ชาวเย้าฉลองวันขึ้นปีใหม่หรือวันตรุษเต๊ดประเพณีตามจันทรคติ |
เช่นเดียวกับชาวกิงห์ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ในเวียดนามและอีกหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวเย้าฉลองวันขึ้นปีใหม่หรือวันตรุษเต๊ดประเพณีตามจันทรคติ โดยพวกเขามองว่าวันตรุษเต๊ตเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนและรวมญาติหลังจากทำงานหนักมาทั้งปี อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้ลูกหลานเซ่นไหว้และรายงานต่อบรรพบุรุษผลการทำงานและทุกข์สุขของปีที่ผ่านมา
ชาวเย้ามีการจัดเตรียมข้าวของตั้งแต่ก่อนตรุษเต๊ดเพื่อให้การฉลองออกมาสมบูรณ์ มีความสุขที่สุด เช่น เลี้ยงหมู ไก่ เตรียมข้าวเปลือก ข้าวสารไว้ให้ครบ ทุกครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านและหิ้งบูชาบรรพบุรุษเพื่อขจัดสิ่งไม่ดีของปีเก่า ทุกคนในบ้านช่วยกันทำความสะอาดและทำอาหารเพื่อไหว้ส่งท้ายปีเก่า อาหารเซ่นไหว้นอกจากขนมข้าวต้มมัดที่ห่อตามรูปแบบพิเศษเฉพาะของชาวเย้าพร้อมกับเนื้อหมู เนื้อไก่ และเหล้าแล้วก็ยังมีขนมต่างๆ ของเวียดนาม เช่น แบ๊งไหย่ แบ๊งย้าน หรือแบ๊งเนบห่อในใบจิ๊ด บนหิ้งบูชาบรรพบุรุษจะต้องจุดธูปตลอดวันคืนไม่ให้ขาดพร้อมกับต้องมีน้ำและเหล้าเสมอ ชาวบ้านจะไม่ทำพิธีเซ่นไหว้ด้วยตัวเองแต่จะเชิญหมอผีหรือผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือในชุมชนมาทำพิธีให้ หมอผีจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้เจ้าของบ้านเพื่อขับไล่สิ่งไม่ดี ไม่เป็นมงคลของปีเก่า ขอให้ครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรง มีความสุขสบาย เรือกสวนไร่นาอุดมสมบูรณ์ สัตว์ที่เลี้ยงไว้จะเต็มบ้าน และที่สำคัญคือเชิญผีบ้าน ที่เป็นดวงวิญญาณบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วในครอบครัวมาฉลองปีใหม่ด้วยกัน เมื่อวันตรุษเต๊ดผ่านไป จะมีอีกพิธีที่ขาดไม่ได้คือพิธี ฟั้วจ๊วง ซึ่งเป็นการเผากระดาษเงินกระดาษทองเพื่อส่งดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ชาวเย้าแดงในจังหวัดเอียน บ๊าย ไม่มีใครจำได้แล้วว่าประเพณีนี้มีมาตั้งแต่เมื่อไร ทราบแต่ว่าเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ทำกันทุกปีหลังวันตรุษเต๊ด จนกลายเป็นวัฒนธรรมทางความเชื่อที่สำคัญของชาวเย้าแดง นางฝุ่ง ถิ ฉ่าย อยู่ที่หมู่บ้าน 4 แค หว่าน ตำบล ฟุก เหล่ย อำเภอหลุด เอียน จังหวัดเอียน บ๊าย เล่าว่า “ฉันรู้จักประเพณีบวงสรวงบรรพบุรุษตั้งแต่เด็ก ไม่มีใครทราบว่าประเพณีนี้มีมาตั้งแต่เมื่อไร ปู่ย่าตายายเล่าให้ฟังว่าเป็นประเพณีของชาวเย้ามาแสนนาน หลังทำพิธีบวงสรวงนี้ก็ถือว่าสิ้นสุดวันตรุษเต๊ต ทุกครอบครัวกลับไปทำไร่ทำนา เลี้ยงสัตว์ด้วยความหวังว่าปีนี้จะได้ผลผลิตที่ดี ทำมาค้าขึ้น”
