การเจรจา ณ กรุงเวียนนา (THX) |
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทุกฝ่ายที่เข้าร่วมในการลงนาม JCPOA เมื่อปี 2015 ประกอบด้วยอิหร่านและกลุ่มพี 5 + 1 คือสหรัฐ รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส จีนและเยอรมนี ได้กลับมาเจรจาอีกครั้ง ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียทั้งทางตรงและทางออนไลน์ โดยตัวแทนของอิหร่านและ 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส จีนและเยอรมนีได้เข้าร่วมการเจรจาโดยตรง ในขณะที่ตัวแทนของสหรัฐเข้าร่วมการประชุมผ่านระบบทางไกลจากโรงแรมในกรุงเวียนนา กระบวนการเจรจามีสหภาพยุโรปหรืออียูนี่เป็นคนกลางเป็นการเจรจารอบที่ 4 ที่ทุกฝ่ายจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมาเพื่อกอบกู้ข้อตกลง JCPOA ภายหลังการถอนตัวของสหรัฐเมื่อปี 2018 และคำสั่งคว่ำบาตรอิหร่านจนอิหร่านยุติการปฏิบัติตามคำมั่นบางส่วน ตามแถลงการณ์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมการเจรจา ในเบื้องต้น กระบวนการเจรจาเป็นไปในเชิงบวก ซึ่งสร้างความหวังว่า ข้อตกลงจะได้รับการฟื้นฟู
สัญญาณในเชิงบวก
ในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม นาย Heiko Maas รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีได้ยืนยันว่า กระบวนการเจรจาได้สร้างบรรยากาศที่ดี ถึงแม้ยังมีความยากลำบาก แต่ทุกฝ่ายก็กำลังเจรจาอย่างสร้างสรรค์
ก่อนหน้านั้น สำนักข่าวแห่งรัฐอิหร่านหรือ IRNA ได้อ้างคำกล่าวของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน Abbas Araghi ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนอิหร่านที่เข้าร่วมการเจรจา ณ กรุงเวียนนาภายหลังการเจรจาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมโดยประเมินว่า ทุกฝ่ายได้พยายามที่จะบรรลุข้อตกลงอย่างจริงจังถึงแม้จะมีความท้าทายมากมาย และแสดงความคิดเห็นว่า การเจรจารอบล่าสุดนี้ได้รับการเริ่มต้นด้วยพลังในเชิง "บวก" และหวังว่า ทุกฝ่ายจะบรรลุความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์โดยเร็วที่สุด
ในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมก่อนการเจรจารอบที่ 4 จะเริ่มขึ้น 1 วัน เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้แสดงความเห็นว่า สหรัฐและอิหร่านอาจบรรลุความเห็นพ้องเกี่ยวกับวิธีการกลับเข้าร่วมข้อตกลง JCPOA ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ตามความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ ไม่จำเป็นต้องพิจารณาผลงานที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยจากการเจรจา แต่การที่ทุกฝ่ายกำลังยืนหยัดทำการเจรจาติดต่อกันจนถึงรอบที่ 4 ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาถือเป็นความคืบหน้าที่สำคัญ มุ่งสู่โอกาสฟื้นฟูข้อตกลง เพราะสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทุกฝ่ายมีความมุ่งมั่นตั้งใจและมีความเชื่อมั่นว่าจะบรรลุผลลัพธ์ในเชิงบวก แต่ความท้าทายที่ต้องรับมือแก้ไขกว่าที่จะสามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ยากที่จะฟันฝ่า
โรงงานเสริมสมรรถภาพเยรูเนียมของอิหร่าน (AP) |
ความท้าทายและอุปสรรค
ตั้งแต่ก่อนที่กระบวนการเจรจาในกรุงเวียนนาจะเริ่มขึ้นมาจนถึงขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญที่ประเมินเกี่ยวกับกระบวนการนี้ส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่า ปัญหาที่สำคัญและเป็นอุปสรรคที่สุดต่อความพยายามในการฟื้นฟูข้อตกลง JCPOA คือความแตกต่างทางทัศนะ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน โดยสหรัฐยังคงยึดมั่นทัศนะที่แข็งกร้าวว่า อิหร่านต้องฟื้นฟูข้อผูกมัดที่ต้องปฏิบัติทั้งหมดก่อนการพิจารณาการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ในขณะที่อิหร่านยืนกรานต์ว่า สหรัฐต้องยกเลิกการคว่ำบาตรก่อนซึ่งเป็นเงื่อนไขชี้ขาดเพื่อให้อิหร่านกลับมาปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว ล่าสุด ในการประชุมลับของรัฐสภาอิหร่านเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา นาย โมฮัมหมัด บาเคอร์ กาลิบัฟ ประธานรัฐสภาอิหร่านได้ระบุว่า อิหร่านจะไม่จัดการเจรจากับสหรัฐก่อนจนกว่าจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดก่อน และยืนยันว่า นี่เป็นหนึ่งในสี่ข้อเรียกร้องที่ต้องให้ความสนใจในกระบวนการเจรจา ณ กรุงเวียนนา
นอกจากนั้น การเจรจาเพื่อฟื้นฟูข้อตกลง JCPOA ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆที่ซับซ้อนในภูมิภาค เช่น วิกฤตซีเรีย ปัญหาอิรัก กระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลางและสงครามกลางเมืองในประเทศเยเมน บวกกับความวิตกกังวลของพันธมิตรของสหรัฐในภูมิภาค เช่น อิสราเอลและซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น
ตามความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ สถานการณ์ที่เป็นจริงนี้ได้ทำให้ความพยายามในการเจรจาในตลอด 1 เดือนที่ผ่านมายังไม่สามารถบรรลุผลงานใดๆ อีกทั้งอาจส่งผลให้ไม่สามารถที่จะบรรลุความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ก่อนเดือนมิถุนายนนี้ซึ่งเป็นช่วงที่อิหร่านจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอิหร่านต่อจุดยืนเกี่ยวกับข้อตกลง JCPOA เช่น หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน มีความเป็นไปได้ที่จะไม่มีการเจรจาเพื่อฟื้นฟูข้อตกลง JCPOA หรือทุกฝ่ายจะต้องเริ่มเจรจาใหม่ตั้งแต่ต้นโดยปราศจากแรงผลักดันในเชิงบวกเหมือนการเจรจาในปัจจุบัน./.