(VOVworld)- วันที่31ธันวาคมจะเป็นการเปิดตัวประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งจนถึงขณะนี้ทุกประเทศสมาชิกต่างมีความพร้อมให้แก่เหตุการณ์นี้ โดยได้มีความพยายามปฏิบัติมาตรการต่างๆเพื่อยกระดับทักษะแหล่งบุคลากร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระชับการเชื่อมโยง ลดช่องว่างการพัฒนา อำนวยความสะดวกให้แก่การหมุนเวียนสินค้าในกลุ่มตลอดจนปรับปรุงกรอบทางนิตินัยเพื่อให้สอดคล้องกับคำมั่นต่างๆของประชาคมอาเซียน
วันที่22พฤศจิกายนปี2015ที่กัวลาลัมเปอร์ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่อาเซียนเมื่อผู้นำ10ชาติอนุมัติปฏิญญาว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน อันเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการก่อตั้งและพัฒนาในตลอด48ปีเพื่อเปิดยุคใหม่แห่งการพัฒนาของประชาคม การก้าวเข้าสู่ประชาคมเดียวนั้นได้นำอาเซียนกลายเป็นองค์การภูมิภาคที่สามของโลกต่อจากประชาคมเศรษฐกิจยุโรปซึ่งก็คือสหภาพยุโรปและองค์การแอฟริกาเอกภาพซึ่งก็คือสหภาพแอฟริกาปัจจุบัน เป้าหมายของประชาคมอาเซียนคือสร้างสรรค์ประชาคมให้เป็นองค์กรร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่กว้างลึกและมีความผูกพันกันมากขึ้นบนพื้นฐานของกฎบัตรอาเซียนและมีการขยายความร่วมมืออย่างกว้างขวางกับทั่วโลก
โอกาสและความท้าทาย
การจัดตั้งประชาคมอาเซียนได้นำมาซึ่งโอกาสที่ดีในหลายด้านให้แก่ประเทศสมาชิกโดยก่อนอื่นคือโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยประชาคมอาเซียนเปิดตัวพร้อมความคาดหวังจะพัฒนาภูมิภาคที่มีประชากรกว่า600ล้านคนให้กลายเป็นตลาดร่วม เป็นฐานผลิตร่วมที่สินค้า การบริการ การลงทุน เงินทุนและแรงงานมีฝีมือสามารถหมุนเวียนได้อย่างเสรี ประชาคมอาเซียนจะช่วยผลักดันการเชื่อมโยงในภูมิภาคและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ในโลกโดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจที่เพิ่งโดดเด่นอย่างจีนและอินเดีย โดยตามข้อมูลสถิติในรอบ3ปีที่ผ่านมา อาเซียนสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศหรือเอฟดีไอได้จำนวนมากและท่ามกลางแนวโน้มการลดลงของเอฟดีไอในทั่วโลกและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวไม่เท่าเทียมกันนั้นจำนวนเอฟดีไอที่ไหลเข้าอาเซียนถือว่ามากที่สุดในโลก นอกจากนี้การปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนและกระบวนการผสมผสานของอาเซียนเพื่อก้าวไปสู่ประชาคมในปัจจุบันได้มีส่วนร่วมสร้างการดึงดูดเงินเอฟดีไอให้ไหลเข้าอาเซียนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี อาเซียนยังแสดงออกถึงจุดที่ต้องแก้ไขและที่เด่นชัดที่สุดคือช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งอาจจะส่งผลให้กระบวนการพัฒนาจัดตั้งเขตการค้าเสรีในภูมิภาคช้าลงและต้องประสบอุปสรรคในการปฏิบัติคำมั่นกับหุ้นส่วนต่างๆนอกกลุ่ม นอกจากนั้นการผสมผสานด้านผลประโยชน์แห่งชาติกับผลประโยชน์ของทั้งประชาคมก็เป็นอีกปัญหาที่ต้องแก้ไข
พร้อมเพื่อประชาคม
โดยตระหนักดีถึงโอกาสและความท้าทายจากการเปิดตัวประชาคมอาเซียน บรรดาประเทศสมาชิกได้ดำเนินมาตรการต่างๆที่เป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับเงื่อนไขของแต่ละประเทศเพื่อที่จะสามารถส่งเสริมจุดแข็งของตนในการผสมผสานกับประชาคม อย่างเช่นสิงคโปร์ได้ยกย่องบทบาทการเป็นศูนย์กลางการวิจัยและประชาคมผู้ประกอบการ ส่วนพม่าและฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ไทยผลักดันการปฏิรูประบบโครงสร้างพื้นฐานการบริการ การค้า การลงทุน การพัฒนาเครือข่ายสวัสดิการสังคมและได้ปฏิบัติโครงการ “หน้าต่างเดียวแห่งชาติ” “อาเซียนหน้าต่างเดียว”ในขณะที่กพช.เน้นพัฒนานโยบายการค้าเพื่อเปิดรับการลงทุน ปรับปรุงกฎหมายการลงทุนและกฎหมายการถือกรรมสิทธิ์ให้มีความสะดวกมากขึ้น โดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติถือหุ้น100%ของบริษัทต่างๆในเขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อเทียบกับอัตราร้อยละ70ของบางประเทศอาเซียนตลอดจนการผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศให้สอดคล้องกับกระบวนการผสมผสานด้านเศรษฐกิจของอาเซียน สำหรับเวียดนามก็มีการผลักดันการอำนวยความสะดวกทางการค้าผ่านการปฏิบัติระเบียบการศุลกากรอิเล็กทรอนิก ระเบียบการวัน สต๊อป เซอร์วิส ปฏิรูประเบียบราชการ เพื่อมุ่งเปิดเสรีการบริหาร นอกจากนั้นเวียดนามได้ทำการปรับปรุงกฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวข้องเช่นกฎหมายการลงทุน กฎหมายสถานประกอบการ ให้สอดคล้องกับคำมั่นในอาเซียน
พร้อมกับความพยายามของแต่ละประเทศสมาชิก คณะเลขาธิการอาเซียนได้ทำการร่างแผนปฏิบัติการให้แก่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยมี45ประเด็นสำคัญที่ครอบคลุมในเศรษฐกิจทุกภาคส่วนเพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายการค้าและการลงทุนที่สะดวกและเสรี รวมไปถึงเศรษฐกิจภาคอื่นๆ ซึ่งการเตรียมความพร้อมต่างๆเหล่านี้ก็เพื่อค้ำประกันให้อาเซียนพัฒนาตามแผนและเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งผลประโยชน์ที่จริงจังให้แก่ทั้งประชาคมและมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาและเจริญรุ่งเรืองของโลก.