พระราชวังหว่างแถ่งทังลอง |
พระราชวังหว่างแถ่งทังลองตั้งอยู่เลขที่ 18 ถนนหว่างเหยียว กรุงฮานอย ถูกค้นพบเมื่อปี 2002 ในพื้นที่ 1 หมื่น 9 พันตารางเมตร ซึ่งเป็นการค้นพบทางโบราณคดีที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในตอนนั้น โดยสามารถขุดพบร่องรอยต่างๆ ของพระราชวังหว่างแถ่งทังลองที่มีอายุ 13 ศตวรรษ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ลี้ เจิ่น เล หมากและเหงวียนในช่วงปี 1010 -1945 โดยมีโบราณสถานที่ทับซ้อนกันหลายชั้น เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2010 คณะกรรมการมรดกโลกสังกัดองค์การศึกษา วิทยศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติหรือยูเนสโกได้ประกาศรับรองเขตโบราณสถานพระราชวังหว่างแถ่งทังลอง-ฮานอยให้เป็นมรดกวัฒนธรรมโลก นาย Christian Manhart หัวหน้าสำนักงานตัวแทนของยูเนสโกประจำเวียดนามได้ยืนยันว่า พระราชวังหว่างแถ่งทังลอง เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นว่าที่นี่เป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมจากทั่วภูมิภาคเอเชียมาตั้งแต่ศตวรรษที่13 ซึ่งมีมรดกโลกไม่กี่แห่งที่มีหลักฐานการคงอยู่ที่ยาวนานเหมือนเขตโบราณสถานพระราชวังหว่างแถ่งทังลอง
นับตั้งแต่การขุดพบครั้งแรก โดยเฉพาะหลังจากที่ได้รับการรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมโลก เขตโบราณสถานพระราชวังหว่างแถ่งทังลองได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากสำนักงานการบริหารภาครัฐ นักวิชาการทั้งภายในและต่างประเทศ รายงานที่ประกาศในการสัมมนาเชิงวิชาการระหว่างประเทศภายใต้หัวข้อ “ 20 ปีการวิจัยอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกพระราชวังหว่างแถ่งทังลอง”ที่มีขึ้น ณ กรุงฮานอย เมื่อเร็วๆนี้ระบุว่า หลังจากที่ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโกเมื่อปี 2010 มรดกนี้ได้ส่งเสริมคุณค่าในหลายด้าน การค้นพบทางโบราณคดีครั้งต่างๆทำให้ทราบข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับพระราชวังหว่างแถ่งทังลอง สิ่งที่น่าสนใจ คำมั่น 8 ข้อของนายกรัฐมนตรีเวียดนามที่ให้ไว้กับคณะกรรมการมรดกโลกเกี่ยวกับมรดกพระราชวังหว่างแถ่งทังลองได้รับการปฏิบัติเป็นอย่างดี รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ เจิ่นดึ๊กเกื่อง นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์เวียดนามและดอกเตอร์ ฟานแทงหาย สมาชิกสภามรดกแห่งชาติได้ยืนยันว่า
"ในตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะภายหลัง 12 ปีที่พระราชวังหว่างแถ่งทังลองได้รับการรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมโลก งานด้านการอนุรักษ์และการวิจัยเพื่อส่งเสริมคุณค่าของมรดกเขตโบราณสถานพระราชวังหว่างแถ่งทังลอง-ฮานอยได้รับการปฏิบัติอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ”
“สิ่งที่สำคัญคือ ควบคู่กับการค้นพบทางโบราณคดี ความตระหนักเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการส่งเสริมมรดกนับวันได้รับการยกระดับทั้งในระบบการบริหารภาครัฐและในชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากและผมเห็นว่า นี่เป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อช่วยให้ชาวเวียดนาม โดยเฉพาะชาวฮานอยสามารถอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าของพระราชวังหว่างแถ่งทังลองให้มากขึ้น”
