ชาวบ้านย้อมผ้าไหมด้วยผลมะเกลือ (baoangiang.com.vn) |
ตามเอกสารโบราณ ในช่วงปี 1920 ชาวบ้านลองฮึง ซึ่งปัจจุบันคือแขวงลองโจว์ส่วนใหญ่พึ่งพาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทำผ้าไหมเป็นหลัก จนถึงปี 1940 เตินโจว์ได้กลายเป็นศูนย์กลางผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุดในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง และมีการก่อตั้ง “เส้นทางผ้าไหม” แห่งตำนาน ในช่วงนั้น เมื่อมาเยือนดินแดนแห่งผ้าไหมเตินโจว์ ตั้งแต่เช้าจรดค่ำจะได้ยินเสียงกี่ทอผ้า และเห็นผืนผ้าไหมแหลงหมีอาที่กำลังถูกตากให้แห้งในสถานที่หลายแห่ง ในช่วงปี 1960 ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมเตินโจว์ไม่เพียงแต่ได้รับการจำหน่ายภายในประเทศเท่านั้น หากยังได้รับการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น ไทย ลาวและกัมพูชา ในช่วงที่อาชีพนี้พัฒนา หมู่บ้านเตินโจว์มีโรงงานทอผ้าประมาณ 60 แห่ง สถานที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 120 แห่ง และมีการใช้เส้นใยไหมประมาณ 4,000-6,000 ตันต่อปี
เหตุที่ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแหลงมีอามีชื่อเสียงเป็นเพราะ ทอจากใยไหมแท้ 100% ด้วยวิธีทอ 8 เส้นใยซึ่งเป็นวิธีการทอผ้าที่ยากที่สุดในการทอผ้าไหม แล้วต้องย้อมผ้าด้วยผลมะเกลือ ช่างศิลป์ในหมู่บ้านเผยว่า ผลมะเกลือมีสีดำ ใบบางและมีลักษณะคล้ายลำไย ต้องปลูกต้นไม้นี้เป็นเวลา 5 ปีจึงจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ นาง เลถิเกี่ยวแห่ง จากโรงงานทอผ้าและย้อมสีแหลงหมีอาห่งหงอกในแขวงเตินโจว์เผยว่า
“ต้องบดผลมะเกลือจนได้น้ำยาง แล้วใช้น้ำยางย้อมผ้าไหม ผลมะเกลือหายากมากไม่พอกับความต้องการของลูกค้า”
ผลมะเกลือที่ใช้ย้อมผ้าไหมต้องเป็นผลที่มีอายุปานกลาง มีสีเหลืองอมเขียวเล็กน้อย นำไปบดเป็นผงผสมกับน้ำ ทำให้เกิดน้ำยางหนา สีจะค่อยๆเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีดำแล้วนำผ้าไหมจุ่มลงในน้ำมะเกลือ นาง เลถิเกี่ยวแห่ง เล่าให้ฟังว่า
“เมื่อบดผลมะเกลือให้ได้น้ำยางครั้งแรกจะออกมาเป็นสีเหลืองเล็กน้อย หลังจากนำไปย้อมและตากให้แห้งจะค่อยๆ กลายเป็นสีดำ จากผ้าไหมสีขาวเปลี่ยนเป็นสีดำจะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง”
ผ้าไหมยาว 21 เมตรจะต้องใช้มะเกลือ 90 กิโลกรัม กระบวนการย้อมผ้า มีความสำคัญและซับซ้อนเนื่องจากการย้อมสีผ้าไหมต้องทำหลายร้อยครั้งเพื่อให้สีซึมลึกและสม่ำเสมอแล้วจึงนำไปตากให้แห้ง กระบวนการย้อมสีและตากให้แห้งใช้เวลาประมาณ 40 - 45 วัน ในขณะเดียวกัน ทุก ๆ 5-7 วัน ช่างย้อมผ้าจะต้องเอาผ้าไหมไปตอก ในอดีต ต้องใช้ค้อนไม้ แต่ต่อมาใช้เครื่องตอก เสียงตอกผ้าตอนดึกได้สร้างเสียงของเขตชนบทที่ผลิตผ้าไหม แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้ผ้าไหมหมีอาที่สวยงามมีสีดำมันวาว ผ้าไหมก็ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ นาย เหงวียนหิวชี้ ช่างศิลป์ของโรงงานผลิตผ้าไหมแหลงหมีอาในตัวเมืองเตินโจว์เผยว่า
“หลังจากย้อมผ้าไหม 10-12 วันก็จะนำไปล้างสีออก ต่อจากนั้น 9-10 วันก็จะนำไปย้อมครั้งที่ 2 จากนั้นก็ย้อมต่ออีกหลายครั้ง แต่ละครั้งจะค่อยๆ ถี่ขึ้น”
เอกลักษณ์ของผ้าไหมแหลงหมีอาคือ ความนุ่ม เหนียว ทนทานและดูดซับความชื้นได้ดี เครื่องแต่งกายที่ทำจากผ้าไหมแหลงหมีอาทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบาย เย็นสบายในฤดูร้อนและอบอุ่นในฤดูหนาวโดยเฉพาะเป็นผ้าไหมที่เหมาะสมกับผลมะเกลือ ถ้าหากนำผลมะเกลือมาย้อมด้วยผ้าชนิดอื่นก็จะไม่ได้ผ้าที่สวยงาม
เนื่องจากต้องใช้เวลานานและความพยายามเป็นอย่างมากในการทำผ้าไหม ราคาผ้าไหมจึงแพง ในช่วงปี 1960 อาชีพการทำผ้าไหมแบบดั้งเดิมจึงค่อยๆหายไป สวนมะเกลือค่อยๆ ถูกปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นและพื้นที่ปลูกหม่อนก็ลดลง เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมอาชีพทอผ้าไหมแบบดั้งเดิมในตัวเมืองเตินโจว์ เมื่อปี 2006 คณะกรรมการประชาชนจังหวัดอานยางได้รับรองหมู่บ้านเตินโจว์เป็นหมู่บ้านศิลปาชีพแบบดั้งเดิม ผ่านความผันผวนของกาลเวลาทางประวัติศาสตร์ ชาวท้องถิ่นในต้นแม่น้ำเตี่ยนยังคงอนุรักษ์อาชีพพื้นเมืองทำผ้าไหม ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้แก่หมู่บ้านผ้าไหมแหลงหมีอา และเติมแต่งเอกลักษณ์ของเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงในภาคใต้.