ช่องเขาหลุงโล เส้นทางสายเลือดในยุทธนาการเดียนเบียนฟู

Thừa Xuân/Vĩnh Phong
Chia sẻ
(VOVWORLD) -ในยุทธนาการเดียนเบียนฟูเมื่อปี 1954 ช่องเขา หลุงโล (Lũng Lô)เป็นหนึ่งในเส้นทางหลักเพื่อให้กองทัพและประชาชนเวียดนามลำเลียงเสบียงกรังสำหรับสมรภูมิเดียนเบียนฟู ซึ่งเพื่อให้เส้นทางนี้มีความสะดวกปลอดภัย หน่วยทหารช่างและประชาชนอาสาสนับสนุนแนวรบได้ปักใจมุ่งมั่นทำหน้าที่เปิดทางและปกป้องเส้นทางแห่งนี้ตลอดเวลาทุกวันคืน อันเป็นการมีส่วนร่วมต่อการสร้างชัยชนะเดียนเบียนฟูที่โด่งดังไปทั่วโลก


 
ช่องเขาหลุงโล เส้นทางสายเลือดในยุทธนาการเดียนเบียนฟู - ảnh 1มุมหนึ่งของช่องเขาหลุงโล

ช่องเขาหลุงโลอยู่ที่ตำบลบั่งลาเหนือ อำเภอวันเจิ้น จังหวัดเอียนบ๊าย ซึ่งด้วยความประสงค์เพื่อสนับสนุนให้แก่ยุทธนาการเดียนเบียนฟู คณะกรรมการชี้นำส่วนกลางได้ตัดสินใจเปิดเส้นทาง13A ที่เริ่มจากเบ้นเฮียน (Bến Hiên) จังหวัดเตวียนกวางผ่านเบ้นเอาเลิว (Bến Âu Lâu) จังหวัดเอียนบ๊าย ผ่านช่องเขาหลุงโล ไปยังสามแยก ก่อนอย(Cò Nòi) จังหวัดเซินลาและเชื่อมเข้าสู่เส้นทาง 41 หรือปัจจุบันคือทางหลวงหมายเลข 6 รวมระยะทางกว่า 120 กิโลเมตร มีสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงและเหวลึก ข้ามแม่น้ำใหญ่ 3 สายคือ แม่น้ำฉัย แม่น้ำแดงและแม่น้ำดา โดยจุดที่ถือว่ามีความยากลำบากที่สุดคือช่วงผ่านช่องเขาหลุงโลเพราะด้านหนึ่งเป็นเขาส่วนอีกด้านคือเหวลึก นายฮาวันโห อายุเกือบ 80 ปี อาศัยที่หมู่บ้านทั้ม ตำบลบั่งลาเหนือ เผยว่า เมื่อต้นปี1953 กระบวนการสร้างถนนเส้นนี้ได้ตัดผ่านหมู่บ้านของเขาและมีกองกำลังที่สนับสนุนแนวรบสร้างถนนได้มาพักที่บ้านของเขา ชาวบ้านในตำบลพร้อมหน่วยทหารช่างและกองกำลังสนับสนุนแนวรบกว่า 300 คนได้แบ่งเป็น 3 กลุ่มโดยใช้รหัสคือT100 ซึ่งแต่ละกลุ่มมีหน้าที่เฉพาะ เช่นกลุ่มเฝ้าติดตามเพื่อเตือนภัยเมื่อมีสัญญาณของเครื่องบินทิ้งระเบิดของศัตรูกำลังใกล้เข้ามาก็จะแจ้งให้ทุกคนหลบซ่อน อีกกลุ่มมีหน้าที่ช่วยรถขนส่งที่ประสบปัญหาระหว่างทางและอีกหน่วยมีหน้าที่รักษาพยาบาลและช่วยขนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์”