ตามจุดยืนร่วมของบรรดานักวิชาการทั้งภายในและต่างประเทศ งานด้านการวิจัย การอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่ามรดกเป็นกระบวนการที่ต้องได้รับการปฏิบัติในระยะยาว ต้องวางแผนและมีการปฏิบัติเชิงยุทธศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ Ueno Kunikazu จากมหาวิทยาลัย Naza ของญี่ปุ่นเห็นว่า การศึกษาวิจัยทางโบราณคดีพระราชวังหว่างแถ่งทังลองมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะยิ่งทำการวิจัยก็ยิ่งค้นพบหลักฐานใหม่ๆเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพระราชวังแห่งนี้ ซึ่งมีส่วนร่วมส่งเสริมคุณค่าของมรดกนี้ในระดับโลก
ส่วนจากมุมมองของสำนักงานบริหารนั้น นาย เหงวียนแทงกวาง ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์มรดกพระราชวังหว่างแถ่งทังลอง-ฮานอยได้เผยว่า แผนการบริหารมรดกพระราชวังหว่างแถ่งทังลองในช่วงปี 2021 -2025 แนวทางจนถึง ปี 2030 วิสัยทัศน์จนถึงปี 2045ได้รับการจัดทำบนพื้นฐานของการประเมินผลการปฏิบัติแผนการบริหารเขตโบราณสถานกำแพงพระราชวังหว่างแถ่งทังลองปี 2013 ประสิทธิภาพการบริหารคุณค่าที่โดดเด่นระดับโลกของมรดก ทำการวิเคราะห์เขตมรดกในระยะปัจจุบัน เพื่อเสนอมาตรการอนุรักษ์เขตโบราณสถานพระราชวังหว่างแถ่งทังลองให้เป็นแหล่งความรู้ทางโบราณคดี วัฒนธรรมและสิ่งของวัตถุเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของรัฐเวียดนาม
“ตามแนวทางจนถึงปี 2030 วิสัยทัศน์จนถึงปี 2045 พระราชวังหว่างแถ่งทังลองเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งของกรุงฮานอย จากการปฏิบัติมติที่ 09 ของกรุงฮานอย พวกเรากำหนดให้ทำการอนุรักษ์มรดกนี้ผ่าน การบูรณะปฏิสังขรณ์และส่งเสริมคุณค่าพระราชวังหว่างแถ่งทังลองเพื่อสืบทอดให้แก่คนรุ่นหลัง”
ในการกล่าวปราศรัยต่อที่สัมมนา นาย Lazare Eloudou Assomo ผู้อำนวยการศูนย์มรดกโลกได้ชื่นชมการที่ทางการกรุงฮานอยปฏิบัติกิจกรรมการวิจัย การอนุรักษ์และการส่งเสริมคุณค่าของพระราชวังหว่างแถ่งทังลอง ซึ่งเป็นโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเวียดนาม พร้อมทั้งเห็นว่า ต้องมีวิธีการเข้าถึงใหม่ในงานด้านการอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์ของมรดกวัฒนธรรมพิเศษนี้
ส่วนนาย จื๋อซวนหยุง รองประธานคณะกรรมการประชาชนกรุงฮานอยได้ยืนยันว่า ความคิดเห็นของบรรดานักวิชาการเป็นหนึ่งในพื้นฐาน มีส่วนช่วยกำหนดแนวทางการวิจัย การอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าของมรดกโลกพระราชวังหว่างแถ่งทังลองในระยะใหม่ พร้อมทั้งชี้ชัดว่า คุณค่าของมรดกต้องมีบทบาทหลักในการประเมินมาตรการพัฒนาอย่างกลมกลืนระหว่างคุณค่าพื้นเมืองกับความต้องการของชีวิตปัจจุบัน ซึ่งผลการวิจัย การอนุรักษ์และการส่งเสริมคุณค่าของมรดกในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเป็นพื้นฐานที่มั่นคงเพื่อให้มรดกโลกพระราชวังหว่างแถ่งทังลองกลายเป็นอุทยานแห่งวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ จุดหมายปลายทางที่ปลอดภัย สวยงามและเป็นนิมิตหมายด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของนครหลวงที่มีอายุนับพันปี.