สวนปลูกกุยช่ายและต้นหอมของนาย เลิมมิงห่า
|
ตำบลด๋ายเติมมีประชากรราว 20,000 คน รวมเกือบ 4,700 ครัวเรือน ซึ่งร้อยละ 86 เป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าเขมร ร้อยละ 1 เป็นชาวฮัวและส่วนที่เหลือเป็นชาวกิง โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร
หลังจากที่ได้บรรลุมาตรฐานชนบทใหม่เมื่อปี 2015 ในระหว่างปี 2016-2022 ทางตำบลฯ ได้ลงทุนเกือบ 1 แสน 8 พัน 7 ร้อยล้านด่งหรือเกือบ 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประชาชนสมทบเกือบ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อปฏิบัติมาตรฐานต่างๆ ในการสร้างสรรค์ชนบทใหม่ หลังจากที่ได้บรรลุมาตรฐานชนบทใหม่ขั้นสูงเมื่อปลายปี 2022 ทางตำบลได้เริ่มการพัฒนาเป็นชุมชนตัวอย่างในการสร้างสรรค์ชนบทใหม่ โดยถึงขณะนี้ สามารถบรรลุมาตรฐานต่างๆ ร้อยละ 80 นาย เจืองเติ๊นเลิม รองประธานคณะกรรมการประชาชนตำบลฯ เผยว่า
“ทางตำบลฯ กำลังพยายามบรรลุมาตรฐานแบบอย่างต่างๆ เช่น 1 คือ ต้องบรรลุมาตรฐานชนบทใหม่ขั้นสูง ซึ่งเงื่อนไขนี้เราได้บรรลุแล้ว 2 คือมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร 75 ล้านด่ง เงื่อนไขนี้ทางเราได้บรรลุ 64.7 ล้านด่งต่อคนต่อปีแล้ว 3 คือต้องมีหมู่บ้านอัจฉริยะ เราก็มีหมู่บ้านด๋ายชี้ที่สามารถตอบสนองเงื่อนไขนี้แล้ว 4 คือทุกหมู่บ้านต้องบรรลุมาตรฐานด้านวัฒนธรรมของเขตชนบทใหม่ ทางเรามีทั้งหมด 8 หมู่บ้าน ซึ่งในนั้นมี 4 หมู่บ้านได้บรรลุมาตรฐานนี้แล้ว ซึ่งเราพยายามเพิ่มอีกนิดก็จะสามารถบรรลุมาตรฐานชุมชนตัวอย่างในการสร้างสรรค์ชนบทใหม่ได้”
นอกจากนั้น ตำบลด๋ายเติม ยังพัฒนาการเกษตรที่ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งที่น่าสนใจคือรูปแบบการปลูกผักปลอดสารพิษที่หมู่บ้านด๋ายเอิน และด๋ายเหงียะทั้ง โดยได้ใช้ระบบรดน้ำอัตโนมัติที่ช่วยประหยัดเวลา แรงงานและปริมาณน้ำในการทำเกษตร ทางตำบลฯ ยังผลักดันการปลูกพืชผักชนิดต่างๆ และปลูกข้าว โดยเฉพาะข้าวพันธุ์ ST25 ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดซ๊อกจัง เป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับรางวัลข้าวที่อร่อยที่สุดในโลกเมื่อปี 2019 นาย เลิมมิงห่า เกษตรกรในตำบลด๋ายเติม กล่าวว่า
“ครอบครัวผมมีพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์ ST25 กว่า 7,200 ตารางเมตร โดยได้รับใบสั่งซื้อทั้งหมด โดยแต่ละปี เราปลูกสองฤดู แต่ละปีได้กำไรประมาณ 5 ล้านด่งต่อ 1,000 ตารางเมตร การปลูกพืชผักต้องใช้แรงคนมากกว่าการปลูกข้าว ซึ่งในตำบลด๋ายเติม พืชหลักของเราคือกุยช่ายและต้นหอม ครอบครัวผมก็ปลูกพืชทั้งสองชนิดนี้เป็นหลัก ได้กำไรประมาณ 50 ล้านด่งต่อปีต่อ 1,000 ตารางเมตร ครอบครัวผมมีพื้นที่ปลูกกุยช่ายและต้นหอมประมาณ 3,000 ตารางเมตร การปลูกกุยช่ายใช้เวลา 3 เดือน ส่วนการปลูกต้นหอมใช้เวลาแค่ 45 วันเท่านั้น”
การเลี้ยงโคนมที่หมู่บ้านด๋ายเหงียะทั้ง ตำบลด๋ายเติม |
ที่ตำบล ด๋ายเติม มีจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งคือการเลี้ยงโคนม นาย เหยียบกิ๋งเติน ผู้อำนวยการบริษัท เตินต่ายหลก เจ้าของฟาร์มเลี้ยงโคนมที่หมู่บ้านด๋ายเหงียะทั้งในตำบลด๋ายเติม เผยว่า
“ทางบริษัทฯ เน้นลงทุนเลี้ยงโคนมตั้งแต่ปี 2014 และดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2015 ฟาร์มของเราได้รับการสนับสนุนด้านการออกแบบก่อสร้างจากบริษัทนม Dutch Lady ทางเราได้ซื้อพันธุ์โคนมจากออสเตรเลียและสหรัฐ โดยในฟาร์มมีโคนมราว 200 ตัว แต่ละวันรีดน้ำนมได้เกือบ 900 กิโลกรัม ส่วนบริษัท Vinamilk ได้สั่งซื้อนมของเราในราคา 16,000 ด่งต่อกิโลกรัม สร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ ประมาณ 300 ล้านด่งและได้กำไรประมาณ 100 ล้านด่งหรือกว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ”
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทางตำบลได้มีนโยบายสนับสนุนการกู้เงินด้วยดอกเบี้ยพิเศษสำหรับสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม นาย เจืองเติ๊นเลิม รองประธานคณะกรรมการประชาชนตำบลด๋ายเติม เผยว่า
“ในหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารสวัสดิการสังคมจังหวัดซ๊อกจังได้สนับสนุนประชาชนกู้เงินดอกเบี้ยพิเศษรวม 4 หมื่นล้านด่งหรือเกือบ 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนทางตำบลฯ ได้ใช้โอกาสจากแหล่งเงินทุนสนับสนุนต่างๆ ของจังหวัดเพื่อให้การช่วยเหลือสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม โดยอำนวยความสะดวกให้สถานประกอบการเช่าที่ดิน ซื้อที่ดินและปลูกหญ้าเลี้ยงโคนม ตลอดจนเปิดการฝึกอบรมเกี่ยวกับการปลูกข้าวและการเลี้ยงโคนม ปฏิบัติการแก้ปัญหาความยากจนผ่านการเลี้ยงโคนมและถึงขณะนี้ จำนวนครอบครัวยากจนและใกล้ยากจนในตำบลฯ อยู่แค่ร้อยละ 2.5 เท่านั้น”
ควบคู่กันนั้น ทางตำบลฯ ยังให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ถึงการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยมีถนนในเขตชนบทได้รับการก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตจำนวนมากกว่าตำบลอื่นๆในจังหวัดซ๊อกจัง จากการเป็นฝ่ายรุกและความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างสรรค์ชนบทใหม่ ตำบลด๋ายเติม กำลังพยายามเป็นตำบลแรกในอำเภอหมีเซียนที่บรรลุมาตรฐานชุมชนตัวอย่างในการสร้างสรรค์ชนบทใหม่ภายในปีนี้.