ก่อโกง-หมู่บ้านทำตู้บูชาที่มีชื่อเสียงในภาคใต้

Trúc Thi; Vĩnh Phong
Chia sẻ
(VOVWORLD) - การบูชาบรรพบุรุษเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีและมีความหมายพิเศษในชีวิตทางจิตใจของประชาชาติเวียดนาม โดยพื้นที่สำหรับการบูชาถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนหิ้งบูชาบรรพบุรุษเป็นส่วนที่สะท้อนความเคารพต่อรากเหง้าของตนเอง ที่จังหวัดเตี่ยนยาง มีหมู่บ้านหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงในภาคใต้ในการทำตู้บูชาคือหมู่บ้าน ก่อโกง
ก่อโกง-หมู่บ้านทำตู้บูชาที่มีชื่อเสียงในภาคใต้ - ảnh 1ลูกค้ามาซื้อตู้บูชาที่หมู่บ้านก่อโกง

หมู่บ้านก่อโกงตั้งอยู่ในตำบล เตินจุง ตัวเมืองหง่อโกง อยู่ห่างจากเมืองหมีทอ จังหวัดเตี่ยนยางไปทางทิศตะวันออก 40 กม.  มีชื่อเสียงในการทำตู้บูชามาเป็นเวลากว่า 1 ศตวรรษ

อาชีพทำตู้บูชาของหมู่บ้านก่อโกงมีชื่อเสียงมานานเนื่องจากมีการออกแบบที่สวยงาม มีลวดลายที่ประณีต และที่พิเศษคือไม่ใช้ตะปูหรือสกรูในการเชื่อมต่อแผ่นไม้ ส่วนเนื้อไม้ที่ใช้ทำตู้บูชาคือไม้ของต้นยมชวนหรือมะฮอกกานี (Khaya senegalensis) ช่างศิลป์หมู่บ้านก่อโกง ได้ใช้ฝีมือในการฝังมุกและการแกะสลักทำให้โต๊ะหมู่บูชาของที่นี่มีเอกลักษณ์สวยงาม ตู้บูชาก่อโกงส่วนใหญ่มีลวดลายดอกไม้แกะสลักที่เรียบง่าย แต่ปัจจุบันมีลวดลายที่หลากหลายเกี่ยวกับหัวข้อและตำนานต่างๆ ตรงกลางตู้หมู่บูชามีเทพ 3 องค์ ได้แก่  Phước, Lộc และ Thọ หรือก็คือฮก ลก ซิ่ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นมงคล  บานประตูของตู้บูชามักจะสลักลายต้นไม้ดอกไม้ เช่น ดอกเหมย กล้วยไม้  ดอกเก๊กฮวย ต้นไผ่และรูปมังกร นาย โงเติ๊นหลก เจ้าของโรงงานทำตู้บูชา บาดึ๊ก บุตรคนที่ 7 ของนาย บาดึ๊ก หนึ่งในผู้กำเนิดอาชีพทำตู้บูชาให้แก่ชาวบ้านได้เผยว่า

“ตั้งแต่ปี 1995-1997 เป็นต้นมา อาชีพทำตู้บูชาพัฒนาเป็นอย่างมาก คนหนุ่มสาวทุกคนที่นี่ รวมทั้ง สตรี ต่างมีงานทำ ตอนนั้น ปู่ย่าตายายทำทุกอย่างด้วยมือ แต่ตอนนี้ มีเครื่องจักรแล้วจึงสบายมากขึ้น”

เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความทันสมัยดึงดูดใจลูกค้ามากขึ้น ช่างศิลป์ได้พัฒนารูปแบบใหม่ๆ ที่หลากหลาย แต่ยังคงรักษาจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เอาไว้ นาย ฝ่ามวันนาม ในตำบลเตินจุง เผยว่า ตู้บูชาก่อโกง มีการออกแบบที่มีรายละเอียดปราณีตสวยงามมาก โดยเฉพาะมีความพิเศษตรงที่มีเสาตู้ลายมากถึง21เสา และมีมูลค่าสูงถึงหลายแสนดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้จะผ่านความผันผวนของกาลเวลา แต่ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์อาชีพที่ได้รับการสืบทอดจากคนรุ่นก่อนต่อไป นาย ฝ่ามวันนาม เผยว่า

“เมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ งานไม้ถือว่ามีรายได้ดี ช่วยชาวบ้านแก้ปัญหาความยากจน ปัจจุบัน ตำบลเตินจุงไม่มีครอบครัวยากจน เมื่อก่อน การทำตู้บูชาต้องใช้เวลา 2-3 เดือน แต่ตอนนี้ทำได้เร็วขึ้น ทางจังหวัดฯ ช่วยเหลือการประกอบอาชีพนี้ เช่น ถ้าใครซื้อเครื่องจักร สำนักงานพาณิชย์และอุตสาหกรรมจะสนับสนุนเงินร้อยละ 30 และชาวบ้านก็มีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับการสนับสนุนที่ดินเพื่อให้ตำบลตัดถนนในหมู่บ้าน”

ก่อโกง-หมู่บ้านทำตู้บูชาที่มีชื่อเสียงในภาคใต้ - ảnh 2เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความทันสมัยดึงดูดใจลูกค้ามากขึ้น ช่างศิลป์ได้พัฒนารูปแบบใหม่ๆ ที่หลากหลาย แต่ยังคงรักษาจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เอาไว้

นอกจากการทำตู้บูชาแล้ว โรงงานของนาย นาม ยังทำโต๊ะไม้และโซฟาไม้ เมื่อเร็วๆ นี้ นาย นาม ได้ลงทุนติดตั้งเตาอบไม้ เพื่อใช้แทนวิธีการอบไม้แบบดั้งเดิม

“เมื่อก่อน ผลิตภัณฑ์ตู้ชาจำหน่ายแค่ 1-2 จังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีจำหน่ายในท้องถิ่นหลายแห่งทั่วประเทศ”

“ปัจจุบัน ลูกค้านิยมตู้บูชามาก โรงงานของผมทำตู้บูชาหลายพันตัวะและนำไปขายตามจังหวัดในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงและนครโฮจิมินห์”

“เมื่อก่อน ตอนเริ่มฝึกทำอาชีพนี้ยากมากเพราะชีวิตประสบความยากลำบาก แต่เมื่อชำนาญมีฝีมือดี ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวก็ดีขึ้น”

เมื่อปี 2004 คณะกรรมการประชาชนจังหวัดเตี่ยนยางได้ลงนามจัดตั้ง “หมู่บ้านศิลปาชีพทำตู้บูชาหง่อโกง” ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่บ้านศิลปาชีพแห่งแรกในท้องถิ่นในตำบลเตินจุง โดยมีครอบครัวประมาณร้อยละ 80 ที่ประกอบอาชีพทำตู้บูชา มีโรงงานกว่า 150 แห่งและมีแรงงานหลายพันคน หมู่บ้านทำตู้บูชาก่อโกงในตำบลเตินจุงกำลังพัฒนาอย่างเข้มแข็ง และผลิตภัณฑ์ของที่นี้ได้รับการจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ ชาวบ้านของหมู่บ้านก่อโกงกำลังสานต่ออาชีพที่บรรพบุรุษได้ทิ้งไว้ให้เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมอาชีพพื้นเมืองเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ตู้บูชาก่อโกงเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในชีวิตทางจิตใจของชาวเวียดนามตลอดไป.

Komentar