โครงการฝึกอบรมภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มให้แก่นักศึกษาเวียดนาม -สะพานเชื่อมนักศึกษาที่รักภาษาไทย

Minh Ngoc-VOV5
Chia sẻ

(VOVWORLD) -โครงการฝึกอบรมภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มให้แก่นักศึกษาเวียดนามภายใต้การอุปถัมภ์ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศสังกัดกระทรวงการต่างประเทศไทยถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1999 ด้วยเป้าหมายสร้างโอกาสให้แก่นักศึกษาเวียดนามในการยกระดับความสามารถด้านภาษาไทยและเรียนรู้วัฒนธรรมไทย ผ่านการจัดขึ้น 23 ครั้ง โครงการฝึกอบรมภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มให้แก่นักศึกษาเวียดนามนับวันยืนยันประสิทธิภาพ ช่วยให้นักศึกษาเวียดนามเพิ่มทักษะความสามารถด้านภาษาไทยและค้นคว้าประเทศไทย

โครงการฝึกอบรมภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มให้แก่นักศึกษาเวียดนาม -สะพานเชื่อมนักศึกษาที่รักภาษาไทย - ảnh 1นักศึกษาเวียดนามในชุดประจำชาติของไทย (Photo: โครงการฝึกอบรมภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มให้แก่นักศึกษาเวียดนาม)

“กิจกรรมที่ทำให้ผมประทับใจที่สุดคือการใส่บาตร ตอนที่ไปทัศนศึกษาที่จังหวัดเพชรบุรีพวกผมได้มีโอกาสใส่บาตรเป็นครั้งแรก ซึ่งผมไม่เคยทำที่เวียดนามและเคยเห็นแค่ในหนังสือเรียนภาษาไทย  ประเพณีใส่บาตรของคนไทยเป็นประเพณีที่งดงาม และเก่าแก่ ได้สืบทอดมาอย่างยาวนาน และในวันนั้น ผมได้ปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงแล้ว ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความงดงามของประเพณีนั้น”

การเข้าร่วมโปรแกรมทำให้ผมมีความเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับประเทศไทยและคนที่นี่ ผมมีโอกาสได้สัมผัสวัฒนธรรมไทยผ่านกิจกรรมดั้งเดิม อาหาร และขนบธรรมเนียม ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยให้ผมเข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลายของประเทศไทยมากขึ้น แต่ยังทำให้ผมเห็นถึงความเป็นมิตร ความกระตือรือร้น และความอบอุ่นของผู้คนที่นี่อีกด้วย”

“หนึ่งเดือนอยู่ที่ประเทศไทยคือช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมของหนู หนูมีความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยและมีความทรงจำดีๆกับคนไทยด้วย การเข้าร่วมโครงการช่วยให้หนู มีความรู้เกี่ยวกับประเทศไทย วิถีชีวิตของคนไทย ประเทศไทยมีประวัติยาวนานและวัฒนธรรมที่โดดเด่นต่างจากวัฒนธรรมเวียดนาม”

ถึงแม้กลับเวียดนามแล้วแต่คุณ  มิงเตินลองหวูและเฟืองงา ซึ่งเป็นนักศึกษา 3 คนในจำนวนนักศึกษาเวียดนามทั้งหมด 24 คนที่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มให้แก่นักศึกษาเวียดนามปี 2024 ยังคงจดจำช่วงเวลาที่ศึกษาในประเทศไทยเป็นเวลา 1 เดือน สำหรับพวกเขา นี่เป็นช่วงเวลาที่ไม่อาจลืมเลือนได้ในชีวิตนักศึกษา นอกจากการเข้าร่วมชั้นเรียนสอนภาษาไทยของครูชาวไทยแล้ว นักศึกษาเวียดนามยังได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่หลากหลาย เช่น ไปทัศนศึกษาที่สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของไทย เช่น  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร ศึกษาเกี่ยวกับชุดแต่งกายพื้นเมืองของไทยและประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นและอุทยานแห่งชาติสิรินธรในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยให้นักศึกษามีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยเท่านั้นหากสิ่งที่บรรดานักศึกษาเห็นอย่างชัดเจนที่สุดคือทักษะความสามารถในการพูดภาษาไทยได้รับการยกระดับมากขึ้น 

ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาที่ได้เรียนที่ประเทศไทย ทำให้ทักษะการฟังการพูดของผม พัฒนามากขึ้นยังไม่น่าเชื่อ เพราะว่า ได้อยู่ในสังคมของคนไทย ได้พูดคุยกับคนไทยบ่อยๆ ดังนั้น ทักษะการพูดการฟังก็พัฒนาไปด้วย ได้รู้ถึงวิธีการใช้คำศัพท์ ควรพูดในบริบทไหนบ้าง นอกจากนั้น ยังช่วยให้การเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ จดจำได้แน่นขึ้น”

