ส่งเสริมความพยายามเพื่อธำรงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

Bá Thi
Chia sẻ
(VOVWORLD) - เนื่องจากสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์โลกกำลังมีความผันผวนอย่างซับซ้อนและคาดเดาไม่ได้ ทำให้การฟื้นตัวและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายที่ร้ายแรงมากมายและความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังเพิ่มมากขึ้น เพื่อรับมือปัญหานี้ เศรษฐกิจใหญ่ๆ โดยเฉพาะสถาบันการเงินและเศรษฐกิจโลก ซึ่งนำโดยธนาคารโลกหรือ WB และกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF กำลังพยายามแสวงหาทางออกที่เหมาะสม
ส่งเสริมความพยายามเพื่อธำรงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก - ảnh 1ธนาคารโลก (Business Standard)

 

การประเมินล่าสุดของสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งได้แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจโลกยังคงได้รับผลกระทบในทางลบจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการปะทะระหว่างรัสเซียกับยูเครน ปัญหาบนคาบสมุทรเกาหลี ที่ตะวันออกกลางและความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนมีความตึงเครียดมากขึ้น การตัดสินใจของ OPEC+ เกี่ยวกับการปรับลดการผลิตน้ำมันดิบและความเสี่ยงจาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

สัญญาณที่น่าเป็นห่วง

ในการประชุมฤดูใบไม้ผลิของธนาคารโลกหรือ WB และกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐ IMF ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกหรือ World Economic Outlook ซึ่งคาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.8 และร้อยละ 3 ในปีหน้า ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา การปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจใหญ่ๆ ตลอดจน ความสามารถที่ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ เดินหน้าปฏิบัตินโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 

นอกจากนั้น IMF ยังเผยว่า หนี้สาธารณะทั่วโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นและเติบโตเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะในสหรัฐและจีนซึ่งเป็น 2 เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยหนี้สาธารณะทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ของจีดีพีในปี 2020 ก่อนที่จะลดลงเป็นอย่างมากเมื่อปีที่แล้ว ถึงกระนั้น อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่น่าเป็นห่วงคือแทนที่จะกลับสู่ระดับปกติ อัตรานี้จะเริ่มสูงขึ้นอีกครั้งในปีนี้และแตะที่ร้อยละ 99.6  ภายในปี 2028

ในขณะเดียวกัน รายงานล่าสุดของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings ได้ระบุว่า อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ ตั้งแต่ปี 2020 จนถึงไตรมาสแรกของปีนี้ ได้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ 14 ครั้งใน 9 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส เลบานอน กานา ศรีลังกา แซมเบีย อาร์เจนตินา เอกวาดอร์ ซูรินามและยูเครน ก่อนหน้านั้น ในช่วงปี 2000-2019 ได้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ 19 ครั้งใน 13 ประเทศเท่านั้น รายงานของ Fitch Ratings ย้ำว่า สภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจมหภาคและการเงินทั่วโลกยังคงมีความท้าทาย โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่มีอันดับเครดิตต่ำ หลายประเทศถูกจัดอันดับเครดิต CCC+ ซึ่งหมายความว่า ความเสี่ยงที่จะตกเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับสูง

ที่สหรัฐซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก รายงานสถิติที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 เมษายนโดยกระทรวงการคลังของสหรัฐปรากฎว่า การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณปี 2023 สูงถึง 1 ล้าน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากการใช้จ่ายด้านการศึกษา สวัสดิการด้านสุขภาพและดอกเบี้ยจ่ายหนี้ที่สูงขึ้น นอกจากนั้น ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐหรือ FED ทำให้เพิ่มความเป็นไปได้ที่ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในการประชุมนโยบายครั้งต่อไป ความท้าทายต่อเศรษฐกิจสหรัฐยังสะท้อนให้เห็นผ่านดัชนีการมองโลกในแง่ดีของสถานประกอบการขนาดย่อมในสหรัฐที่ยังคงลดลงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเนื่องจากชุมชนสถานประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะ ดัชนีการมองโลกในแง่ดีของสถานประกอบการขนาดย่อมในสหรัฐเมื่อเดือนมีนาคมอยู่ที่ 90.1 คะแนน ลดลงเล็กน้อยจาก 90.9 คะแนนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และยังคงต่ำกว่าระดับ “ปกติ” คือ 100 คะแนน นี่เป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกันที่ดัชนีการมองโลกในแง่ดีของสถานประกอบการขนาดย่อมของสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐหรือ NFIB ต่ำกว่า 98 คะแนน ซึ่งเป็นดัชนีเฉลี่ยในรอบเกือบ 50 ปี

ส่งเสริมความพยายามเพื่อธำรงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก - ảnh 2หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF Pierre-Olivier Gourinchas (EPA)

เพิ่มความพยายามเพื่อรับมือ

สถาบันการเงินและบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีความเห็นร่วมกันว่า ความท้าทายและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกนั้นมีความร้ายแรงและน่าเป็นห่วง ถ้าหากไม่มีมาตรการที่เหมาะสม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอันเปราะบางที่เพิ่งเริ่มต้นอาจล้มเหลว และเศรษฐกิจหลายแห่งกำลังมีความเสี่ยงที่จะตกเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งการควบคุมเงินเฟ้อต้องได้รับการให้ความสนใจอันดับต้นๆ

ในการประชุมฤดูใบไม้ผลิของ WB และ IMF หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF Pierre-Olivier Gourinchas ได้แสดงความเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวลที่สุดและเสถียรภาพด้านราคาควรได้รับความสนใจเพื่อแก้ไขมากกว่าความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินสำหรับนโยบายการเงินของธนาคารกลาง อีกทั้ง ย้ำว่า เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ร้ายแรงก็ควรเปลี่ยนลำดับความสนใจนี้ ดังนั้น IMF จึงเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไปเพื่อรับมือภาวะเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อเป็นเวลานาน

ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้เสนอให้เศรษฐกิจต่างๆจัดทำแผนการเพิ่มเติมเพื่อรับมือความเสี่ยงเมื่อสถานการณ์ความไร้เสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ลุกลามและยืดเยื้อเป็นเวลานานจนนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและพลังงานอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว รัฐบาลควรยึดมั่นปฏิบัติเป้าหมายและมาตรการขยายตัวที่ยั่งยืนเพื่อจำกัดและมุ่งสู่การสร้างภูมิคุ้มกันจากอิทธิพลภายนอก โดยเฉพาะ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศมหาอำนาจและองค์การพหุภาคีที่นำโดยสหประชาชาติและมีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็นแกนหลักส่งเสริมความพยายามเพื่อแสวงหามาตรการคลี่คลายความตึงเครียด ณ จุดร้อนต่างๆในโลก เช่น การปะทะในยูเครน ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีและความไร้เสถียรภาพในตะวันออกกลาง เป็นต้น อีกทั้ง ส่งเสริมกระบวนการปรองดองที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองที่ครอบคลุมในระดับโลก.

Komentar