( VOVworld )-
เมื่อเสียงฆ้องกังวาลขึ้นทั่วผืนดินเตยเงวียนยามวสันต์เวียนมาเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า เทศกาลต่างๆตามหมู่บ้านได้เปิดขึ้นแล้ว แต่เพื่อจะให้มีเสียงฆ้องที่ครึกครื้นเร้าใจนั้น ศิลปินอาวุโสหลายชีวิตของเขตที่ราบสูงเตยเงวียนต้องทุ่มเททุกอย่างในการเปิดชั้นเรียนฝึกการตีฆ้องและสร้างแรงบันดาลใจในศิลปะพื้นบ้านแขนงนี้ให้แก่เด็กๆ
งานเทศกาลวัฒนธรรมและกีฬาของตำบลจะจัดขึ้นหลังตรุษเต็ตเวียดนาม ๑ เดือนแต่ทีมตีฆ้องรุ่นใหม่ของหมู่บ้านปูเฮว ตำบลแออา เกอตูร์ อำเภอจือกวิง จังหวัดดั๊กลั๊กยังฝึกการตีฆ้องทุกค่ำ พวกเขามาฝึกตีฆ้องบทใหม่ๆที่ศาลาของหมู่บ้านอย่างกระตือรือร้น ส่วนเสียงฆ้องนั้นมีจังหวะเร่งเร้าใจและสนุกสนาน เด็กชาย อี ซุน เอ บาน สมาชิกของทีมเปิดเผยว่า “ ทีมของผมมีสมาชิก ๗ คนที่ฝึกการตีฆ้องตามจังหวะต่างๆได้ ๒ เดือนเท่านั้นแต่ก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว มีคนตีฆ้องนำแล้วพวกผมตีตาม เมื่อได้รับเชิญไปแสดงพวกผมก็จะไปเลย พวกผมเข้าร่วมแสดงได้ ๓ ครั้งแล้ว โดยหนึ่งครั้งที่อำเภอและสองครั้งที่เหลือแสดงที่ตำบลดราย บฮัง ”
ทางอำเภอจือกวิงจัดงบประมาณให้เปิดชั้นเรียนและฝึกตีฆ้องให้แก่เด็กๆของหมู่บ้านปูเฮว ทำให้ศิลปินอาวุโสและเด็กๆของหมู่บ้านรู้สึกปลื้มปิติ โดยเด็กหลายคนขออนุญาตพ่อแม่ให้ไปเรียนและเข้าร่วมการฝึกเป็นประจำ เด็กหญิง อี บี เกอนูล วัย ๑๓ นักเรียนมัธยมต้นปีที่ ๑ ต้องถีบจักรยานไปยังศาลาประจำหมู่บ้านระยะทาง ๕ กิโลเมตรทุกค่ำเพื่อร่วมการฝึกตีฆ้องกับเพื่อนๆ เด็กหญิง อี บี เกอนูล คุยกับพวกเราว่า “ หนูอยากเรียนและได้รับการสนับสนุนจากพ่อและแม่ พวกเขาตีฆ้องเสียงเพราะมาก คุณลุงอาเอ แญวฝึกการตีฆ้องให้แก่พวกหนู คุณลุงตีฆ้องเก่งมากๆ การฝึกตีฆ้องค่อนข้างยาก โดยเฉพาะการตีฆ้องจังหวะเทศกาลข้าวใหม่ ”
คุณลุงอี งูอิน เกอนูลหรือชาวบ้านมักเรียกท่านว่า อาเอ แญว วัย ๗๐ ท่านเป็นศิลปินอาวุโสและเป็นครูฝึกสอนเด็กๆของทีมหมู่บ้าน ปูเฮวให้ตีฆ้อง คุณลุงอาเอ แญวจำการตีฆ้องตามจังหวะต่างๆจนขึ้นใจตั้งแต่เด็ก ท่านเล่าว่า ตอนที่มีอายุเท่ากับเด็กเหล่านี้ ท่านมักจะตามปู่และพ่อเข้าร่วมงานเซ่นไหว้ งานศพ งานแต่งงานและเทศกาลของหมู่บ้าน ลุงชอบฟังป้าน้าอาตีฆ้อง เมื่อพวกเขาหยุดพักลุงจะลองตีเอง จากการลองตีเองหลายครั้งทำให้ลุงรู้จักวิธีการตีฆ้อง สมัยนั้นเด็กต้องเรียนและฝึกตีฆ้องเองไม่มีครูสอนเหมือนปัจจุบัน
ปัจจุบัน ศิลปินอาวุโสอาเอ แญว ฝึกการตีฆ้องบทต้นฉบับให้แก่สองทีมรุ่นใหม่ได้สำเร็จ รุ่แรกมีอายุตั้งแต่ ๑๕-๑๖ปี ส่วนรุ่นที่สองมีอายุน้อยกว่า คุณลุงอาเอ แญวคุยว่า ท่านรู้สึกดีใจมากที่เด็กรุ่นใหม่ชอบและเรียนรู้การตีฆ้องเร็วมาก “ เด็กๆรักการเรียน พวกเขามาที่บ้านเรียกผมให้ไปสอน เด็กๆชอบและพยายามเรียนด้วย ผมจะถ่ายทอดให้แก่เด็กๆอย่างเต็มที่เพราะผมแก่แล้วการเดินเหินไม่สะดวก ผมฝึกให้เด็กๆเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ ให้”
คุณลุงอาเอ แญวถือว่า การฝึกการตีฆ้องให้แก่เด็กนั้นเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านและทำให้พวกเด็กๆมีใจมุ่งสู่รากเหง้าเพราะเสียงฆ้องคือจิตวิญญาณของชนเผ่า อีกทั้งทำให้เด็กๆซาบซึ้งในคุณค่าแห่งมนุษยศาสตร์ของบรรพบุรุษที่ชีวิตมีทั้งความสนุกและความเศร้า และในเร็วๆนี้ เด็กเหล่านี้จะเป็นผู้แสดงตีฆ้องในงานเทศกาลของหมู่บ้าน พวกเขาเป็นคนอนุรักษ์วัฒนธรรมเตยเงวียนที่มีเอกลักษณ์และอนุรักษ์ให้เสียงฆ้องกังวาลขึ้นทั่วผืนดินเตยเงวียนตลอดไป ./.