ฟอรั่มอนาคตอาเซียนปี 2024 (baoquocte.vn) |
ในที่ประชุม ระบุว่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะกลายเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันการเติบโตของอาเซียน โดยรายได้จากเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนเมื่อปี 2023 อยู่ที่ราว 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2016 และคาดว่าจะสูงกว่าตัวเลขดังกล่าวภายในปี 2030 เนื่องด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างชัดเจน กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนต่างให้ความสำคัญพร้อมระดมทรัพยากรเพื่อส่งเสริมด้านนี้ สำหรับประเทศเวียดนาม นาย เหงวียนแหม่งหุ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เผยว่า ทางการเวียดนามกำลังเตรียมความพร้อมในการระงับการใช้งานสัญญาณ 2G ทั่วประเทศในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ซึ่งหมายความว่า โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่ใช้จะต้องเป็นสมาร์ทโฟน เพื่อช่วยเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ควบคู่กับการดำเนินโครงการเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้ทะเลร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ในอาเซียนหลายโครงการ เพื่อค้ำประกันความเชื่อมโยงทั้งภายในประเทศและภูมิภาค
“การเร่งการเติบโตให้รวดเร็วที่สุดคือการพัฒนาด้านดิจิทัล ส่วนการเติบโตที่ยั่งยืนคือการพัฒนาสีเขียว โดยทั้งการพัฒนาด้านดิจิทัลและการพัฒนาสีเขียวจะเป็นแนวทางหลักในหลายทศวรรษถัดไป อนาคตของอาเซียนคืออนาคตแห่งยุคดิจิทัล โดยพวกเราต้องจัดตั้งระบบโครงสร้างดิจิทัลใหม่ โครงสร้างพื้นฐานใหม่ และแหล่งบุคลากรด้านดิจิทัลยุคใหม่ การปรับเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัลเป็นการปฏิวัติเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารมากกว่าการปฏิวัติทางเทคโนโลยี ซึ่งการตัดสินใจเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้และบริหารจัดการเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น จะมีบทบาทสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในการชี้ชะตาอนาคตของภูมิภาคอาเซียน”
นาย Erywan Yusof รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนที่สองของบรูไน (baoquocte.vn) |
ส่วนนาย Erywan Yusof รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนที่สองของบรูไน ได้ยกย่องความพยายามของอาเซียนในการจัดทำโครงสร้างการบริหารและนโยบายต่างๆ เพื่อมีส่วนช่วยลดความเสี่ยง พร้อมส่งเสริมจุดแข็งจากเทคโนโลยีดิจิทัล
“ถึงแม้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการพัฒนา แต่ในขณะเดียวกันก็ยังนำมาซึ่งความเสี่ยงและความท้าทายอีกด้วย ดังนั้น อาเซียนจึงได้ย้ำถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมค้ำประกันความครอบคลุม เพื่อให้ทุกๆ คนและเศรษฐกิจทุกภาคส่วนได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี อีกทั้งพวกเราสามารถพึ่งพาเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อแก้ไขปัญหาและความท้าทายต่างๆ ในปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การตัดไม้ทำลายป่า ผลกระทบและความเสียหายต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ”
ควบคู่กับการจัดตั้งโครงสร้างบริหารและโครงสร้างพื้นฐาน การฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัลพร้อมการเผยแพร่ทักษะดิจิทัลให้แก่ประชาชนในภูมิภาคก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งอาจเป็นความท้าทายครั้งใหญ่เนื่องจากมีประชากรอาเซียนถึงประมาณร้อยละ 50 จากจำนวนทั้งหมดราว 700 ล้านคน กำลังอาศัยในพื้นที่ชนบทที่ยังไม่ผ่านมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีดิจิทัลจะสร้างผลประโยชน์สูงสุดได้ก็ต่อเมื่อประชากรมีทักษะด้านดิจิทัล ศาสตราจารย์ Tetsuya Watanabe ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกี่ยวกับอาเซียนและเอเชียตะวันออกศึกษาหรือ ERIA ได้มีข้อเสนอต่อปัญหานี้ ว่า
“ในด้านการศึกษาและฝึกอบรม ก่อนอื่น พวกเราจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา ส่วนภาคเอกชนก็ต้องมีบทบาทมากขึ้นในการฝึกอบรมหรือเสริมสร้างทักษะให้แก่แรงงาน สร้างความเชื่อมโยงกับกลุ่มมหาวิทยาลัยที่ให้การฝึกอบรมสายอาชีพและทักษะด้านดิจิทัล นอกจากนั้น การจัดทำระบบข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแรงงานก็มีความสำคัญอย่างมากเช่นเดียวกัน เพื่อช่วยให้พวกเราสามารถรับรู้ถึงความต้องการและแนวโน้มได้ดีขึ้น อาเซียนเองก็ต้องสร้างมาตรฐานและความเข้าใจร่วมเกี่ยวกับการจ้างงาน สร้างกรอบการทำงานที่เป็นเอกภาพ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่การฝึกอบรมทักษะดิจิทัลของกลุ่มประเทศอาเซียน”
นาย เหงวียนแหม่งหุ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ |
ด้วยเป้าหมายเพื่อให้อาเซียนสามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัลและสร้างอนาคตดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จ การสนับสนุนและแหล่งเงินทุนจากหุ้นส่วนพัฒนาต่างๆ นอกภูมิภาค ก็มีความสำคัญไม่น้อย โดยบรรดาผู้แทนของหลายประเทศและองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรได้ให้คำมั่นที่จะเดินเคียงข้างกับอาเซียนอย่างต่อเนื่องในการพิชิตเป้าหมายการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล นาง Oh Youngju รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ได้กล่าวผ่านวิดีโอที่ส่งถึงที่ประชุมว่า
“ในฐานะเป็นหุ้นส่วนในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีต้องพยายามมากขึ้นในการสร้างสรรค์และผลักดันการพัฒนาระบบนิเวศ ซึ่งเป็นพื้นที่บริษัทสตาร์ทอัพของทั้งสองประเทศสามารถร่วมกันพัฒนา สำหรับเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งหรือ IoT รวมถึงไอเดียใหม่ๆ จากเทคโนโลยีล้ำสมัยดังกล่าว อาจเป็นพลังขับเคลื่อนที่ช่วยเร่งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทางการสาธารณรัฐเกาหลียืนยันที่จะหล่อเลี้ยงและบ่มเพาะกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพเกี่ยวกับเทคโนโลยีพื้นฐานและให้การสนับสนุนการขยายกิจการของพวกเขาไปยังภูมิภาคอาเซียน”
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนสู่อนาคตแห่งยุคดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนอาเซียนในหลายด้าน เช่น การค้าการลงทุน การประกอบธุรกิจ โทรคมนาคม คมนาคมขนส่ง สื่อประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ เป็นต้น มีส่วนช่วยให้อาเซียนกลายเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่สามารถพึ่งพาตนเองและมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสูง โดยข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่างๆ ในฟอรั่มอนาคตอาเซียนครั้งนี้ จะมีส่วนร่วมต่อกระบวนการเจรจากรอบข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจสู่ยุคดิจิทัลในภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2025 และจะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลภายในภูมิภาค./.