ฟอรั่มเชียโป๋อ้าวประจำปี 2023 : สามัคคีและร่วมมือเพื่อรับมือความท้าทาย

Vân
Chia sẻ
(VOVWORLD) - วันที่ 31 มีนาคม ฟอรั่มเอเชียโป๋อ้าวประจำปี 2023 ภายใต้หัวข้อ “สามัคคี ร่วมมือเพื่อรับมือความท้าทาย เปิดประเทศอีกครั้งเพื่อผสมผสานและส่งเสริมการพัฒนาในโลกที่ไม่แน่นอน” ได้เสร็จสิ้นลง ณ เกาะไหหลำ ประเทศจีนหลังจากประชุมมาเป็นเวลา 4 วันตั้งแต่วันที่ 28-31 มีนาคม ฟอรั่มได้มีข้อเสนอหลายข้อเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาในยุคหลังวิกฤตโควิด-19 และผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศ
ฟอรั่มเชียโป๋อ้าวประจำปี 2023 : สามัคคีและร่วมมือเพื่อรับมือความท้าทาย - ảnh 1 ฟอรั่มเอเชียโป๋อ้าว 2023 ภายใต้หัวข้อ “สามัคคี ร่วมมือเพื่อรับมือความท้าทาย เปิดประเทศอีกครั้งเพื่อผสมผสานและส่งเสริมการพัฒนาในโลกที่ไม่แน่นอน” มีขึ้น ณ เกาะไหหลำ ประเทศจีน ( Kyodo/ VNA)
   

ฟอรั่มเอเชียโป๋อ้าวจัดตั้งขึ้นโดยจีนและอีก 25 ประเทศในภูมิภาคเมื่อปี 2000 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์ให้ฟอรั่มนี้มีความสำคัญทัดเทียมกับฟอรั่มเศรษฐกิจโลกดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ฟอรั่มปีนี้เป็นการประชุมระดับนานาชาติที่จัดขึ้นโดยตรงครั้งแรกในประเทศจีนนับตั้งแต่จีนลดระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 และเปิดประเทศอีกครั้ง

เอเชียไม่ได้อยู่เหนือสถานการณ์ความไร้เสถียรภาพ

ในการกล่าวปราศรัยในฟอรั่ม ผู้แทนหลายคนได้ประเมินว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีความคึกคัก เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และชาวเอเชียกำลังได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น มีพลังที่เข้มแข็ง มีความคิดริเริ่มและความคล่องตัว ในเอเชีย จีนเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ มีเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและแรงงานนับวันมีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น ในขณะที่อินเดียกำลังพัฒนาอย่างมั่นคงด้วยความได้เปรียบคือมีประชากรที่อยู่ในวัยทำงานจำนวนมาก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังได้รับการคาดการณ์ว่า จะกลายเป็นเศรษฐกิจรายใหญ่อันดับ 4ของโลกในปลายทศวรรษนี้

แต่อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น ๆ เอเชียก็ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมโลกที่ไร้เสถียรภาพและความตึงเครียดทางยุทธศาสตร์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้ทำลายโครงสร้างของสังคม เศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทาน การปะทะทางทหารระหว่างรัสเซียกับยูเครน ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนในหลายประเด็น เช่น การค้าและการลงทุน ห่วงโซ่อุปทาน ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์และเสรีภาพในการเดินเรือก็ได้ส่งผลกระทบไม่น้อยต่อเสถียรภาพและความร่วมมือ ในการกล่าวปราศรัยในฟอรั่ม นาย ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้ประเมินว่า

“โลกตระหนักได้ดีถึงผลกระทบจากความตึงเครียดเหล่านี้ ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วน เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านพลังงานและอาหารและการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดถูกขัดขวางอย่างรุนแรง กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้รับความสนใจอย่างเหมาะสมเนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคง ประเทศต่าง ๆ กำลังแสวงหาการพึ่งตนเองและการฟื้นตัวผ่านการจัดตั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งต้องใช้เงินทุนมหาศาล และทำให้การแข่งขันและความขัดแย้งมีความรุนแรงมากขึ้น”

