สำนักข่าวเอพีของสหรัฐถูกจีนระบุในรายชื่อควบคุมอย่างเข้มงวดในประเทศจีน (AP) |
ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ณ กรุงปักกิ่ง นาย จ้าวลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ย้ำว่า สำนักข่าวเอพี ยูพีไอ ซีบีเอสและเอ็นพีอาร์ ต้องรายงานข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับบุคลากร กิจกรรมการเงินและอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังถือครองอยู่ในประเทศจีน อีกทั้งยืนยันว่า นี่เป็นการตอบโต้สหรัฐที่สร้างแรงกดดันต่อสำนักข่าวต่างๆของจีน โดยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน สหรัฐได้ประกาศเปลี่ยนแปลงระเบียบการต่อสำนักข่าว 4 แห่งของจีน ประกอบด้วย สถานีวิทยุโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CCTV) หนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้า (People Daily) หนังสือพิมพ์Global Times และสำนักข่าว China News Service หรือ CNS ให้อยู่ในระดับเดียวกันกับคณะทูตานุทูตต่างประเทศแทนระดับสำนักข่าวประจำสหรัฐและต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับพนักงานและการถือครองอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐทราบ
การตอบโต้กันผ่านสำนักข่าว
ความตึงเครียดนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ปี 2020 ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ระบุสำนักข่าว 5 แห่งของจีน ประกอบด้วย สำนักข่าวซินหัว สถานีโทรทัศน์ระหว่างประเทศจีนหรือ CGNT สถานีวิทยุกระจายเสียงระหว่างประเทศแห่งประเทศจีนหรือCRI หนังสือพิมพ์China Daily และหนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้า (People Daily) เข้าบัญชีรายชื่อ “คณะทูตต่างประเทศ” ต่อจากนั้น เมื่อวันที่ 13 มีนาคม สหรัฐได้สั่งให้สำนักข่าว 5 แห่งดังกล่าวต้องลดจำนวนผู้สื่อข่าวประจำสหรัฐจาก 160 คนลงเหลือ 100 คน และในต้นเดือนพฤษภาคม สหรัฐได้ประกาศใช้ข้อกำหนดใหม่ที่เพิ่มความเข้มงวดในการออกวีซ่าให้แก่นักข่าวจีน
เพื่อตอบโต้การกระทำดังกล่าว จีนได้ประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคมเป็นต้นไป จะเนรเทศนักข่าวของ New York Times Washington Post และ Wall Street Journal อย่างน้อย 13 คน อีกทั้งกำหนดให้สำนักงานตัวแทนของสำนักข่าว 3 แห่งดังกล่าว รวมทั้งนิตยสาร Time และวิทยุเสียงอเมริกาหรือ VOA แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับพนักงาน การเงิน ทรัพย์สินและกิจกรรมในประเทศจีน นอกจากนั้น กระทรวงการต่างประเทศจีนยังตอบโต้ด้วยการเพิ่มความเข้มงวดในการออกวีซ่าให้แก่ผู้สื่อข่าวของสหรัฐเหมือนที่ทางการสหรัฐได้ทำต่อนักข่าวจีน
เครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 บินจากสหรัฐมาเข้าร่วมการฝึกซ้อมกับเครื่องบินของเรือบรรทุกเครื่องบิน Nimitz และ Ronald Reagan เมื่อวันที่ 5กรกฎาคมปี 2020. (Dongfang) |
การเผชิญหน้าในทุกด้าน
นอกจากความตึงเครียดที่เกี่ยวข้องถึงสำนักข่าวแล้ว ในเวลาที่ผ่านมา สหรัฐและจีนก็กำลังมีการเผชิญหน้ากันอย่างตึงเครียดในหลายด้าน เช่น เมื่อปี 2019 ทั้งสองประเทศมหาอำนาจนี้ได้ตกเข้าสู่สงครามการค้าที่รุนแรงโดยสถานการณ์ได้คลี่คลายลงเมื่อในต้นปีนี้ทั้งสองฝ่ายลงนามข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทำให้ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยทางการปักกิ่งและวอชิงตันได้กล่าวหากันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับต้นตอของไวรัส SARS-CoV-2 การห้ามเที่ยวบินพาณิชย์และวิธีการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของจีน เป็นต้น โดยเฉพาะ ประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวหาจีนหลายครั้งว่า เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่เริ่มแพร่ระบาดอย่างล่าช้าจนทำให้โลกต้องรับผลกระทบอย่างหนัก แต่ทางการจีนได้ยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ในด้านเทคโนโลยี สหรัฐได้เพิ่มมาตรการจำกัดต่างๆต่อกลุ่มบริษัทโทรคมนาคมหัวเว่ย (Huawei) ของจีนต่อไป โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ตัดสินใจแก้ไขข้อกำหนดด้านการส่งออกเพื่อจำกัดการซื้อ CPU ของหัวเว่ย ต่อจากนั้น เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน คณะกรรมการการสื่อสารกลางสหรัฐหรือ FCC ได้ขัดขวางไม่ให้บริษัทหัวเว่ยและบริษัท ZTE ของจีนรับเงินสนับสนุนจากกองทุนของรัฐบาลเพื่อจำกัดการเข้าถึงตลาดสหรัฐของบริษัททั้งสองแห่งนี้
สำหรับปัญหาฮ่องกง ประเทศจีน หลังจากรัฐสภาจีนอนุมัติกฏหมายความมั่นคงแห่งชาติสำหรับเขตปกครองตนเองฮ่องกง ซึ่งมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา สหรัฐได้ยกเลิกการให้สิทธิพิเศษสำหรับฮ่องกงทันทีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม โดยสหรัฐจำกัดนักศึกษาจากจีน ปรับสิทธิพิเศษด้านศุลากรและด้านอื่นๆสำหรับฮ่องกง อีกทั้งผลักดันมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนและฮ่องกง นอกจากนี้ แหล่งข่าวต่างๆยังรายงานรัฐบาลจีนได้สั่งให้บริษัทภาครัฐระงับการซื้อสินค้าของสหรัฐตามข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนาม
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า การเผชิญหน้าในหลายด้านทั้งการค้า เทคโนโลยี ความมั่นคงและการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างสหรัฐกับจีนที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงได้สะท้อนให้เห็นถึงความดุเดือดในการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ในทั่วโลกที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะยุติลงเมื่อไหร่ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจที่เป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก.