ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี เยือนกองกำลังทหารที่ประจำการในเขตดอนบัส (Photo: REUTERS) |
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีเมียร์ ปูตินได้ลงนามกฤษฎีกาที่รับรองเอกราชและลงนามสนธิสัญญามิตรภาพ ความร่วมมือและสนับสนุนกับสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์ที่ประกาศแยกตัวจากยูเครน ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวถูกคัดค้านและตำหนิอย่างรุนแรงจากยูเครนและฝ่ายตะวันตก ทำให้ความตึงเครียดในเขตชายแดนระหว่างรัสเซียกับยูเครนทวีความรุนแรงมากขึ้น
ฝ่ายตะวันตกเพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซีย
เพื่อตอบโต้การตัดสินใจดังกล่าวของรัสเซีย ทำเนียบขาวได้ประกาศว่า ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน มีแผนการปฏิบัติมาตรการคว่ำบาตรใหม่ด้านการค้าและการเงินต่อเขตโดเนตสค์-ลูฮันสค์ในภาคตะวันออกของยูเครนที่รัสเซียประกาศรับรองเอกราช ในการพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดียูเครน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดนได้ย้ำว่า สหรัฐจะร่วมกับประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อมีการตอบโต้อย่างรวดเร็ว ในวันเดียวกัน ในการพูดคุยผ่านทางโทรศัทพ์ระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐ โจไบเดน กับประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครงและนายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลัฟ ช็อลทซ์ บรรดาผู้นำได้แสดงท่าทีต่อการตัดสินใจดังกล่าวของรัสเซีย พร้อมทั้ง หารือเกี่ยวกับวิธีการประสานงานของฝ่ายตะวันตกในก้าวเดินต่อไป ในขณะเดียวกัน นาย เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ได้กล่าวหาปฏิบัติการดังกล่าวของรัสเซียว่า เป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศที่รัสเซียได้ลงนาม
ที่น่าสนใจคือสหรัฐและประเทศพันธมิตรยังเสนอให้จัดการประชุมวิสามัญคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อหารือเกี่ยวกับการที่รัสเซียรับรองเอกราชของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์และลูฮันสค์
บรรดานักวิเคราะห์ระหว่างประเทศเห็นว่า ท่าทีที่ที่รวดเร็วและแข็งกร้าวของฝ่ายตะวันตกจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซียมากขึ้น แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าก็คือ ปฏิบัติการต่างๆดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าของกิจกรรมทางการทูตที่ผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนีได้ผลักดันในเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะการที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครงได้โน้มน้าวให้ผู้นำสหรัฐและรัสเซียมีการพบปะกันเพื่อแสวงหามาตรการแก้ไขวิกฤต
เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Photo: Xinhua) |
ต้องพยายามมากขึ้นและธำรงการสนทนา
ในการประกาศล่าสุด เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส ได้เรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องแก้ไขวิกฤตในภาคตะวันออกยูเครนอย่างสันติ สอดคล้องกับข้อตกลงมินสก์ในมติที่ 2202 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสนับสนุน นาย Stephane Dujarric โฆษกของเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติได้ชี้ชัดว่า เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติการกระทำที่เป็นอริ ป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่ทำให้สถานการณ์ในยูเครนตึงเครียดมากขึ้น ให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆต่อการผลักดันช่องทางการทูตเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสันติ ก่อนหน้านั้น ผู้นำหลายประเทศยังเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆธำรงการสนทนาและการพบปะเพื่อแสวงหามาตรการแก้ไขวิกฤตและหลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น
ส่วนเจ้าหน้าที่รัสเซียได้ยืนยันว่า ยืนหยัดมาตรการทางการทูตเพื่อแก้ไขปัญหา ในประกาศล่าสุด รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ ประกาศว่า จะยังคงพบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ แอนโทนี บลิงเคน ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตามกำหนด
บรรดานักวิเคราะห์ให้ข้อสังเกตว่า การเพิ่มความตึงเครียดอาจทำให้สถานการณ์ไม่อาจควบคุมได้ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคและโลก โดยการสนทนายังคงเป็นมาตรการเดียวและดีที่สุดเพื่อแก้ไขวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน.