(VOVworld) – ในช่วง 10 ปีมานี้ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆในไทยได้เปิดการสอนภาษาเวียดนาม รวมทั้งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรและมหาวิทยาลับอุบลราชธานี รัฐบาลและคนไทยนับวันยิ่งให้ความสำคัญต่อภาษาเวียดนาม โดยเฉพาะหลังจากที่ประชาคมอาเซียนได้รับการจัดตั้งเมื่อปลายปี 2015 ในรายการของเราวันนี้ ขอเชิญท่านสัมผัสกับบรรยากาศการเรียนภาษาเวียดนามในชั้นเรียนของหลักสูตรภาษาเวียดนามและการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ในเวลาบ่ายโมง ที่ชั้นเรียนปีที่ 3 หลักสูตรภาษาเวียดนามและการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นางสาว รุจิวรรณ เหล่าไพโรจน์ ประธานหลักสูตรกำลังสอนภาษาเวียดนามให้แก่นักศึกษาประมาณ 20 คน
หลักสูตรภาษาเวียดนามและการสื่อสารของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้รับการก่อตั้งเมื่อปี 2013 และถึงขณะนี้ได้มีนักศึกษา 4 รุ่น แต่ละรุ่นมีนักศึกษาประมาณ 20-25 คน นอกจากนี้ อาจารย์ในหลักสูตรยังสอนภาษาเวียดนามซึ่งเป็นวิชาเลือกให้แก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยประมาณเกือบ 100 คน นางสาว รุจิวรรณ เหล่าไพโรจน์ เผยว่า “เมื่อก่อนหน้านี้ 10 ปี การเรียนการสอนภาษาเวียดนามในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นคอร์สอบรมภาษาระยะสั้น แต่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งผ่านมาประมาณ 10 ปีได้ก็จะมีการเปิดหลักสูตรภาษาเวียดนามในระดับมหาวิทยาลัย ปัจจุบันในเมืองไทยเรามี 4 มหาวิทยาลัยด้วยกันที่เปิดหลักสูตรทางด้านภาษาเวียดนาม การที่นักศึกษาไทยมีความสนใจเรียนภาษาเวียดนามเป็นจำนวนมากก็คือเนื่องจากว่าเราเป็นประเทศที่ใกล้กัน เป็นเพื่อนบ้านกัน อีกทั้งนักศึกษายังเห็นถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเวียดนาม ก็เลยมองว่าถ้ารู้ภาษาเวียดนามก็คงจะช่วยให้มีงานทำในอนาคตหรือได้มีการได้แลกเปลี่ยนกันในอนาคต”
ณัฐและขวัญฤทัย นักศึกษาสาขาภาษาเวียดนามและการสื่อสาร ชั้นปีที่ 3
|
เหตุผลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การพัฒนาของอินเตอร์เนตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งช่วยให้นักศึกษาไทยมีโอกาสเข้าถึงกิจกรรมบันเทิงและวัฒนธรรมเวียดนามมากขึ้นจนทำให้เกิดความชอบและหลงใหลวัฒนธรรมเวียดนาม
“ในส่วนตัวของผม ผมมองว่า ภาษาเวียดนามมีประโยชน์กับผมในอนาคต ผมอยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศเวียดนาม เรื่องของภาษา เรื่องของการสื่อสาร คือมันจะช่วยผมได้มาก เรารู้ภาษาของเขาแล้วเราสามารถศึกษาวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ภาษาของเขาได้กว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผมมีโอกาส ถ้าเกิดว่า ผมอยากจะทำงานในประเทศเวียดนาม ความรู้ทางภาษาก็สามารถช่วยผมได้"
“หนูเลือกเรียนภาษาเวียดนามก็เพราะเคยมีโอกาสสัมผัสกับภาษาและวัฒนธรรมเวียดนามในโรงเรียนมัธยมศึกษา หนูได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆกับครูและเพื่อนๆคนเวียดนาม จึงเลยอยากรู้และเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับภาษาเวียดนาม”
นางสาว กิติยา ลำดวนในเมือง 1 ใน 10 นักศึกษาปีที่ 4 ที่กำลังศึกษาที่เวียดนาม
|
หลักสูตรภาษาเวียดนามและการสื่อสารมีรูปแบบการเรียน 3+ 1 คือจะเรียนที่เมืองไทย 3 ปีแล้วก็ไปเรียนที่เวียดนาม 1 ปี ปัจจุบันนี้ มีนักศึกษาปีที่ 4 กำลังศึกษาในภาควิชาภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอย นางสาว กิติยา ลำดวนในเมือง 1 ใน 10 นักศึกษาปีที่ 4 ที่กำลังศึกษาที่เวียดนามเผยว่า แม้มาเรียนที่เวียดนามแค่ 3 เดือนแต่ความสามารถในด้านภาษาเวียดนามก็มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก “หนูคิดว่า หนูได้ประสบการณ์ในการใช้ชีวิตมากขึ้น เพราะว่าอยู่ไทย การสื่อสารภาษาเวียดนามเราไม่ได้ใช้มากเหมือนที่นี่ แต่พอมาอยู่ที่นี่ได้เรียนรู้ ได้สัมผัสการใช้ชีวิตของคนเวียดนาม เพื่อนคนเวียดนามก็ช่วยเหลือทุกอย่างเพราะเห็นว่า เราเป็นคนต่างชาติอยากเรียนภาษาเขา เขาก็อยากที่จะให้เราจริงๆ ถ้าเราพูดผิด เขาก็จะช่วยเรา หนูคิดว่า หนูกล้าพูดกับคนเวียดนามมากขึ้น ไม่ว่าจะถูกหรือผิด เพราะอยู่ไทยเราได้ใช้แค่พูดคุยกับอาจารย์ แต่ว่าอยู่นี้เรากล้าที่จะไปซื้อของ เรากล้าที่จะพูดคุย มีเพื่อนมากขึ้น ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะในการใช้ภาษา ในการดำรงชีวิต”
อาจารย์ฝามเทืองเทืองกับนักศึกษาในชั้นเรียน
|
อาจารย์ฝามเทืองเทือง อาจารย์ฝ่ายเวียดนามที่สอนภาษาเวียดนามให้แก่นักศึกษาเหล่านี้ได้ประเมินความสามารถในการเรียนภาษาเวียดนามของพวกเขาว่า “นักศึกษาไทยมีความแตกต่างกับนักศึกษาประเทศอื่นๆ พวกเขามีความขยันหมั่นเพียรและเรียนภาษาเวียดนามได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับ 3 เดือนก่อนที่มาเรียนภาษาเวียดนามที่นี่ แม้ภาษาเวียดนามและภาษาไทยมีความคล้ายคลึงกันในด้านวรรณยุกต์แต่มีบางวรรณยุกต์ คนไทยออกเสียงไม่เป็น เช่น วรรณยุกต์ “หงา” แต่หลังจากที่ได้ฝึกที่นี่ประมาณ 2-3 เดือน พวกเขาก็สามารถออกเสียงได้แล้วและมีทักษะในการสื่อสารอย่างคล่องแคล่ว ซึ่งสามารถพูดคุยได้อย่างคล่องแคล่วกับเพื่อนๆและครูอาจารย์คนเวียดนาม”
แม้เรียนในเวียดนามได้แค่กว่า 3 เดือนแต่นักศึกษาทุกคนในคอร์สได้มีก้าวพัฒนาที่น่ายินดี หลังการเรียนเป็นเวลา 1 ปีในเวียดนาม ทักษะความสามารถด้านภาษาเวียดนามของพวกเขาจะดีขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการในการหางานทำในอนาคต โดยเฉพาะหลังจากที่ประชาคมอาเซียนได้รับการแต่งตั้งและการย้ายแรงงานระหว่างบรรดาประเทศอาเซียน โดยเฉพาะระหว่างเวียดนามกับไทยนับวันยิ่งสะดวกและเปิดกว้างมากขึ้น.