างเดียว"
หนุ่มสาวในหมู่บ้านที่มาตีฆ้องเต้นรำเพื่อสร้างบรรยากาศที่สนุกสนานรื่นเริงเชิญชวนผู้คนมาร่วมงาน |
งานขอบคุณเทพแห่งป่าเขาไม่เพียงแต่เป็นพิธีทางจิตวิญญาณเท่านั้น แต่ยังสะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเผ่าหมะ โดยจะเห็นได้จากการเตรียมงานล่วงหน้าหนึ่งเดือน ผู้ใหญ่บ้าน กาบาน จากหมู่บ้านงอ กล่าวว่า"ทุกคนจะมีส่วนร่วมเตรียมงานรวมถึงสตรีในบ้าน ต้องเตรียมข้าวหลาม ข้าวเหนียว และเนื้อเป็นเครื่องเซ่นไหว้ ถ้าจัดในครอบครัวก็ทำถาดอาหารเล็กๆ ส่วนการจัดที่ลานกว้างนอกบ้านก็เตรียมโต๊ะยาว 3 - 4 เมตร โดยชาวบ้านจะนำของมาร่วมงาน ใครมีไก่ก็ให้ไก่ มีหมูก็ให้หมู เป็นต้น"
มีองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่สำคัญและขาดมิได้ในการจัดงานคือการตั้งต้นเสาตุงเพื่อเป็นวิธีการเชื่อมต่อกับเทพเจ้า เมื่อยังมีเสาตุงอยู่ก็หมายความว่าเทพเจ้ายังอยู่ที่นั่น ต้นเสาตุงที่ใช้ในพิธีขอบคุณเทพแห่งป่าเขาของชาวเผ่าหมะนั้นมี 2 ต้น ตั้งไว้ตรงกลางบ้าน และที่ลานหน้าบ้าน โดยต้นเสาตุงในบ้านจะเป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้า เพราะเทพเจ้าจะตามต้นเสาตุงนั้นเพื่อเข้าไปในบ้าน ส่วนสำหรับเสาตุงที่ตั้งกลางแจ้งนั้น จะใช้ในการทำพิธีแทงควาย ที่ผูกไว้กับเสาตุง โดยต้นเสาตุงต้องตั้งให้ตรง แล้วผูกเชื่อกสยายออกไป 8 ทิศ ที่หมายถึงทิศทั้ง 8 ของฟ้าดิน นายเหงวียนยวีกาว เจ้าหน้าที่ศูนย์วัฒนธรรมและการกีฬาอำเภอก๊าตเตียน จังหวัดเลิมด่ง เผยว่า "นี่เป็นสิ่งที่ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชนเผ่าหมะ ลำต้นเสาตุงแบ่งเป็นหลายท่อน ท่อนล่างมีรูปเหมือนเสาบ้าน ท่อนบนคือรูปเมล็ดข้าว ครกตำข้าว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมชาวนาในเขตเตยเงวียน"
เพื่อเริ่มพิธีเซ่นไหว้นั้น ผู้ที่เป็นเจ้าภาพจัดงานต้องยืนรับแขกที่หน้าบ้านพร้อมหนุ่มสาวในหมู่บ้านที่มาตีฆ้องเต้นรำเพื่อสร้างบรรยากาศที่สนุกสนานรื่นเริงเชิญชวนผู้คนมาร่วมงาน ทั้งนี้ความหมายที่ลึกซึ้งของพิธีเซ่นไหว้ขอบคุณเทพแห่งป่าเขาคือสร้างความผูกพันธ์ระหว่างชุมชนและธรรมชาติ สร้างความตระหนักในการเคารพและอนุรักษ์ธรรมชาติ อันเป็นการมีส่วนร่วมยกระดับจิตสำนึกของชุมชนในการร่วมอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมพื้นเมืองของชนเผ่าตนเช่นเดียวกับการเชิดชูจิตใจแห่งความสามัคคีของคนในชุมชนให้แน่นแฟ้นมั่นคงต่อไป./.