ผู้อพยพถูกนำตัวไปยังท่าเรือลา เรสติงกา หมู่เกาะคานารี ประเทศสเปน หลังจากได้รับการช่วยเหลือกู้ภัยกลางทะเล (AFP) |
สนธิสัญญาว่าด้วยการย้ายถิ่นฐานและการลี้ภัยฉบับใหม่ของสหภาพยุโรปหรือ EU เป็น 1ใน 10 กฎหมายที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้อนุมัติเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยเน้นถึงการแบ่งเบาความรับผิดชอบระหว่างประเทศสมาชิก และผลักดันกระบวนการคัดกรองผู้อพยพและผู้ลี้ภัย
ก้าวเดินทางประวัติศาสตร์
ตามสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติ สหภาพยุโรปจะจัดทำกลไกที่ต้องดำเนินการสำหรับการคัดกรองผู้อพยพ ณ จุดผ่านแดนของสหภาพยุโรป รวมทั้ง การระบุตัวตนและการรวบรวมข้อมูลไบโอเมตริกซ์ ตลอดจนการตรวจสุขภาพ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกระบุในฐานข้อมูลทั่วไปของสหภาพยุโรปที่มีชื่อว่า Eurodac จากข้อมูลนี้ ผู้ที่ได้รับการประเมินว่า “มีความเป็นไปได้น้อยที่จะได้รับอนุญาตให้ลี้ภัย” จะถูกจัดให้อยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวในขณะที่รอการพิจารณาใบขอลี้ภัย แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณาจะได้รับการปฏิบัติตามกระบวนการที่สั้นลง โดยจะใช้เวลาอย่างน้อย 7 วันเพื่อให้ผู้ที่ถูกปฏิเสธสามารถกลับไปยังประเทศต้นทางได้โดยเร็ว
เนื้อหาที่น่าสนใจข้อที่ 2 ของสนธิสัญญาฉบับใหม่นี้คือการแบ่งเบาความรับผิดชอบระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยสหภาพยุโรปจะยังคงรักษา “ระบบดับลิน” ที่ระบุให้ประเทศแรกที่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเดินทางมาถึงต้องรับและดำเนินการกับคำขอลี้ภัย แต่ตามสนธิสัญญาฉบับใหม่การแบ่งเบาความรับผิดชอบภายในสหภาพยุโรปคือการที่ประเทศอื่น ๆ จะต้องมีส่วนร่วมในการรับและการตั้งถิ่นฐานให้แก่ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยหรือผู้ที่ได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศในดินแดนของตน ในกรณีที่มีประเทศใดปฏิเสธรับผู้ลี้ภัย ประเทศนั้นจะต้องบริจาคเงินหรือให้การสนับสนุนด้านวัตถุและเทคนิคให้แก่ประเทศที่รับผู้อพยพ นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากการโต้แย้งเกี่ยวกับ “โควตา” ผู้ลี้ภัยได้สร้างความแตกแยกอย่างรุนแรงภายในสหภาพยุโรปในวิกฤตผู้ลี้ภัยในช่วงปี 2015-2016 เมื่อหลายประเทศ เช่น ฮังการี โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็กและสโลวาเกีย ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มวิเซกราดได้ยืนหยัดปฏิเสธไม่รับผู้ลี้ภัยในขณะที่อิตาลี กรีซ และสเปนต้องรับผู้ลี้ภัยหลายแสนคน
การอนุมัติสนธิสัญญาว่าด้วยการย้ายถิ่นฐานและการลี้ภัยฉบับใหม่ถือเป็นความสำเร็จทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ของสหภาพยุโรปในขณะที่เหลือเวลาเพียง 2 เดือนก็จะถึงการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปซึ่งมีขึ้นในระหว่างวันที่ 6-9 มิถุนายนนี้ นาง โรเบอร์ตา เมตโซลา ประธานรัฐสภายุโรปหรือ EP ได้ยกย่องสิ่งนี้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของสหภาพยุโรปภายหลังการหยุดชะงักมาเป็นเวลา 8 ปี
“เราได้ลงคะแนนอนุมัติข้อกำหนดเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของกรอบทางนิตินัย ซึ่งมีผลบังคับอย่างเท่าเทียมกันต่อทุกประเทศสมาชิก สนธิสัญญานี้ถือมนุษย์มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ตระหนักถึงความแตกต่างและความซับซ้อนของปัญหา อีกทั้ง ค้ำประกันความปลอดภัยของพรมแดนภายนอกของสหภาพยุโรป สร้างความชัดเจนในกฎระเบียบที่บังคับใช้ และค้ำประกันความสมดุลระหว่างความสามัคคีกับความรับผิดชอบ”
