ลาวเป็นแม่ เวียดนามเป็นพ่อ

Nguyễn Xuyến/VOV5
Chia sẻ
(VOVWORLD) - น้ำชา ขนมถั่วตัดและขนมข้าวเม่าที่เหนียวนุ่มหอมอร่อย ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการดื่มชาที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวเวียดนาม โดยเฉพาะในกรุงฮานอย ซึ่งนี่ก็เป็นเมนูของว่างที่บ้านของนาย Singthong Singhapannha อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ ไกรสร พรหมวิหาร ที่เสิร์ฟให้กับเพื่อนๆ และแขกที่มาเยือนบ้านในประเทศลาว ขอนำเสนอบทความเรื่อง “ลาวเป็นแม่ เวียดนามเป็นพ่อ” ที่เล่าถึงความคิดและความรู้สึกของนาย Singthong Singhapannha เกี่ยวกับช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตที่ประเทศเวียดนามและความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับลาว

“ผมเกิดที่แขวงเชียงขวาง แต่ได้เดินทางไปเรียนที่เวียดนามตั้งแต่เด็ก สำหรับผม ประเทศลาวเป็นแม่ผู้ให้กำเนิด ส่วนประเทศเวียดนามเป็นพ่อที่เลี้ยงดูและสั่งสอน ผมเติบโตได้ด้วยข้าวแดงแกงร้อนของเวียดนาม ประเทศเวียดนามช่วยหล่อหลอมให้ผมมีทั้งสติปัญญาและอุดมการณ์ ผมรักเวียดนามและประเทศเวียดนามก็อยู่ในหัวใจผมมาโดยตลอด”

นี่คือความรู้สึกของนาย Singthong Singhapannha อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ ไกรสร พรหมวิหา ที่เกิดและเติบโตในช่วงสงครามปี 1958 ในดินแดนเชียงขวาง ซึ่งถือเป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์สำหรับลาวและเวียดนาม และของภูมิภาคอินโดจีน เนื่องจากคุณพ่อและคุณแม่ของเขาเป็นทหารในช่วงปี 1959-1969 เนื่องจากแขวงเชียงขวางเป็นสมรภูมิที่มีการต่อสู้ดุเดือดมากที่สุด นาย Singthong Singhapannha จึงถูกส่งไปอยู่กับคนรู้จักในเวียดนามและเรียนหนังสือจนจบ ม. 6 ก่อนกลับลาว ดังนั้น ตำบลเหมื่องแซ้น อำเภอกอนกวง จังหวัดบั๊กยาง จังหวัดบั๊กนิงห์ หรือเขตเคิมเทียน เขตด๊งดา และหมู่บ้านเซินไตย ในกรุงฮานอย ล้วนเป็นสถานที่ที่คุ้นเคยสำหรับเขา ถึงแม้ไม่ได้เติบโตมาในอ้อมกอดของคุณพ่อคุณแม่และต้องใช้ชีวิตวัยเด็กด้วยการกิน “ข้าว 2-3 เม็ดพร้อมมันสำปะหลัง 1 ชิ้น” แต่นาย Singthong Singhapannha ได้รับความรักใคร่และการดูแลเอาใจใส่จากคนเวียดนามเป็นอย่างดี

ลาวเป็นแม่ เวียดนามเป็นพ่อ  - ảnh 1นาย Singthong Singhapannha เล่าถึงความทรงจำเมื่อครั้งไปเยี่ยมพลเอกหวอ เงวียน ย้าป

