ศาลบูชาสามีภรรยาท่าน โด๋กงเตื่อง
|
ตามข้อมูลบันทึกในหนังสือ สมัยกษัตริย์ยาลอง ปี1762-1820 นายโด๋กงเตื่องที่มีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่า แล้นห์ พร้อมภรรยาได้จากเมืองฮอยอานเดินทางไปตั้งหลักสร้างฐานะที่หมู่บ้านหมีจ่า บุกเบิกพื้นที่ว่างเปล่า พัฒนาเป็นไร่สวนเพื่อปลูกส้มหวานซึ่งทำรายได้สูงและช่วยสร้างฐานะที่ร่ำรวยให้แก่ครอบครัวของเขา รวมทั้งยังมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่เขตกาวแหลงในสมัยนั้น ซึ่งเนื่องจากพื้นที่สวนส้มหวานของนายเตื่องกว้างและร่มรื่นมาก แถมยังมีการคมนาคมที่สะดวกทั้งทางบกและทางน้ำจึงเป็นที่ดึงดูดให้ชาวบ้านมาค้าขายจนกลายเป็นตลาดนัดที่ปัจจุบันคือตลาดนครกาวแหลง จากการที่ชาวบ้านเห็นว่าเขาเป็นคนซื่อตรง ได้รับการศึกษาและมีความรู้มากจึงเลือกให้เขาดำรงตำแหน่ง เกิวเดือง ที่ดูแลงานด้านการรับและพิจารณาตัดสินเรื่องร้องเรียนต่างๆในหมู่บ้าน ถึงปี1820 ท้องถิ่นนี้ก็เกิดปัญหาการระบาดของอหิวาตกโรคอย่างรุนแรง สามีภรรยาท่านโด๋กงเตื่องก็ได้สละชีวิตเพื่อช่วยชาวบ้านให้พ้นจากวิกฤตนี้และเพื่อแสดงความสำนึกในบุญคุณที่ยิ่งใหญ่นั้น ชาวบ้านได้สร้างศาลบูชาสามีภรรยาท่านโด๋กงเตื่อง นายเลวันนาง หัวหน้าชุมชน58 ถนนเลเหลย นครกาวแหลง เผยว่า“สมัยนั้นชาวบ้านที่นี่ติดเชื้ออหิวาตกโรคเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งท่านก็ได้ตั้งด่านเซ่นไหว้ขอพรโดยยอมเสียสละแลกชีวิตตัวเองเพื่อให้ชาวบ้านรอดพ้นจากโรคระบาด เมื่อเสร็จสิ้นพิธีเซ่นไหว้ทั้งสองท่านก็เสียชีวิตไปส่วนโรคระบาดก็หายไปทันที เมื่อยั่งมีชีวิตอยู่ท่านยังมีความเมตตาต่อผู้อื่นมากโดยมักจะช่วยเหลือคนจนและทำอาหารแจกให้คนหิวโหย ซึ่งเป็นเหตุผลที่คนกาวแหลงมีความสำนึกในบุญคุณของท่านทั้งสองและปีนี้เราได้จัดงานรำลึก199ปีวันถึงแก่กรรมของท่าน”
ศิลาจารึกระบุเรื่องราวส่วนอุทิศของท่านโด๋กงเตื่อง
ศาลบูชาและสุสานของสามีภรรยาท่านโด๋กงเตื่องถูกก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่และสวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยราชวงศ์เหงวียนที่มีลักษณะที่โดดเด่นของวัดวาอารามทางใต้ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ เสาต่างๆ แขวนคำกลอนคู่ที่ระบุคุณงามความดีของทั้งสองสามีภรรยาท่านโด๋กงเตื่อง รวมถึงหนังสือแต่งตั้งและป้ายคำขวัญของศาลที่ถือเป็นมรดกวัฒนธรรมด้านภาษาฮั่นโนมของจังหวัดด่งทาป ห้องตั้งหิ้งบูชาในศาลถูกตกแต่งอย่างสวยงามด้วยเครื่องลงรักปิดทองและรูปแกะสลักสัตว์ศักดิ์สิทธิ์หรือดอกไม้ประจำสี่ฤดูในวัฒนธรรมเวียดนาม เฉพาะหิ้งบูชานายโด๋กงเตื่องมีการสลักลวดลายที่ปราณีต รวมทั้งมังกรเล่นลูกแก้วและสัตว์ศักดิ์สิทธิ์4ตัว นายหลีวันแต๋ว เจ้าหน้าที่ดูแลโบราณสถานศาลบูชาสองสามีภรรยาท่านโด๋กงเตื่องเผยว่า“ศาลนี้มี3ห้อง ห้องหน้าบูชาเทพเจ้า4องค์ ห้องกลางบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ส่วนห้องสุดท้ายเป็นที่บูชาสองสามีภรรยาท่านโด๋กงเตื่อง โดยเราจัดงานครบรอบวันเสียชีวิตของท่าน3วันตั้งแต่วันที่8-10เดือน6ตามจันทรคติ ซึ่งวันที่8เป็นวันแห่เกี้ยวรอบเมือง วันที่9จัดพิธีเซ่นไหว้ขอพร วันงานหลักคือวันที่10 จะมีการเชิญแขกและนักท่องเที่ยวร่วมงานรื่นเริงต่างๆและชมการแสดงศิลปะพื้นบ้าน เช่น การเชิดสิงโต การร้องเพลงเดิ่นกาต่ายตื๋อและการชนไก่เป็นต้น ซึ่งนับเป็นงานที่ดึงดูดผู้เข้าร่วมจำนวนมาก”
ตลาดนครกาวแหลงปัจจุบัน
|
งานเทศกาลและพิธีสักการะบูชาสองสามีภรรยาท่านโด๋กงเตื่องไม่เพียงแต่เป็นการสะท้อนเกียรติประวัติของชาติเวียดนาม “ดื่มน้ำต้องนึกถึงแหล่งที่มาของน้ำ” ที่สำนึกในบุญคุณของบรรพชนเท่านั้นหากยังถือเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมเชิงจิตวิญญาณที่ขาดมิได้ในวิถีชีวิตของชาวเมืองกาวแหลงและประชาชนเขตที่ราบลุ่มแม้น้ำโขงอีกด้วย ตลอดจนได้กลายเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของการท่องเที่ยวจังหวัดด่งทาปสำหรับคนที่มีโอกาสเดินทางมายังท้องถิ่นแห่งนี้.