เอฟทีเอญี่ปุ่น-อียูส่งสาส์นที่ชัดเจนเกี่ยวกับการต่อต้านลัทธิคุ้มครองการค้า

Huyền
Chia sẻ
(VOVWORLD) - เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผู้นำญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียูได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอหลังการเจรจามาเป็นเวลา 5 ปี ในสภาวการณ์ที่แนวโน้มของลัทธิคุ้มครองการค้านับวันเพิ่มมากขึ้น รวมถึงนโยบาย “America first”หรือ “ประเทศสหรัฐต้องมาก่อน”ของนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ และการโต้ตอบทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างญี่ปุ่นกับอียูได้ส่งสาส์นที่ชัดเจนเกี่ยวกับการต่อต้านลัทธิคุ้มครองการค้า ซึ่งประเทศมหาอำนาจไม่อาจใช้ความได้เปรียบในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อกำหนดระเบียบการค้าที่เอื้อผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง
เอฟทีเอญี่ปุ่น-อียูส่งสาส์นที่ชัดเจนเกี่ยวกับการต่อต้านลัทธิคุ้มครองการค้า - ảnh 1 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผู้นำญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียูได้ลงนามในข้อตกงการค้าเสรีทวิภาคี หรือ เอฟทีเอ

คาดว่า ข้อตกลงเอฟทีเออียู-ญี่ปุ่นจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคมปี 2019 หลังจากได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งจะช่วยสร้างกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมประชากร 600 ล้านคนใน 29 ประเทศและมีจีดีพีคิดเป็นร้อยละ 30 ของจีดีพีโลก

ข้อตกลงดังกล่าวระบุว่า ญี่ปุ่นจะยกเลิกภาษีต่อสินค้าที่นำเข้าจากอียูร้อยละ 94 รายการ ส่วนอียูจะยกเลิกภาษีต่อสินค้าที่นำเข้าจากญี่ปุ่นร้อยละ 99 รายการและวางแผนยกเลิกภาษีต่อสินค้าส่งออกหลักของญี่ปุ่น เช่น รถยนต์และทีวี

การผลักดันข้อตกลงเอฟทีเอที่ไม่มีการเข้าร่วมของสหรัฐ

ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการลงนามในขณะที่ทั้งอียูและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐถูกวอชิงตันเก็บภาษีเพิ่มเติม โดยหลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ นาย โดนัลด์ ทรัมป์ได้ธำรงนโยบายพัฒนาสหรัฐให้เจริญเข้มแข็งอีกครั้งและนโยบาย“America first”หรือ “ประเทศสหรัฐต้องมาก่อน” แต่ประชาคมโลกกลับมีความเห็นที่แตกต่างออกไป โดยเศรษฐกิจใหญ่ๆไม่เห็นด้วยกับทัศนะการคุ้มครองการค้าของสหรัฐ  ซึ่งจากปฏิบัติการต่างๆของวอชิงตัน เช่น การถอนตัวจากข้อตกลงการค้าเสรีพหุภาคีและการผลักดันการเจรจาเอฟทีเอระดับทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ไม่มีประเทศใดเห็นด้วยกับการเจรจาข้อตกลงทวิภาคีใหม่กับสหรัฐและมีหลายประเทศได้ผลักดันการเจรจากับหุ้นส่วนอื่นๆ หรือ แสวงหาข้อตกลงการค้าพหุภาคีที่เหมาะสมแทน เช่น ประเทศสมาชิกข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือTPP ได้ปรับปรุงข้อตกลง TPP ให้เป็นข้อตกลงหุ้นส่วนในทุกด้านและก้าวหน้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกหรือ CPTPP หลังจากที่สหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงนี้

ส่วนสำหรับอียู ในขณะที่การเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐกับอียูที่เริ่มขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีบารักโอบามาถูกระงับ อียูก็ได้พยายามแสวงหามาตรการผลักดันการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีใหม่เพื่อแก้ไขอุปสรรคในการขยายตลาด โดยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม อียูและญี่ปุ่นได้เห็นพ้องเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีก่อนการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่หรือจี20  ต่อมาในวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนามข้อตกลงเอฟทีเออย่างเป็นทางการ ซึ่งจากการมีส่วนร่วม 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลก ข้อตกลงนี้จะช่วยกระชับความร่วมมือด้านการค้าระหว่าง 2 ฝ่ายและลดโอกาสการประกอบธุรกิจของบริษัทต่างๆของสหรัฐ

นอกจากความร่วมมือกับญี่ปุ่น ในปี 2018 อียูจะพยายามบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการลดภาษีและการขยายตลาดไปยังเม็กซิโกและชิลี อีกทั้งเจรจาข้อตกลงการค้ากับกลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง หรือ MERCOSUR  ส่วนการที่สหรัฐถอนตัวจากข้อตกลง TPP และมีแนวทางเพิ่มความเข้มงวดในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือหรือNAFTA ทำให้รัฐบาลและบริษัทต่างๆในภูมิภาคนี้ต้องประเมินการพึ่งพาตลาดสหรัฐ โดยแคนาดาและเม็กซิโกได้ผลักดันการลงนามข้อตกลงใหม่หลังการยุติข้อตกลง NAFTA

เชิดชูการเปิดเสรีการค้า

บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินว่า การที่ญี่ปุ่นและอียูลงนามข้อตกลงเอฟทีเอไม่เพียงแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาภาษีและกำแพงต่างๆเท่านั้น หากยังเพื่อส่งสาส์นว่า การเปิดเสรีการค้าคือกระบวนการที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้และมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบกับการคุ้มครองการค้า โดยผู้บริหารคณะกรรมการยุโรปได้ยืนยันว่า ถึงเวลาแล้วที่อียูต้องตัดสินใจชะตากรรมของตนและแนวทางนี้ก็ยังมีความชัดแจนมากขึ้นจากการที่เมื่อเร็วๆนี้ บรรดาผู้นำอียูได้เดินทางไปเยือนภูมิภาคตะวันออกกลาง ญี่ปุ่นและจีนเพื่อแสวงหาโอกาสความร่วมมือ ส่วนนาย Norbert Roettgen หัวหน้าคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ของรัฐสภาเยอรมนีได้ย้ำว่า ทัศนะของนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐเกี่ยวกับพันธมิตร หุ้นส่วน คู่แข่งและศัตรูคือทัศนะที่ไม่ชัดเจน ดังนั้นอียูจึงได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนอื่นๆ อย่างเช่น การลงนามข้อตกลงการค้าเสรีครั้งสำคัญกับญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นข้อตกลงที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อการรักษาระเบียบการต่างๆตามกฎหมาย ซึ่งจากการลงนามข้อตกลงเอฟทีเอดังกล่าว ญี่ปุ่นและอียูได้ส่งสาส์นที่ชัดเจนเกี่ยวกับความร่วมมือในการต่อต้านลัทธิคุ้มครองการค้า.

Komentar