“ตอนพวกเราอพยพ แต่ละครอบครัวจะรับเด็ก 2-3 คน โดยพวกเราได้ไปจับปลา เกี่ยวข้าว เก็บมันเทศ กับลูกๆ ของพวกเขา วิ่งขึ้นเขาไปเด็ดผลไม้กินกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างคนลาวกับคนเวียดนาม หรือบางครั้ง พวกเขาก็ต้มมันเทศแล้วเด็กๆ ทั้งชาวลาวและเวียดนามก็มากินกัน เมื่อก่อนกินมันสำปะหลังจิ้มกากน้ำตาลก็ถือว่าอร่อยมากแล้ว ฉะนั้น พวกเรายังคงคิดถึงความทรงจำดีๆ เหล่านี้ และความรักใคร่ที่พวกเขามอบให้ผมเป็นอย่างมาก”

ด้วยเหตุนี้และความรักต่อประเทศเวียดนาม ทำให้นาย Singthong Singhapannha ตัดสินใจเดินทางไปเวียดนามอีกครั้งเพื่อเรียนต่อที่กรุงฮานอยจนถึงปี 1991 ก่อนกลับไปทำงานที่พิพิธภัณฑ์ ไกรสร พรหมวิหาร ในตลอดช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ใช้ชีวิตในเวียดนาม นาย Singthong Singhapannha และเพื่อนๆ ต้องอพยพไปอยู่หลายที่ อีกทั้งได้เห็นความดุเดือดและความโหดร้ายของสงคราม แต่กลุ่มนักศึกษาชาวลาวก็ได้รับการปกป้องและดูแลเอาใจใส่จากชาวบ้านและครูบาอาจารย์ นาย Singthong Singhapannha กล่าวว่า ตัวเขาเองเปรียบเหมือนต้นอ่อนที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและเติบโตมาจากประเทศเวียดนาม

“คุณครูคอยอบรมสั่งสอนพวกเราทุกอย่าง เลี้ยงดูพวกเราเหมือนพ่อแม่ ฉะนั้น เวียดนามจึงอยู่ในหัวใจของผมมาโดยตลอด ทั้งในทางวัตถุและจิตใจ รวมถึงการดูแลสุขภาพและการเรียนการสอน ความรักต่อผู้คน อาจารย์ และเพื่อนๆ สิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่ทำให้เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้”

ลาวเป็นแม่ เวียดนามเป็นพ่อ  - ảnh 2แม้เกษียณอายุราชการแล้ว แต่นาย Singthong Singhapannha ยังคงศึกษาความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างลาวกับเวียดนาม

ยิ่งทุ่มเททำงาน นาย Singthong Singhapannha ก็ยิ่งเข้าใจคำว่า “พิเศษ” ในความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับลาวมากขึ้น ดังนั้น นอกจากการจัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ รวมถึงการปรับปรุงรูปแบบพิพิธภัณฑ์เพื่อช่วยให้เยาวชนสามารถเข้าใจประวัติศาสตร์ได้ง่ายขึ้น ในช่วงเกษียณอายุราชการ นาย Singthong Singhapannha ยังเขียนหนังสือ ทำการสะสมสิ่งของที่ระลึกและภาพยนตร์ เพื่อมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความสัมพันธ์เวียดนาม-ลาว ซึ่งล่าสุด ได้มีการเปิดตัวหนังสือเรื่อง “เลวันเฮี้ยน – เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศลาวคนแรก” ที่นาย Singthong Singhapannha ได้ชวนลูกสาวร่วมกันจัดทำ ซึ่งถือเป็นการสอนลูกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่มีหนึ่งเดียวในโลก

ทั้งนี้ ความคิดและความรู้สึกของเจ้าหน้าที่เกษียณอายุราชการคนหนึ่งอย่างนาย Singthong Singhapannha เกี่ยวกับช่วงเวลาแห่งความผูกพันและความทรงจำดีๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์เวียดนาม-ลาว นั้น ได้แสดงให้เห็นถึงสัมพันธไมตรีอันยิ่งใหญ่ ความสามัคคีพิเศษ และความร่วมมืออย่างรอบด้าน ซึ่งตัวเขาเองถือเป็นสะพานเชื่อมในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนาม-ลาวที่มีหนึ่งเดียวในโลก.

Komentar