ผู้นำยุโรปหลายท่าน เช่น นาง อัวร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปหรือ EC นาย โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ก็ยกย่องสนธิสัญญาฉบับนี้ว่า เป็นก้าวเดินที่สำคัญของยุโรปในการป้องกันกระแสการอพยพย้ายถิ่นที่ผิดปกติ ซึ่งกำลังกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน นาย มัตเตโอ ปิอันเตโดซี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอิตาลีซึ่งเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปที่ต้องรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยมากที่สุดยังแสดงความเห็นว่า สนธิสัญญาฉบับใหม่นี้เป็นการรวบรวม “การประนีประนอมที่ดีที่สุด” ระหว่างประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปในช่วงนี้
นาง โรเบอร์ตา เมตโซลา ประธานรัฐสภายุโรปหรือ EP (globeecho) |
ข้อโต้แย้งเรื่องสิทธิของผู้อพยพ
ถึงแม้ว่าจะได้รับการประเมินในเชิงบวกจากผู้นำสหภาพยุโรป แต่สนธิสัญญาฉบับใหม่นี้ก็ต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ก่อนและหลังการลงคะแนนอนุมัติของรัฐสภายุโรป องค์กร NGO 161 องค์กรที่ดำเนินงานในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง องค์กรขนาดใหญ่ เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) คณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศและอ็อกซ์แฟม (Oxfam) ได้เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภายุโรปคัดค้านสนธิสัญญานี้เนื่องจากกังวลว่า ข้อกำหนดที่เข้มงวดในประเทศที่รับผู้อพยพจะส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่กำลังหลบหนีจากสงคราม การปะทะ ความยากจนและสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ข้อกำหนดบางข้อในสนธิสัญญาว่าด้วยการควบคุมตัวชั่วคราว การตรวจสอบเอกสารอย่างรวดเร็ว และการเร่งส่งผู้อพยพกลับประเทศต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย นอกจากนี้ องค์กรปกป้องสิทธิของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยหลายองค์กรยังคัดค้านสนธิสัญญานี้เนื่องจากเชื่อว่า พรรคการเมืองสำคัญๆใน EP อนุมัติสนธิสัญญาฉบับนี้เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของพรรคฝ่ายขวาและพรรคประชานิยมก่อนการเลือกตั้งในยุโรป นาย Johannes Rueckerl โฆษกองค์การ NGO Seebrucke ที่ปกป้องสิทธิของผู้อพยพเผยว่า
“เราคัดค้านสนธิสัญญาว่าด้วยการย้ายถิ่นฐานและการลี้ภัยฉบับใหม่ เพราะไม่มีอะไรที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างจะเลวร้ายลงเมื่อมีการจำกัดสิทธิมนุษยชน ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจะต้องเผชิญกับอันตรายมากขึ้น”
นอกจากการคัดค้านขององค์กรพลเรือนหลายแห่งแล้ว การบังคับใช้สนธิสัญญาฉบับใหม่ในประเทศสหภาพยุโรปอาจเผชิญกับอุปสรรคเนื่องจากบางประเทศ เช่น โปแลนด์ ยังคงคัดค้านสนธิสัญญานี้ต่อไป นอกจากนี้ พรรคขวาจัดและพรรคประชานิยมบางพรรคในประเทศอื่นๆยังวิพากษ์วิจารณ์สนธิสัญญานี้เพราะเห็นว่า ข้อกำหนดต่างๆไม่เข้มงวดสำหรับการปฏิบัติ ดังนั้น ผู้สังเกตการณ์จึงแสดงความเห็นว่า เมื่อสนธิสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2026 ยุโรปจะยังคงต้องถกเถียงกันเกี่ยวกับปัญหาการอพยพย้ายถิ่นและการลี้ภัยต่อไป.