เกษตรกรจังหวัดยาลายรับผลประโยชน์ที่ดีจากรูปแบบการปลูกพริกไทยดำที่ยั่งยืน

Phương Thảo / VOV5
Chia sẻ
(VOVWORLD) - จังหวัดยาลายตั้งอยู่ในเขตที่ราบสูงเตยเงวียนมีพื้นที่ปลูกพริกไทยดำกว่า 17,000 เฮกตาร์และบางช่วงได้เพิ่มขึ้นเป็น 18,000 เฮกตาร์ ในช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยการปลูกพริกไทยดำในรูปแบบที่ยั่งยืนนั้นได้ช่วยให้สวนพริกไทยเติบโตเป็นอย่างดี พร้อมสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ชาวสวน 

ครอบครัวนาง เหงวียนถิเหละทู อาศัยที่หมู่บ้านหมายเลข 3 ตำบลนามยาง อำเภอดั๊กดวา จังหวัดยาลาย มีพื้นที่ปลูกพริกไทยราว 5.5 เฮกตาร์ที่กำลังเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต เผยว่า สำหรับการปลูกพริกไทยดำออร์แกนิค ครอบครัวของเธอได้ปล่อยให้ต้นหญ้าในสวนเติบโตตามธรรมชาติเพื่อให้ดินมีความร่วนซุยและรักษาความชื้น อีกทั้งลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีด้วยการใช้เปลือกถั่วผสมกับกากกาแฟหรือผลิตภัณฑ์สารชีวภาพเพื่อเป็นอาหารให้แก่ต้นพริกไท ส่วนในการปลูกนั้นก็จะมีการจดบันทึกข้อมูลประจำวัน ในขณะที่กลุ่มผู้รับซื้อสามารถเข้าไปในสวนเพื่อสุ่มตรวจตัวอย่างใบและผลพริกไทยในช่วงเวลาใดก็ได้ ซึ่งถ้าหากตัวอย่างดังกล่าวผ่านเกณฑ์มาตรฐาน พริกไทยดำทั้งหมดของครอบครัวก็จะได้รับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดทั่วไปร้อยละ 30  สำหรับปีนี้ สวนพริกไทยดำให้ผลผลิตประมาณ 3.5 ตันต่อเฮกตาร์ ต่ำกว่าในช่วงก่อน แต่ราคาขายเพิ่มขึ้นเป็น 110 ล้านด่งต่อตัน ซึ่งก็ยังคงได้กำไร

“ครอบครัวฉันหันมาใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์เพื่อฝ่าฟันอุปสรรคจากสภาพอากาศ รวมถึงโรคและแมลงศัตรูพืช รู้สึกโชคดีมากที่เราได้ร่วมมือกับบริษัทผลิตเครื่องเทศ เซินห่า ที่รับซื้อพริกไทยดำออร์แกนิคเพื่อส่งออกไปยังยุโรป ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีต่อฉันเองและบริษัท รวมถึงสุขภาพของผู้ร่วมงานและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ”

เมื่อสองปีก่อน มีกว่า 50 ครัวเรือนในตำบลนามยางได้ร่วมกันจัดตั้ง “กลุ่มร่วมธุรกิจผลิตพริกไทยปลอดสารพิษอย่างยั่งยืน” นำโดยนาย โงวันเตียน ที่เป็นหัวหน้ากลุ่ม นายเตียนเผยว่า เมื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มแล้ว เกษตรกรทุกคนได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์พร้อมวิธีการปลูกที่สร้างสรรค์ อีกทั้งสร้างความเชื่อมโยงกับกลุ่มสถานประกอบการด้านเทคนิคและจำหน่ายปุ๋ยจุลินทรีย์เพื่อให้ได้ราคาขายที่ดีที่สุด ในขณะเดียวกัน เกษตรกรก็สามารถคัดเลือกหุ้นส่วนที่เหมาะสมเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ดังนั้น จากการผลิตพืชอินทรีย์ดังกล่าวทำให้มูลค่าของผลิตภัณฑ์สูงกว่าราคาตลาดมากถึงสองเท่า อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนจากการปลูกรูปแบบเดิมมาผลิตแบบปลอดสารพิษโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิด โดยเกษตรกรจะเป็นฝ่ายรุกซึ่งทำให้ปัจจัยภายนอกต่างๆ เช่น ความผันผวนของราคา ต้นทุนการผลิต รวมถึงความเสี่ยงอื่นๆ ส่งผลกระทบไม่มากนัก