ในช่วงเวลานั้น ทหารช่างและกองกำลังสนับสนุนแนวรบได้ใช้ต้นไผ่และไม้หลายพันต้นที่คนในท้องถิ่นนำมาช่วยเพื่อสนับสนุนการเคลียร์เส้นทางผ่านช่องเขาหลุงโลซึ่งใช้เวลากว่า 200 วันคืน เพื่อให้รถยนต์และจักรยานที่ได้รับการปรับแต่งเพื่อเพิ่มความแข็งแรงสำหรับขนส่งลำเลียงเสบียงกรังนับหมื่นคันเดินหน้าเข้าสู่สนามรบอย่างรวดเร็ว ซึ่งเพื่อขัดขวางไม่ให้กองทัพและประชาชนเวียดนามขนส่งเสบียงกรังให้แก่สมรภูมิเดียนเบียนฟูผ่านเส้นทางนี้ กองทัพฝรั่งเศสจึงทิ้งระเบิดเกือบ 12,000 ตันลงในบริเวณช่องเขาหลุงโล ซึ่งบางวันมีระเบิดถูกทิ้งลงในบริเวณนี้มากถึง 200 ลูกและมีเครื่องบินศัตรู 16 ถึง 18 ลำได้บินลาดตระเวนและทิ้งระเบิด 5 ถึง 6 ครั้งต่อวัน แต่อย่างไรก็ตามแม้จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากห่ากระสุนระเบิดของศัตรู ทหารและผู้คนที่อยู่ในกองกำลังทำหน้าที่สร้างถนนบริเวณนี้ได้ฝ่าฟันทุกความอันตรายเพื่อปักหลักปฏิบัติหน้าที่ทั้งวันทั้งคืนเพื่อไม่ให้เส้นทางนี้ถูกตัดขาด ช่วยขนส่งข้าวของอาหารแห้งและอาวุธยุทโธปกรณ์หลายหมื่นตันข้ามผ่านภูเขาเข้าสู่สนามรบ นายฮาวันโห เล่าว่าการเปิดถนนผ่านหมู่บ้านทั้มนั้นประสบความยากลำบากมากเพราะมีบริเวณหนองน้ำที่ไม่สามารถใช้ทำการเกษตรได้ ควายก็ข้ามไม่ได้ แต่ชาวบ้านที่นี่ก็มีแนวคิดในการระดมต้นไม้ เสาไม้มาปูเป็นทางเดินแล้วจึงเทดินลงไปเพื่อรองพื้นสร้างถนน มีเครื่องบินของศัตรูวนไปวนมาแถวนี้จำนวนมากโดยเฉพาะที่ช่องเขาหลุงโลเกือบทุกวัน

ช่องเขาหลุงโล เส้นทางสายเลือดในยุทธนาการเดียนเบียนฟู - ảnh 2บนยอดช่องเขาหลุงโล

เมื่อ 13 ปีที่แล้ว คือเมื่อวันที่ 27 เมษายน ปี 2011 กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวได้ประกาศรับรองช่องเขาหลุงโลเป็นแหล่งประวัติศาสตร์แห่งชาติ ปัจจุบันบนช่องเขาแห่งนี้ได้มีการสร้างศิลาจารึกเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ผู้คนและนักท่องเที่ยวมาจุดธูปสักการะเพื่อรำลึกถึงความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษรุ่นต่อรุ่นในสงครามช่วงชิงเอกราชของชาติ สถานที่แห่งนี้ยังกลายเป็นจุดหมายแห่งความรู้เชิงประวัติศาสตร์สำหรับคนรุ่นใหม่ คุณครู เลถิ ยือ กวิ่งห์ จากโรงเรียนอนุบาล บั่งลาเหนือ อำเภอวันเจิ้น เผยว่า “วันที่ 22 ธันวาคมทุกปี ทางโรงเรียนจะจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้สัมผัสบรรยากาศและศึกษาเกี่ยวกับเกียรติประวัติแห่งการปฏิวัติและเส้นทางในตำนานนี้ ส่วนในวันหยุด กองเยาวชนและเจ้าหน้าที่ครูอาจารย์ของโรงเรียนก็จัดทีมไปทำความสะอาดสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์บริเวณแหล่งประวัติศาสตร์นี้”

ทุกวันนี้ ช่องเขาหลุงโลได้รับการปรับปรุงยกระดับด้วยการทำใหม่หลายส่วน ตัดช่วงโค้ง ลดระดับความชันเพื่อการเดินทางสะดวกปลอดภัยมากขึ้น แต่เส้นทางในตำนานนี้ยังคงเป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญที่ช่วยเอื้อให้แก่กิจกรรมการแลกเปลี่ยนทางการค้าของพี่น้องประชาชนในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในทั้งภูมิภาค./.

คำติชม