(VOVworld) – วันที่ 5 ตุลาคม ข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม – สหภาพเศรษฐกิจเอเชีย – ยุโรปหรืออีเออียูได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับเวียดนามเพราะตลาดรัสเซียและ 4 ประเทศในสหภาพฯมีเศรษฐกิจที่เกื้อหนุนต่อเศรษฐกิจเวียดนาม ซึ่งเวียดนามมีความพร้อมที่จะใช้โอกาสและรับมือกับความท้าทายต่างๆเมื่อข้อตกฉบับนี้ได้รับการปฏิบัติ
|
ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนามกับสหภาพเศรษฐกิจเอเชีย – ยุโรปและบรรดาประเทศสมาชิก ประกอบด้วยสหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐเบลารุส สาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐอาร์เมเนียและสาธารณรัฐคีร์กีซสถานเริ่มจัดทำเมื่อเดือนมีนาคมปี 2013 และได้รับการลงนามในประเทศคีร์กีซสถานเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมปี 2015
ข้อตกลงได้ระบุหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับการสร้างกรอบการค้าเสรีทวิภาคีในด้านการค้า การบริการ การลงทุนและการโยกย้ายแรงงาน ให้คำมั่นที่จะให้สิทธิพิเศษด้านภาษี 9,927 ประเภท คิดเป็นร้อยละ 87.4 – 95.7 ส่วนภาษีที่ไม่อยู่ในกรอบนี้มี 1,433 ประเภท ซึ่งในนั้นมีสินค้าบางประเภทที่เป็นจุดแข็งของเวียดนามที่จะได้รับสิทธิพิเศษด้วย
โอกาสใหญ่สำหรับการส่งออกของเวียดนาม
การยกเลิกภาษีต่อสินค้าเกือบร้อยละ 90 รายการ โดยมีร้อยละ 59.3 ที่จะถูกยกเลิกทันทีเมื่อข้อตกลงฯมีผลบังคับใช้คือความได้เปรียบสำหรับสถานประกอบการเวียดนามในการแข่งขันกับคู่แข่ง เช่น สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของเวียดนามจะได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีร้อยละ 82 ตามคำมั่นที่ให้ไว้ และร้อยละ 36 จะได้รับการยกเลิกภาษีทันทีเมื่อข้อตกลงมีผลบังคับใช้ คาดว่า ข้อตกลงฉบับนี้จะเพิ่มมูลค่าต่างตอบแทนด้านสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปของทั้งสองฝ่ายจาก 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบันขึ้นเป็น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 1- 2 ปีข้างหน้า เวียดนามจะเลื่อนจากอันดับที่ 8 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 4 ของโลกในการเป็นผู้จำหน่ายสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายใหญ่ของตลาดนี้ ส่วนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มรองเท้าและกระเป๋าร้อยละ 77 จะถูกยกเลิกหรือลดภาษีและร้อยละ 73 จะได้รับการยกเลิกภาษีภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี นอกจากนี้ สินค้าในกลุ่มสัตว์น้ำร้อยละ 95 จะสามารถเจาะตลาดดังกล่าวโดยไม่ต้องเสียภาษีภายในเวลา 10 ปี นายบุ่ยฮุยเซิน อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ประเมินว่า “นี่คือความได้เปรียบเพราะเราไม่ต้องแข่งขันกับหุ้นส่วนอื่นๆในประเทศสมาชิกของข้อตกลง ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเทศสมาชิกที่มีผู้บริโภคถึง 182 ล้านคนและเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีมูลค่า 2 ล้าน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศเหล่านี้ยังมีหลายด้านที่มีศักยภาพเพื่อให้เวียดนามเข้าไปลงทุน นอกจากนั้น นี่ยังเป็นโอกาสให้เวียดนามดึงดูดการลงทุนและเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีหลักในด้านเครื่องจักรกล เคมีและพลังงานจากประเทศสมาชิกของสหภาพฯ เช่น รัสเซียและเบลารุส ข้อตกลงอีเออียูและข้อตกลงการค้าเสรีฉบับต่างๆที่เวียดนามได้ลงนามกับหุ้นส่วนอื่นๆจะอำนวยความสะดวกให้เวียดนามใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเอฟทีเออย่างเต็มที่ในการปฏิบัติยุทธศาสตร์แบบบูรณาการเกี่ยวกับการผสมผสานเข้ากับกระแสโลก”