วันที่สามหรือที่สี่ของตรุษเต๊ด ชาวเย้าแดงจะเตรียมทำพิธีบวงสรวงหรือเผากระดาษเงินกระดาษทองเพื่อส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับสู่โลกของตน เสร็จแล้วจะเริ่มต้นฤดูการทำนาใหม่ การบวงสรวงบรรพบุรุษเป็นประเพณีที่ชาวเย้าแดงยึดถือปฏิบัติต่อๆ กันมาทุกรุ่น ชาวเย้าเชื่อว่าในช่วงตรุษเต๊ด วิญญาณของบรรพบุรุษจะกลับมาเพื่อเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่พร้อมกับครอบครัวและช่วยคุ้มครองลูกหลาน ดังนั้นของที่เซ่นไหว้ เช่น ขนมข้าวต้มมัด ของหวาน ผลไม้ อ้อย และอื่นๆ ต้องผ่านพิธี ฟั้วจ๊วง นี้ถึงจะนำไปอีกโลกหนึ่งได้ ก่อนจัดพิธี ครอบครัวต้องหาฤกษ์งามยามดีและเชิญหมอผีมาช่วยบวงสรวงเพื่อเป็นการส่งวิญญาณของบรรพบุรุษ ในพิธีบวงสรวงครอบครัวต้องเตรียมไก่ต้ม กระดาษสาตัดสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดมือคน 2 แผ่น และพิมพ์สองด้านเป็นธนบัตร นอกจากนี้ต้องมีน้ำเปล่า 5 ถ้วย เหล้า 5 ถ้วย และธูป 3 ดอก ของไหว้นำมาวางบนหิ้งบูชาเรียบร้อยแล้ว หมอผีถึงจะเริ่มทำพิธี หมอผีชื่อ เฉี่ยว เตี๊ยน มิงห์ ซึ่งได้รับเชิญจากครอบครัวฝุ่ง ถิ ฉ่าย ให้มาทำพิธีที่บ้าน อ่านบทไหว้ว่า วันนี้ตรุษเต็ดกำลังจะผ่านไป ครอบครัวเราขอขอบคุณบรรพบุรุษ ปู่ย่าตาทวดที่ได้กลับมาฉลองกับลูกหลาน. เราได้เตรียมของไหว้มา ขอให้บรรพบุรุษรับไว้และคุ้มครอง ดลบันดาลให้เราทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง ทำมาค้าขึ้นในปีใหม่นี้ด้วยเทอญ เราขอเก็บของไหว้ลงเพื่อเริ่มต้นการทำงานของปีใหม่
ชาวเย้าถือว่าการไหว้ส่งบรรพบุรุษและเผากระดาษเงินกระดาษทองเป็นการสิ้นสุดช่วงตรุษเต๊ด ของเซ่นไหว้ถูกเก็บลงและจัดสำหรับให้ทุกคนในบ้านมารับประทานกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา หารือกันแนวทางการทำงานในปีใหม่ ในบางพื้นที่หลังจากเผากระดาษเงินกระดาษทองแล้วจะเป็นพิธีไหว้ระดับหมู่บ้าน. หมอผีที่ได้รับการยกย่องจากชาวบ้านจะถูกมอบหมายให้ทำพิธีให้ทีละครอบครัว แล้วดำเนินพิธีกลางของทั้งหมู่บ้าน เมื่อพิธีเสร็จสิ้นลง ทุกครอบครัวจะนำเครื่องมือการผลิตมาตรวจ เช่น เอามีด คันไถ จอบ พลัว มาลับให้คม ซ่อมบำรุงให้แข็งแรง ก่อนไปทำนาด้วยความมุ่งมั่นและความหวังในปีใหม่อันอุดมสมบูรณ์.