ประชาชนประมาณ 22.8 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรอัฟกานิสถานต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหาร (Photo: Reuters) |
การขาดแคลนงบประมาณและวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่คุกคามต่อชีวิตของประชาชนอัฟกานิสถานนับล้านคนคือการประเมินขององค์การและผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศต่างๆเกี่ยวกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถานภายหลัง 1 ปีที่กลุ่มตาลีบันกลับมาปกครองประเทศ
อุปสรรคมากมาย
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ในจดหมายพิเศษที่ส่งถึงประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการพัฒนาระหว่างประเทศ 71 คน รวมทั้งนาย Joseph Stiglitz ผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์และนาย Yanis Varoufakis อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกรีซ ได้แสดงความวิตกกังวลต่อวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศอัฟกานิสถาน โดยให้ข้อสังเกตว่า การที่กิจกรรมเศรษฐกิจและวงเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศลดลงหลังจากที่สหรัฐถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานได้ทำให้เศรษฐกิจอัฟกานิสถานประสบอุปสรรคมากมาย ขณะนี้ ครอบครัวร้อยละ 70 ในอัฟกานิสถานประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก ประชาชนประมาณ 22.8 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรอัฟกานิสถานต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหาร เด็กประมาณ 3 ล้านคนมีความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการ
ก่อนหน้านั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญและองค์การระหว่างประเทศได้ประกาศรายงานและข้อมูลที่น่ากังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจและความมั่นคงด้านอาหารในอัฟกานิสถาน เมื่อปลายปี 2021 นาง Annalena Baerbock รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดในอัฟกานิสถานและด้านต่างๆของเศรษฐกิจที่ล่มสลาย
รายงานต่างๆประเมินว่า สาเหตุของสถานการณ์ดังกล่าวคือวงเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศที่ลดลงหลังจากที่กลุ่มตาลีบันกลับมาปกครองประเทศ ในขณะที่กองกำลังตาลีบันมีความสามารถจำกัดในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะการผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการปกครองภายใต้หลักกฎหมายอิสลามหรือ "ชารีอะห์"โดยเฉพาะสำหรับสตรี ซึ่งส่งผลกระทบต่อกองกำลังแรงงานและกิจกรรมด้านการผลิต
นักรบของกลุ่มตาลีบันปฏิบัติหน้าที่ด้านหน้าทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงดาบูล (Photo: AFP) |
ต้องการการร่วมแรงร่วมใจของประชาคมโลก
บรรดาผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า สภาวการณ์ปัจจุบันกำลังขัดขวางการผลักดันการช่วยเหลือและความร่วมมือระหว่างประเทศให้แก่อัฟกานิสถาน โดยเศรษฐกิจใหญ่กำลังต้องรับมืออุปสรรคด้านเศรษฐกิจภายในประเทศเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด –19และการปะทะระหว่างรัสเซียกับยูเครน นอกจากนี้ การที่กลุ่มตาลีบันผลักดันการใช้กฎหมายชารีอะห์ได้ทำให้ประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะบรรดานักลงทุนมีความไม่มั่นใจในการลงทุนในอัฟกานิสถาน
สถานการณ์ดังกล่าวต้องการให้ประชาคมโลกส่งเสริมความพยายามช่วยเหลืออัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม สภากาชาดสากลหรือ ICRCได้เร่งรัดให้รัฐบาลประเทศต่างๆและบรรดานักอุปถัมภ์ฟื้นฟูความช่วยเหลืออัฟกานิสถานเพื่อแก้ไขปัญหาด้านมนุษยธรรมแทนการยืนหยัดจุดยืนทางการเมืองต่อทางการของอัฟกานิสถาน
ICRC เป็นไม่กี่องค์การระหว่างประเทศที่ยังคงธำรงความช่วยเหลือให้แก่อัฟกานิสถานหลังจากที่กลุ่มตาลีบันกลับมาปกครองประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ ICRC ได้ให้ความช่วยเหลือโรงพยาบาล 33 แห่งเพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ จ่ายเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข การจัดสรรเงินเพื่อซื้อเชื้อเพลิงให้แก่รถพยาบาลและอาหารให้แก่ผู้ป่วย แต่อย่างไรก็ดี นาย Robert Mardini ผู้อำนวยการใหญ่ ICRC ย้ำว่า นี่ไม่ใช่มาตรการที่ยั่งยืนเพราะองค์การด้านมนุษยธรรมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่แทนสำนักงานภาครัฐได้ ดังนั้น ICRC มีความประสงค์ว่า รัฐบาลประเทศต่างๆและสำนักงานเพื่อการพัฒนาต่างๆจะฟื้นฟูการช่วยเหลือประชาชนอัฟกานิสถาน
ในขณะเดียวกัน บรรดานักเคลื่อนไหวระหว่างประเทศได้เรียกร้องให้สหรัฐและยุโรป ยกเลิกการอายัดเงินประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐของอัฟกานิสถานหลังจากที่กลุ่มตาลีบันขึ้นปกครองประเทศ พร้อมทั้งชี้ชัดว่า การยกเลิกการอายัดเงินนี้จะช่วยให้ธนาคารกลางอัฟกานิสถานมีงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ค้ำประกันไม่ให้ระบบการเงินและเศรษฐกิจอัฟกานิสถานตกเข้าสู่ภาวะล่มสลาย ช่วยให้อัฟกานิสถานสามารถฟันฝ่าวิกฤตด้านเศรษฐกิจและมนุษยธรรมที่เลวร้ายไปได้.