ร่วมมือเพื่อรับมือความท้าทาย

ในสภาวการณ์ดังกล่าว บรรดาผู้แทนได้แสดงความเห็นว่า เอเชียต้องส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนต่อไป เนื่องจากจีนได้กลายเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียจะแน่นแฟ้นมากขึ้นถ้าหากได้รับการสนับสนุนจากความสัมพันธ์ที่กว้างใหญ่มากขึ้น ร่วมกันสร้างความไว้วางใจระหว่างกันเพื่อมุ่งสู่ความมีเสถียรภาพในภูมิภาค สิ่งนี้จะทำให้ทุกประเทศในเอเชียอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แสวงหาเส้นทางการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของตนเอง

นอกจากการกระชับความสัมพันธ์กับจีนแล้ว ประเทศต่างๆ ในเอเชียยังต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการพึ่งพาซึ่งกันและกัน นอกจากนั้น เอเชียต้องเป็นภูมิภาคที่เปิดกว้างเสมอ ดังนั้น ประเทศในเอเชียควรเสริมสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐ ยุโรปและภูมิภาคอื่นๆของโลก ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งระหว่างภูมิภาคต่างๆจะส่งเสริมการแข่งขันที่ดี ส่งเสริมนวัตกรรมและความสัมพันธ์หุ้นส่วน คลี่คลายความตึงเครียดและสร้างภูมิภาคที่มีเสถียรภาพและสมดุลมากขึ้น

นาง คริสตาลินา จอร์เจียวา (Kristalina Georgieva) ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ได้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือและความสามัคคี และเชื่อมั่นว่า ประเทศในเอเชียสามารถฟันฝ่าความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าได้ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประโยชน์ของโลกาภิวัตน์ได้รับการแบ่งปันอย่างเท่าเทียมกันระหว่างประเทศและระหว่างประชาชน ประเทศในเอเชียต้องค้ำประกันความมั่นคงและความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทาน ผลการวิจัยของ IMF ได้แสดงให้เห็นว่า ในฐานะเป็นภูมิภาคที่มีการผสมผสานในระดับสูง เอเชียจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดถ้าหากห่วงโซ่อุปทานขาดการเชื่อมโยงกัน ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดของความสามัคคีคือการร่วมกันรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากจำนวนประชากรที่หนาแน่นและความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเอเชีย

บรรดาผู้แทนยังแสดงความเห็นว่า ปัญหาระดับทวิภาคีและภูมิภาคต้องได้รับการแก้ไขบนพื้นฐานแห่งความปรารถนาดีและความร่วมมืออย่างสันติที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ให้ความสำคัญต่อทัศนะและผลประโยชน์ของประเทศที่มีขนาดใหญ่และเล็ก สิ่งที่สำคัญคือ ประเทศต่าง ๆ ต้องร่วมมือทำธุรกิจระหว่างกันต่อไป ในฟอรั่ม นายกรัฐมนตรีจีน  ได้แสดงความเห็นว่า เอเชียอยู่บนพื้นฐานของหลักการสำคัญคือ การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน มีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ผ่านการเจรจา พิจารณาถึงการปรับตัวของทุกฝ่าย สร้างเป็นพื้นฐานสำหรับความร่วมมือระหว่าประเทศต่างๆ ยิ่งโลกเผชิญความไร้เสถียรภาพมากเท่าไหร่ ประเทศต่างๆ ก็ยิ่งต้องเห็นถึงคุณค่าของสิ่งเหล่านี้มากขึ้นเท่านั้น

ด้วยเนื้อหาต่าง ๆ ฟอรั่มเอเชียโป๋อ้าวประจำปี 2023 ได้ส่งข้อความว่า ประเทศต่างๆ จะแข็งแกร่งมากขึ้นเมื่อร่วมมือกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับเอเชีย ตลอดจนสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของโลกในสภาวการณ์ที่โลกมีความตึงเครียดและไร้เสถียรภาพในปัจจุบัน.

คำติชม