ส่วนนายดั๋งหว่างหาย อธิบดีกรมตลาดยุโรปสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ให้ข้อสังเกตไปในทางเดียวกันว่า อีเออียูเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากและสอดคล้องกับสินค้าที่เป็นจุดแข็งของเวียดนาม นอกจากนี้ เวียดนามเป็นหุ้นส่วนแรกที่ได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับอีเออียู ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกของเวียดนามจะได้รับโอกาสที่ยิ่งใหญ่ คาดว่า เมื่อข้อตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะช่วยให้มูลค่าการค้าต่างตอบแทนจาก 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 8 พัน-1หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
สถานประกอบการเป็นฝ่ายรุกในการใช้ความได้เปรียบ
ตอนนี้มีสถานประกอบการเวียดนามประมาณ 940 แห่งที่ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพเศรษฐกิจเอเชีย – ยุโรป ซึ่งในนั้นมี 200 แห่งที่มีมูลค่าการส่งออกสูง คิดเป็นร้อยละ 90 ของการส่งออกเข้าตลากนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าหลัก เช่น สัตว์น้ำ กาแฟ ยางพารา ชา ข้าว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พริกไทย สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า ไม้แปรรูป ขนมและลูกอม เป็นต้น แต่เพื่อเตรียมรับผลประโยชน์จากข้อตกลงฉบับนี้ สถานประกอบการเวียดนามได้พยายามเตรียมพร้อมให้แก่โอกาสการส่งออกที่มีศักยภาพนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาเพื่อลงนามสัญญาการค้าและการเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงตลาด นายดิงต๊วนแอง ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทหุ้นส่วน Ladoza เผยว่า “เพื่อเตรียมรับข้อตกลงฉบับนี้ ทางบริษัทได้เน้นนำเข้าวัตถุดิบเครื่องหนังจากอินเดียและอุปกรณ์เครื่องจักรที่ตอนนี้ยังคิดภาษีร้อยละ 0 ปัจจุบันนี้ เรากำลังแสวงหาหุ้นส่วนต่างประเทศ เช่น เม็กซิโกและทำการส่งออกกระเป๋าและกระเป๋าเป้ไปยังประเทศนี้ ควบคู่กันนั้นเรายังทำผลิตภัณฑ์ใหม่ 20 รายการเพื่อส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ในปี 2017”
แม้จะมีโอกาสเข้าถึงตลาดอีเออียูแต่สถานประกอบการเวียดนามก็ต้องเตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน ปฏิบัติข้อกำหนดที่เข้มงวดต่างๆและแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นอย่างยุติธรรม นางเหงียนแค้งหงอก รองอธิบดีกรมตลาดยุโรป สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์เสนอว่า สถานประกอบการต้องศึกษาเรื่องภาษีแต่ละประเภทอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะข้อกำหนดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้า นอกจากนั้น ค่าขนส่งยังเป็นอุปสรรคในการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ ดังนั้น สถานประกอบการต้องเตรียมระบบคลังสินค้าและการขนถ่ายของตนเองเพื่อลดค่าขนส่ง
ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนามกับสหภาพเศรษฐกิจเอเชีย – ยุโรปที่มีผลบังคับใช้จะเป็นโอกาสใหญ่สำหรับทุกฝ่ายที่เข้าร่วม การใช้ประโยชน์จากข้อตกลงฉบับนี้ไม่เพียงแต่ผลักดันความสัมพันธ์ด้านการค้าเท่านั้น หากยังมีส่วนร่วมเสริมสร้างความสัมพันธ์ร่วมมือระหว่างเวียดนามกับ 5 ประเทศสมาชิกของสหภาพเศรษฐกิจเอเชีย – ยุโรปให้เข้าสู่ส่วนลึกมากขึ้น.