|
คุณป้า H Nun Byă ที่ชาวบ้านมักเรียกอีกชื่อว่า amí Chuyên ในหมู่บ้าน Cư Êbông ตำบล Ea Kao นครบวนมาถวด จังหวัดดั๊กลัก ปีนี้อายุ70แล้วและได้ประกอบอาชีพทอผ้าลายพื้นเมืองมากว่า 60ปี ได้บอกว่า ตั้งแต่ตอนอายุยังน้อย เธอก็เห็นแม่และยายทอผ้าห่ม กระโปรง และชุดเสื้อผ้าด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์สำหรับใช้ประจำวันหรือเป็นสินสอดทองหมั้น ใช้เป็นของขวัญในโอกาสพิเศษ หรือยังใช้เป็นสิ่งของสำหรับส่งให้แก่ผู้ตาย ตามที่คุณป้า H Nun Byă บอกลายผ้าพื้นเมืองบนชุดแต่งกายของชนเผ่าเอเดมักจะเน้นสีหลักๆคือดำ แดง เหลืองและขาว โดยตั้งแต่โบราณ ชนเผ่าเอเดก็รู้จักใช้ฝ้ายเป็นวัตถุดิบทอผ้า โดยนำฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นและย้อมสีด้วยโคลน ใบไม้ ราก หรือเปลือกต้นไม้ป่า เมื่อมีเส้นด้ายที่มีสีตามความต้องการก็จะนำหลอดด้ายไปใส่ในกระสวยเพื่อทอผ้าตามลวดลายที่ได้ออกแบบ โดยทอสลับกับการทอสอดเส้นด้ายสีต่างๆ เพื่อคั่นลาย และเพิ่มสีสันให้เกิดสวยงามในลวดลายบนผืนผ้า “สมัยก่อนคนใช้ฝ้ายมาปั่นด้ายและย้อมสี ลายผ้ามักจะออกแบบด้วยการใช้สีขาว สีดำ และสีแดง ซึ่งลายผ้าก็มีหลายแบบให้เลือกตั้งแต่ลายที่ใช้ด้าย 15 เส้น 17 เส้น 27 เส้นหรือบางทีก็มากถึง 35 เส้น แบบที่ยากที่สุดคือการทอแบบ kngăm คือเทคนิคการทอผ้าแบบยกดอก”
สมัยก่อนมีแต่คนที่มีฐานะดีถึงจะใส่ชุดที่ใช้เทคนิคการทอนี้ |
การออกลวดลายบนผ้าทอนั้นจะขึ้นอยู่กับชุดแต่งกายที่ใช้ในโอกาสต่างๆ และชุดของผู้ชายจะมีความแตกต่างกับลายผ้าตัดชุดของผู้หญิง ชุดที่สวมใส่ในชีวิตประจำวันก็มีรูปแบบที่แตกต่างจากที่ชุดที่ใช้สำหรับวันงานสำคัญและลวดลายบนเสื้อผ้าก็ยังสะท้อนถึงความมั่งคั่งและอำนาจของผู้สวมใส่อีกด้วย คุณ H Yar Kbuôr ช่างทอผ้าอาวุโสที่หมู่บ้าน Ktla ตำบล Drai Sap อำเภอ Krông Ana จังหวัดดั๊กลักเผยว่า ชาวเอเดมีเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า Kteh ในการทอลวดลายบนชุดแต่งกาย โดยสมัยก่อนมีแต่คนที่มีฐานะดีถึงจะใส่ชุดที่ใช้เทคนิคการทอนี้ ซึ่งเป็นการใช้ด้ายสีและลูกปัดหรือเมล็ดบอบอมาประกอบในการทอเพื่อสร้างแถบลายชิดขอบชายเสื้อ กระโปรงหรือผ้าเตี่ยว ซึ่งคุณ H Yam Bkrông หัวหน้าสหกรณ์ผ้าพื้นเมือง Tơng Bông ของหมู่บ้าน Tơng Jú ตำบล Ea Kao นครบวนมาถวดเผยว่า ชาวเอเดมักจะนำภาพธรรมชาติมาทำเป็นลวดลายของผ้าเช่นรูปของนกหรือเต่า รูปดอกไม้ต้นไม้ป่า หรือสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนเช่นครกตำข้าว บ้านไม้ยกพื้น เป็นต้น แม้ปัจจุบันจากการพัฒนาของเทคโนโลยีได้มีการนำด้ายอุตสาหกรรมมาใช้ทอผ้าแต่สีสันและลวดลายต่างๆก็ยังออกแบบตามประเพณีดั้งเดิม และยังมีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ในการผสมด้ายสีเพื่อให้ได้ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์และผืนผ้าที่มีสีสันสวยงามมากขึ้น“ลายผ้าพื้นเมืองของชนเผ่าเอเดจะไม่มีแบบฉบับในหนังสือหากเป็นการออกแบบตามความคิดสร้างสรรค์ของผู้ทอผ้า ลายบนเสื้อของผู้ชายและเสื้อของผู้หญิงจะแตกต่างกัน โดยมีลายมังกร ลายเต่า ส่วนบนกระโปรง มีลายอุด กิ่งไผ่ไขว้สลับกัน ลายเกลียว เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเราต้องการสร้างลวดลายที่ใหญ่ขึ้น เรายังอาศัยจากแบบลายโบราณและมีการเพิ่มเติมใหม่ ด้วยการเพิ่มจำนวนเส้นด้าย เช่นการทอลายภาพแจกัน คน หรือบ้านเรือน”
ในชีวิตสมัยใหม่ เครื่องแต่งกายด้วยผ้าลายพื้นเมืองอาจจะไม่ค่อยพบเห็นในวิถีชีวิตประจำวันของชาวเอเดในดั๊กลักแต่ในงานเทศกาลและพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ชาวเอเดก็ยังคงสวมใส่ชุดเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมหรือแบบที่มีการปรับปรุงด้วยลวดลายแบบสมัยใหม่ ซึ่งกลายเป็นจุดเด่นของเครื่องแต่งกาย สร้างความโดดเด่นให้เครื่องแต่งกายผ้าพื้นเมืองของชนเผ่าเอเดในสีสันอันหลากหลายของชุดแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดดั๊กลัก ./.