การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกหรือ G7 เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น (NHK) |
7 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ครั้งนี้ ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษและสหรัฐ ปัจจุบัน กลุ่ม G7 มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นประมาณร้อยละ 47 ของ GDP โลก
ฮิโรชิมา-เวทีเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นเกี่ยวกับโลกที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์
หนึ่งในเนื้อหาสำคัญที่ถูกหารือในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G7 ครั้งนี้คือ นโยบายไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ นี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุด แต่ก็ถือว่ามีความหมายเป็นพิเศษต่อประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ว่า ปัจจุบัน ญี่ปุ่นยังไม่ได้ลงนามสนธิสัญญาไม่เผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์ของสหประชาชาติและประเทศมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ไม่เข้าร่วมสนธิสัญญาฉบับนี้ แต่ญี่ปุ่นยังคงยืนยันถึงจุดยืนเกี่ยวกับโลกที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์อยู่เสมอ มีความประสงค์ที่จะบรรลุความคืบหน้าอย่างแท้จริงและมั่นคงเกี่ยวกับมาตรการในการปลอดนิวเคลียร์ในขณะที่ยังคงธำรงและเพิ่มความสามารถในการป้องปรามเพื่อรับมือภัยคุกคามต่างๆ
จากการเป็นประเทศเดียวที่ได้รับความเสียหายจากการโจมตีด้วยนิวเคลียร์เมื่อปี 1945 ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ญี่ปุ่นพยายามแสวงหามาตรการเพื่อส่งเสริมให้ประชาคมระหว่างประเทศปลดอาวุธนิวเคลียร์และไม่เผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้น ไม่เพียงแต่ในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G7 นี้เท่านั้น หากในเวทีระหว่างประเทศที่จัดขึ้น ณ ประเทศญี่ปุ่น ทางการโตเกียวได้เชิญบรรดาผู้นำของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐมาเข้าร่วมพิธีวางพวงมาลารำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงคำมั่นว่า อาวุธนิวเคลียร์ไม่สามารถสร้างภัยคุกคามได้อีก
ก่อนหน้านั้น ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G7 ซึ่งจัดขึ้น ณ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2016 ประธานาธิบดีสหรัฐ บารัก โอบามา ได้กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ไปวางพวงมาลา ณ สวนสาธารณะสันติภาพฮิโรชิมา คาดว่า บรรดาผู้นำของกลุ่ม G7 ที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้จะเข้าร่วมพิธีเช่นเดียวกันนี้เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่จำเป็นต้องมีอาวุธนิวเคลียร์ โดยในฐานะประเทศเจ้าภาพของการประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ในปีนี้ ญี่ปุ่นหวังว่า ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์จะได้รับการหารืออย่างจริงจังเพื่อมุ่งสู่การบรรลุความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ของประเทศสมาชิกของกลุ่ม G7 ตลอดจนคำมั่นที่จะปฏิบัตินโยบายไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ คาดว่า จะมีการเผยแพร่เอกสารที่ย้ำถึงความสำคัญของการไม่เผยแพร่และการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งรวมถึงความพยายามเพื่อธำรงการไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ การลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์และการเร่งรัดให้ประเทศมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์มีความโปร่งใสเกี่ยวกับความสามารถด้านนิวเคลียร์ของตนมากขึ้น
บรรดาผู้นำของประเทศจี 7 ที่เข้าร่วมการประชุม (Reuters) |
การประชุมสุดยอด G7 หารือเกี่ยวกับมาตรการเพื่อแก้ไขความท้าทายที่โลกกำลังต้องเผชิญ
นอกจากประเด็นเกี่ยวกับนโยบายไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์แล้ว การปะทะระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็เป็นหนึ่งในเนื้อหาที่ได้รับการหารือ โดยญี่ปุ่นได้เตรียมเนื้อหานี้อย่างรอบคอบตั้งแต่หลายเดือนก่อน และได้รับการอนุมัติเบื้องต้นในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม G7 เมื่อกลางเดือนเมษายนที่เมืองนากาโน่ ประเทศญี่ปุ่น นับตั้งแต่เกิดการปะทะระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทางสหรัฐ ญี่ปุ่นและประเทศพันธมิตรอื่นๆได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียประมาณ 11,000 ครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบไปใน 5 แนวทาง คือการเงิน การค้า เทคโนโลยี พลังงานและกลุ่มคนที่มีอิทธิพลในด้านต่างๆของรัสเซีย ซึ่งทำให้รัสเซียเป็นประเทศที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุดในโลก และญี่ปุ่นหวังว่า กลุ่ม G7 และหุ้นส่วนต่างๆจะสามารถแสวงหามาตรการเพื่อลดความขัดแย้งกันได้
ควบคู่กันนั้น ปัญหาการปลอดนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงด้านสาธารณสุขโลกและความเสมอภาคทางเพศก็เป็นเนื้อหาที่ได้รับการหารือในการประชุมครั้งนี้ และที่ประชุมสุดยอด G7 หวังว่า จะสามารถออกแถลงการณ์ร่วมที่มีการระบุถึงเนื้อหาสำคัญเหล่านี้
ในปีนี้ ผู้นำของออสเตรเลีย บราซิล คอโมโรส หมู่เกาะคุก อินเดีย อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลีและเวียดนาม รวมถึงผู้นำขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G7 ขยายวง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเทศเจ้าภาพญี่ปุ่นได้เน้นความสนใจกับความสำคัญของการเข้าถึงประเทศกำลังพัฒนาและประเทศหุ้นส่วน โดยการประชุม ขยายวงนี้จะหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการแก้ไขวิกฤตต่างๆ โดยเฉพาะในด้านอาหาร สาธารณสุข การพัฒนาและความเสมอภาคทางเพศ ความพยายามร่วมเพื่อโลกที่ยั่งยืนโดยเน้นถึงปัญหาสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน การมุ่งสู่โลกแห่งสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรือง ทั้งนี้เนื้อหาที่ได้รับการหารือในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G7 และการประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ขยายวงแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของญี่ปุ่นและประเทศที่เข้าร่วมในการร่วมกันแสวงหามาตรการระดับโลกและใช้เวทีการประชุมนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือพหุภาคีในการแก้ไขความท้าทายต่าง ๆ .