ถนน ตามบาก |
ซึ่งก็เหมือนกับกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ เอกลักษณ์ตัวเมืองไฮฟองได้สะท้อนร่องรอยสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสอย่างเด่นชัด นายหวอก๊วกท้าย นายกสมาคมสถาปนิกไฮฟองเผยว่า “ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 40 ของศตวรรษที่ 20 สถาปนิกชาวฝรั่งเศสได้ศึกษาการวางผังเมืองไฮฟองให้เป็นเขตตัวเมืองระดับ 1 ซึ่งเทียบเท่ากับเมืองไซง่อนหรือนครโฮจิมินห์ในปัจจุบัน และกรุงฮานอย พื้นที่เมืองเก่าได้รับการอนุรักษ์รวมถึงระบบตึกรามบ้านช่องเก่า ซึ่งทางการท้องถิ่นได้มีแนวทางจำกัดการก่อสร้างกิจการสูงๆในพื้นที่นั้น เพื่อรักษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของไฮฟอง”
ปัจจุบันนี้ในเขต ห่งบ่าง(Hong Bang) และ เลเจิน (Le Chan) ยังคงรักษาอาคารและบ้านเรือนจำนวนมากที่สะท้อนสถาปัตยกรรมตั้งแต่สมัยอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยเฉพาะในย่านถนน ตามบาก (Tam Bac) และ ลี้เถื่องเกียต (Ly Thuong Kiet) ผ่านความผันผวนของประวัติศาสตร์ ที่ย่านถนนตามบากยังคงรักษาบรรยากาศโบราณด้วยบ้านเรือนที่มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่หลายร้อยปี ถนนสายนี้เปิดขึ้นยุคอาณานิคมของฝรั่งเศสและประกอบด้วยถนนสองช่วงที่เรียกว่า Marésanne Proc และ Gaull de Luis ในปี 1953 ได้เปลี่ยนชื่อถนนเป็น บักท้ายบ๊วย (Bạch Thái Bưởi) หลังปี 1954 ก็ถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ถนน ตามบาก ที่มาของชื่อนี้ก็เพราะเป็นถนนเลียบแม่น้ำตามบาก
โรงละคร ไฮฟอง |
ส่วนถนนที่ขนานไปกับถนน ตามบาก คือลี้เถื่องเกียต ยังคงรักษาลักษณะสถาปัตยกรรมเก่าแก่ด้วยวิลล่าสไตล์โกธิกแบบฝรั่งเศสสร้างขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยมีหน้าต่างช่องเล็กอยู่ที่สูงๆเหนือซุ้มโค้งที่สร้างจุดเด่นของการผสมผสานทางสถาปัตยกรรมของตะวันออก-ตะวันตก นาย เหงวียนต๊ากเหงวียบ สมาชิกสมาคมสถาปนิก ไฮฟองกล่าวว่า: “หลังจากที่ชาวฝรั่งเศสเข้าปกครองเมืองก็ทำการก่อสร้าง สถาปัตยกรรมแต่ละแห่งของไฮฟองล้วนเป็นสัญลักษณ์แห่งยุคการพัฒนาใหม่ และแม้ว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามเวลาที่ผ่านไป แต่ตึกรามบ้านช่องส่วนใหญ่ยังคงได้รับการรักษาสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนอกเหนือจากการตอบสนองความต้องการในการดำเนินชีวิตของผู้คนแล้ว สถาปัตยกรรมดั้งเดิมนี้ยังสะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและบันทึกประวัติศาสตร์การพัฒนาของสังคมอีกด้วย”
โดยกิจการก่อสร้างต่างๆอย่าง โรงละคร ไฮฟอง สถานีรถไฟ และ พิพิธภัณฑ์ ไฮฟอง เป็นต้น ถูกระบุไว้ว่าเป็นอนุสรณ์สถานทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของแนวสถาปัตยกรรม ไฮฟอง รวมทั้งของเวียดนาม นาย เหงวียนวันเฟือง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ ไฮฟอง ยืนยันอย่างภาคภูมิใจว่า “จนถึงปัจจุบัน อาคารพิพิธภัณฑ์หลังนี้มีมาเกือบ 100 ปีแล้ว แต่ทั้งสถาปัตยกรรมและรูปลักษณ์ภายนอกยังสมบูรณ์แบบ เนื่องจากเมื่อก่อนอาคารหลังนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นธนาคาร ดังนั้นการตกแต่งภายนอกจึงมีร่องรอยของหน่วยงานธุรกิจ เช่น เสาด้านนอกมีลักษณะเป็นโซ่เงิน เป็นงานสถาปัตยกรรมที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สร้างเป็นไฮไลท์ในใจกลางเมืองไฮฟอง”
ส่วนนายหว่างเวียด ประธานสมาคมวรรณศิลป์ไฮฟอง กล่าวว่า ปัจจุบัน นครไฮฟอง ยังคงมีสถานะสำคัญของการเป็นหนึ่งใน 5 เมืองใหญ่ระดับส่วนกลาง ซึ่งแม้ว่าไฮฟองจะเป็นเมืองใหญ่ เป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรม เป็นชุมทางด้านคมนาคม แต่ไฮฟองก็ยังมีบรรยากาศที่เงียบสงบ ไม่พลุกพล่านจนเกินไป ย่านใจกลางเมืองมีความสงบสุขและยังคงรักษาร่องรอยด้านสถาปัตยกรรมแบบเก่าที่สร้างเป็นจุดเด่นเฉพาะของเมืองท่าทางภาคเหนือ ดั่งการเปรียบเทียบกันว่า หากฮานอยมีแม่น้ำแดงและสะพานลองเบียนข้ามผ่าน ส่วนฮอยอันภูมิใจในแม่น้ำหว่ายที่ไหลเอื้อนเอื่อยในกลางเมืองแล้ว ไฮฟองก็ภูมิใจในแม่น้ำตามบากที่ไหลผ่านตัวเมือง.