ฮึนไหม (Hưn mạy) คือเครื่องดนตรีพื้นเมืองของชนเผ่าค้าง |
ฮึนไหม (Hưn mạy) คือเครื่องดนตรีพื้นเมืองของชนเผ่าค้างที่ทำง่าย เล่นง่าย ชาวค้างทุกเพศทุกวัยใครๆก็สามารถเล่นได้ โดยเครื่องดนตรีชนิดนี้ทำจากไผ่ เวลาเล่นก็แค่ถือที่ปลายด้านล่างแล้วเคาะปลายด้านบนที่ผ่าเป็นแฉกกับมืออีกข้างตามจังหวะของเสียงกลอง เสียงฆ้อง จังหวะเพลงและการระบำรำฟ้อน
นาง Lò Thị Phắư ซึ่งมีความเข้าใจเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชนเผ่าค้างในตำบลเจี่ยงเอิน อำเภอกวิ่งยาย จังหวัดเซินลา อย่างถ่องแท้ได้เผยว่า ก่อนหน้านี้ ชนเผ่าค้างได้ตั้งถิ่นฐานที่เขตเขาในป่า ริมลำธาร แม่น้ำและทำไร่ทำนาแบบธรรมชาติ ซึ่งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ลำบากมาก โดยต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ อีกทั้งทำเครื่องดนตรีที่สอดคล้องกับกิจกรรมวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งรวมถึงฮึนไหม (Hưn mạy)
“ชาวบ้านจะเลือกตัดต้นไผ่แก่จัด และจะใช้ปล้องบริเวณลำต้นสำหรับการทำฮึนไหม โดยปล้องไผ่ต้องตากแห้งในห้องครัวจนเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้วตัดเป็นท่อนๆ ความยาวประมาณ 40-60 เซนติเมตรและเจาะรูบังคับเสียง 2 รูเพื่อให้ได้เสียงที่ก้องกังวาน”
ก่อนหน้านี้ หนุ่มสาวชนเผ่าค้างได้จัดกิจกรรมร้องเพลงและระบำรำฟ้อนที่ลานหน้าศูนย์วัฒนธรรมของหมู่บ้าน โดยเฉพาะในคืน 15 ค่ำตามจันทรคติ จะมีการเล่นฮึนไหม (Hưn mạy)และรำตังบู ซึ่งช่วยคลายความเครียดจากการทำงานในช่วงกลางวัน อีกทั้งช่วยให้คู่หนุ่มสาวได้พบรักกันผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรม
“ในฤดูหนาว หนุ่มสาวชนเผ่าค้างจะก่อกองไฟเพื่อรำฮึนไหม (Hưn mạy)และรำตังบู แล้วนั่งรอบกองไฟดื่มเหล้าอุและร้องเพลงร่วมกันอย่างสนุกสนาน”
การรำฮึนไหม (Hưn mạy) |
ปัจจุบัน ในเทศกาลต่างๆและงานมหกรรมศิลปะในอำเภอกวิ่งยาย ล้วนมีการรำฮึนไหม (Hưn mạy) ซึ่งดึงดูดผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก โดยผู้รำ 8- 10 คนจะยืนรำเป็นวงกลมและเล่นฮึนไหม ทำให้บรรยากาศของงานมีความคึกคักเป็นอย่างมากและช่วยเสริมสร้างความสามัคคีในหมู่บ้าน นาง เดียว ถิ เหยิด หัวหน้าสำนักงานวัฒนธรรมและการสื่อสารอำเภอกวิ่งยาย จังหวัดเซินลาได้เผยว่า“การรำตังบูและรำฮึนไหมสะท้อนเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าค้าง โดยหลายปีที่ผ่านมา ทางการอำเภอฯได้ให้ความสนใจอนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมงานเทศกาล การร้องเพลงพื้นเมือง การระบำรำฟ้อนพื้นเมืองและประเพณีต่างๆที่มีความเสี่ยงที่จะสูญหายไป”
ทั้งนี้ การรำและเล่นฮึนไหม (Hưn mạy) ของชนเผ่าค้างในอำเภอกวิ่งยาย จังหวัดเซินลาได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นและได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดีจนกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในกิจกรรมวัฒนธรรมและศิลปะของชนเผ่าค้าง.