โลโก้การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ G20 ที่นูซาดัว ประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2022 (AFP) |
การประชุมรัฐมนตรีการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม G20 มีขึ้นในสภาวการณ์ที่การปะทะในยูเครนได้ย่างเข้าสู่เดือนที่ 5 ซึ่งส่งผลกระทบในทางลบหลายด้าน เช่น ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นและวิกฤตค่าครองชีพที่รุนแรงมากขึ้น เมื่อเร็วๆนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟได้เตือนว่า เศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มที่ไม่มั่นคงและการหยุดชะงักของแหล่งจัดสรรก๊าซไปยังยุโรปสามารถทำให้เศรษฐกิจต่างๆตกเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น อีกทั้งยังได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกลงเหลือร้อยละ 3.6 และนี่เป็นการปรับลดครั้งที่ 3 ในปีนี้และยังมีแนวโน้มที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะยังคงดำเนินต่อไปในปีนี้
จำเป็นต้องมีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์เพื่อแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วน
ปัญหาต่างๆเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น เงินเฟ้อ ความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของเศรษฐกิจเกิดใหม่ ความมั่นคงด้านอาหารและราคาน้ำมันคือเนื้อหาหลักที่ได้รับการอภิปรายในการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ บรรดาผู้นำทางการเงินของกลุ่ม G20 ยังหารือเกี่ยวกับปัญหาอื่นๆ เช่น การส่งเสริมข้อคิดริเริ่มระดับโลกเกี่ยวกับพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธนาคารดิจิทัลและมาตรฐานด้านภาษี
เมื่อหนึ่งทศวรรษก่อน บรรดาธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ได้รับการยกย่องว่ามีบทบาทในการรับมือวิกฤตการเงินโลก แต่ปัจจุบัจ กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเนื่องจากต้องเร่งรับมืออัตราเงินเฟ้อที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางของกว่า 80 ประเทศได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ในขณะเดียวกัน บรรดานักลงทุนกำลังรีบถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากความไร้เสถียรภาพทำให้เกิดการถอนเงินลงทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ทางการของหลายประเทศต้องพิจารณาการแทรกแซงทางการเงินเพื่อปกป้องค่าเงินภายในประเทศ
ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่งในการประชุมครั้งนี้คือการที่บรรดาผู้นำทางการเงินต้องบรรลุเสียงพูดเดียวกันเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร หลายประเทศกำลังประสบอุปสรรคเกี่ยวกับปัญหาแหล่งจัดสรรอาหาร โดยอียิปต์ ตุรกี บังคลาเทศและอิหร่านต้องพึ่งพารัสเซียและยูเครนเกี่ยวกับการนำเข้าข้าวสาลีกว่าร้อยละ 60 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในกรอบการประชุมฤดูใบไม้ผลิของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน กระทรวงการคลังสหรัฐได้จัดประชุมโดยมีเจ้าหน้าที่การเงินระหว่างประเทศและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหารเข้าร่วมเพื่อแก้ไขวิกฤตที่ทวีความรุนแรงขึ้น ในการประชุม บรรดาผู้แทนได้ตกลงที่จะกำหนดหลักการและแผนปฏิบัติการ ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็มีความคืบหน้าที่ชัดเจนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนี้ บรรดาผู้นำทางการเงินของกลุ่ม G20 ยังต้องแสวงหาความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ในปัญหาอื่นๆ เช่น ข้อเสนอของวอชิงตันที่จะกำหนดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซีย การปกป้องสกุลเงินที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น
รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ Janet Yellen (AFP) |
แสวงหามาตรการสำหรับเศรษฐกิจโลก
ปัจจุบัน ได้มีสัญญาณในเชิงบวกในการประชุม โดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ Janet Yellen ประกาศสนับสนุนเงิน 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่กองทุนลดความยากจนและส่งเสริมการเติบโต (PRGT) เพื่อช่วยให้ประเทศยากจนสามารถกู้เงินปลอดดอกเบี้ย อีกทั้งเรียกร้องให้จีนมีส่วนร่วมต่อการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำ
ในการอภิปรายครั้งก่อน กลุ่ม G20 ยังบรรลุความคืบหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ เช่น หลักการของการบริหารสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง และพยายามเสนอมาตรการช่วยเหลือประเทศยากจนแก้ปัญหาวิกฤตอาหารผ่านการค้ำประกันแหล่งจัดสรร ตลอดจนความสามารถในการซื้ออาหารและปุ๋ย ผู้ว่าการธนาคารกลางของอินโดนีเซีย Perry Warjiyo กล่าวว่า ทุกฝ่ายกำลังพยายามบรรลุแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมมาเป็นเวลา 2 วัน หรืออย่างน้อยคือแถลงการณ์ประธาน
แต่อย่างไรก็ตาม การปะทะระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงสร้างความมืดมนต่อระเบียบวาระการประชุม ขณะนี้ ยังคงมีความขัดแย้งระหว่างประเทศตะวันตกกับรัสเซียเกี่ยวกับถ้อยคำของแถลงการณ์ร่วม การประเมินสถานะของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน การประชุมรัฐมนตรีการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม G20 จะหาทางออกให้แก่เศรษฐกิจโลกได้ หรือไม่ขึ้นอยู่กับการที่รัฐบาลจะละทิ้งความแตกต่างทางการเมืองและมีปฏิบัติการที่เข้มแข็งเพื่อรับมือผลกระทบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนต่อระบบอาหารและพลังงานของโลกหรือไม่ ซึ่งเป็นความท้าทายที่ไม่สามารถฟันฝ่าได้โดยง่าย.