เกษตรกรจังหวัดยาลายรับผลประโยชน์ที่ดีจากรูปแบบการปลูกพริกไทยดำที่ยั่งยืน - ảnh 1เกษตรกรจังหวัดยาลายรับผลประโยชน์ที่ดีจากรูปแบบการปลูกพริกไทยดำที่ยั่งยืน

สำหรับรูปแบบ “เกษตรกรร่วมมือกับเกษตรกร” ในการปลูกพริกไทยดำ นาย เหงวียนเติ๊นโกง ประธานกรรมการสหกรณ์บริการการเกษตรนามยาง เผยว่า ในช่วงปี 2018 สหกรณ์มีสมาชิกทั้งหมด 15 คนรวมพื้นที่ปลูกพริกไทยดำกว่า 50 เฮกตาร์ ซึ่งการเชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมสหกรณ์ไม่ใช่เรื่องง่ายในช่วงแรกเนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ฯ แต่เมื่อได้เห็นว่าราคาขายพริกไทยของสหกรณ์สูงกว่าราคาตลาด 1.5 ถึง 2 เท่า ทำให้พวกเขารู้สึกตื่นเต้นมาก นอกจากนี้ ทางสหกรณ์ได้มีการประสานงานกับสถานประกอบการ 2 แห่งในนครโฮจิมินห์เพื่อรับซื้อผลผลิตทั้งหมด

ปัจจุบัน สหกรณ์บริการการเกษตรนามยางมีพื้นที่ปลูกพริกไทยดำราว 80 เฮกตาร์ ซึ่งพื้นที่ปลูกตามรูปแบบออร์แกนิคที่ได้มาตรฐานส่งออกไปยังประเทศที่มีข้อกำหนดด้านคุณภาพที่เข้มงวดนั้นอยู่ที่กว่า 40 เฮกตาร์ ส่วนพื้นที่ที่เหลือได้ใช้สำหรับการผลิตจำนวนมาก แต่มีการจำกัดการใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด รวมถึงห้ามใช้สารกำจัดวัชพืช นาย เหงวียนเติ๊นโกง เผยว่า

“เกษตรกรตระหนักถึงบทเรียนต่างๆ จากภาวะวิกฤตโรคระบาดและราคาในปี 2017, 2018 และ 2020 ซึ่งปัจจุบัน เกษตรกรสามารถสร้างรายได้และมีกำไรจากการปลูกพืชแบบผสมผสาน พวกเราและเกษตรกรมีแนวคิดร่วมกันคือการทำเกษตรอย่างยั่งยืน การทำเกษตรเชิงนิเวศและเกษตรอินทรีย์ เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและรายได้ รวมถึงความมั่นคงของสวนอีกด้วย”

ส่วนนาย ดว่านหงอกก๊อ รองผู้อำนวยการสำนักงานการเกษตรและพัฒนาชนบทจังหวัดยาลาย เผยว่า พื้นที่ปลูกพริกไทยดำทั้งหมดของจังหวัดยาลาย ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 13,600 เฮกตาร์ ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 3.37 ตันต่อเฮกตาร์ต่อฤดูกาล โดยสัญญาณที่น่ายินดีอีกอย่างหนึ่งคือ ถึงแม้ราคาขายพริกไทยดำเพิ่มขึ้นเป็น 75,000 ด่งถึงกว่า 80,000 ด่งต่อกิโลในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนจากการปลูกพืชอื่นมาปลูกพริกไทยดำมากนัก ซึ่งการลงทุนแบบระมัดระวัง รวมถึงการปรับเปลี่ยนแนวทางการปลูกพริกไทยดำออร์แกนิคนั้นได้ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง

“ได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพริกไทยดำในช่วงก่อนมาปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลผลิตสูง โดยพื้นที่ปลูกพริกไทยดำส่วนที่เหลือจะมีการพัฒนาอย่างมั่นคงตามแนวทางการผลิตที่ยั่งยืน รวมถึงการมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาแมลงศัตรูพืชอีกด้วย”

ทั้งนี้ ถึงแม้การปลูกพริกไทยดำแบบออร์แกนิคอย่างยั่งยืนจะมีต้นทุนและเงื่อนไขมาตรฐานสูงกว่าทั่วไป แต่ผู้ปลูกก็ยังคงไม่ขาดทุน อีกทั้งถ้าประสบผลสำเร็จแล้ว ก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดี และเกษตรกรในจังหวัดยาลายจะมีฤดูกาลเก็บผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ต่อไปมากยิ่งขึ้นตามแนวทางที่วางไว้.

Komentar