  การที่คนชอบเรียนภาษาไทยอย่างหนูได้มาเรียนที่ประเทศไทยนั้นมีความหมายอย่างยิ่ง จากคนที่แสดงออกไม่ค่อยเก่งไปจนถึงคนที่มั่นใจในตัวเองและกล้าแสดงความคิดเห็น เป็นสิ่งที่หนูไม่เคยกล้าที่จะคิดแต่สุดท้ายก็ทำสำเร็จแล้ว ได้เรียนรู้อะไรมากมายจาก อาจารย์ทุกท่านและคนรอบข้างผ่านบทเรียนในห้องเรียนและผ่านการไปทัศนศึกษาที่ต่างจังหวัดทำให้หนูได้เรียนรู้เกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศไทย”

โครงการฝึกอบรมภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มให้แก่นักศึกษาเวียดนาม -สะพานเชื่อมนักศึกษาที่รักภาษาไทย - ảnh 2การไปทัศนศึกษาที่สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของไทยช่วยให้นักศึกษาเวียดนามมีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทย (Photo:โครงการฝึกอบรมภาษาไทยระยะสั้นแบบเข้มให้แก่นักศึกษาเวียดนาม)

การเข้าร่วมโครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้นักศึกษาเวียดนามเพิ่มทักษะความสามารถด้านภาษาไทยเท่านั้น สิ่งที่สร้างความประทับใจให้แก่นักศึกษาคือความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ของครูอาจารย์และพนักงาน  ซึ่งน้ำใจนั้นได้ช่วยให้บรรดานักศึกษาคลายความคิดถึงบ้านเกิดและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักศึกษา

อาจารย์ทุกท่านที่มหาวิทยาลัยช่วยเหลือนักศึกษาอย่างเต็มที่เลย เอาใจใส่ ดูแลลูกศิษย์ทำให้ผมรู้สึกว่าเหมือนอยู่ที่บ้าน อาจารย์เตรียมบทสอนมาสอนอย่างสนุกสนานมาก ทำให้นักศึกษาตื่นเต้นทุกวัน”

“คุณครูและเพื่อน ๆ ชาวไทยเป็นผู้ร่วมเดินทางที่ยอดเยี่ยม ตลอดเวลาที่เราเข้าร่วมโปรแกรม พวกเขาไม่เพียงช่วยเราทั้งในด้านอาหาร ที่พัก และการเดินทาง แต่ยังช่วยเหลือในทุกด้านของชีวิตประจำวันอย่างจริงใจ คุณครูยินดีที่จะแบ่งปันอาหารอร่อยและเป็นเอกลักษณ์อยู่เสมอ ขณะที่เพื่อน ๆ ก็พร้อมที่จะตอบคำถามของเราทุกข้อ การเอาใจใส่และความทุ่มเทของพวกเขาทำให้เกิดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และประสบการณ์ที่เป็นมิตรและสนับสนุนอย่างมาก”

ผ่านการจัดโครงการ  23 ครั้ง มีนักศึกษากว่า 1 พันคนลงทะเบียนเข้าร่วม  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแรงดึงดูดใจไม่น้อยของโครงการต่อนักศึกษาเวียดนามที่รักภาษาไทย สำหรับประสิทธิภาพของโครงการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุภัค มหาวรากร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิธิอร พรอำไพสกุลเผยว่า

โครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมมาก เห็นได้จากนักศึกษาเวียดนามนั้นมีทัศนคติที่ดีต่อคนไทยและประชาสัมพันธ์เป็นอย่างดี นำไปสู่การที่นักศึกษาเวียดนามเมื่อเรียนจบในมหาวิทยาลัยแล้ว เลือกทำงานในหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เราได้ติดตามความสำเร็จของนักศึกษาเวียดนามที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะพบว่า หลายคนได้ทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในเวียดนาม เป็นล่ามไทย-เวียดนามและบริษัทของไทยที่ลงทุนในเวียดนาม นี่คือสิ่งที่เรามั่นใจว่า โครงการนี้ได้ประสบความสำเร็จ โครงการนี้ยังได้ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับไทยเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังทำให้เราเป็นคนไทยคนหนึ่งได้เผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทยไปยังต่างประเทศด้วยค่ะ อันนี้เป็นความภาคภูมิใจของพวกเรา ผู้รับผิดชอบโครงการหลักค่ะ”

เมื่อเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ทุกคนสามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมา เห็นได้ว่า นักศึกษาเวียดนามเห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นศักยภาพของตัวเองเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ตัวเขาเองก็มีความมั่นใจในการใช้ภาษาไทยมากขึ้น สามารถใช้ภาษาไทยเป็นประกอบอาชีพได้ โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความรัก รักที่จะเรียนภาษาไทยก่อน เลือกเรียนภาษาไทยก่อน เมื่อเริ่มต้นความรัก มันก็จะเกิดอื่นๆตามมา”

 ก็เหมือนกับคำกล่าวของคุณ  นิธิอร พรอำไพสกุล โครงการเป็นจุดเริ่มต้นของความรักภาษาไทยและสำหรับบรรดานักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้ ความรักภาษาไทยจะนับวันเพิ่มขึ้น  ซึ่งพวกเขาจะเป็นสะพานเชื่อม มีส่วนร่วมผลักดันความสัมพันธ์มิตรภาพและความเข้าใจระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ.

Komentar